คอลัมนิสต์

ดนตรีโลก ข้ามพรมแดนวัฒนธรรมและการเมือง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์... รู้ลึกกับจุฬาฯ

 

 

          นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยและครั้งแรกของทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับการเป็นเจ้าภาพงานประชุมทางวิชาการสภาดนตรีโลกครั้งที่ 45 (The 45th International Council Traditional Music World Conference หรือ ICTM) ที่จัดขึ้นเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 


          ศ.ดร.บุษกร บิณฑสันต์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าภาพหลักในการจัดงานนี้ อธิบายว่า องค์กร ICTM เป็นองค์กรเก่าแก่ก่อตั้งมากว่า 70 ปีแล้วและเลือกมาจัดงานดนตรีนานาชาติที่ประเทศไทยเพราะเห็นว่าเป็นประเทศที่มีความรุ่มรวยวัฒนธรรมด้านดนตรี มีกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่ม ซึ่งมีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมทางดนตรีที่เป็นแบบฉบับของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น สะล้อซอซึง กลองปู่จาของคนเหนือ หนังตะลุง รำมโนราห์ ลิเกฮูลูของคนใต้


          “ดนตรีไม่ได้มีไว้แค่การฟังเพื่อความเพลิดเพลินเท่านั้น ดนตรีสามารถทำอะไรได้หลายอย่าง เช่น การโฆษณา การตอบสนองความต้องการของตนในด้านการเมือง ความเชื่อทางศาสนา การติดต่อเทพเจ้าอย่าลืมว่าดนตรีถูกสร้างโดยมนุษย์ ดังนั้นดนตรีจึงมีความเกี่ยวข้องกับมนุษย์อย่างชัดเจน กินอยู่ หลับนอน เกิดแก่เจ็บตายชัดเจน”


          ธีมหลักในการจัดงานครั้งนี้คือการแสดงดนตรีที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของมนุษย์ เช่น ดนตรีกับการข้ามพรมแดนและข้ามวัฒนธรรม ร้องเล่นเต้นรำและการพัฒนาที่ยั่งยืน โลกาภิวัตน์กับดนตรีชาติพันธุ์ ดนตรีและนาฏศิลป์กับแนวทางจิตบำบัด เป็นต้น “ดนตรีกับการข้ามพรมแดนเป็นหัวข้อที่นักมานุษยวิทยาทางดนตรีหรือนักดนตรีชาติพันธุ์วิทยาให้ความสนใจเป็นพิเศษว่า บริบทของดนตรี เช่น เนื้อหา ทำนอง และองค์ประกอบอื่นๆ นั้นมีบทบาทอย่างไรในการสร้างความเปลี่ยนแปลงหรือการจูงใจคน” ศ.ดร.บุษกร กล่าว

 

 

          การนำเสนอผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับดนตรีกว่า 600 เรื่องครั้งนี้ มีความเป็นสหวิทยาการ คือเชื่อมโยงทั้งด้านรัฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ และมีการจัดการนำเสนอรูปแบบฝึกอบรมให้ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้สัมผัสประสบการณ์ทางดนตรีของชาติต่างๆ กว่า 80 ประเทศ รวมทั้งการแสดงจากชนเผ่าพื้นเมืองที่มีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมเฉพาะจากผู้เข้าร่วมนานาประเทศ อาทิ African Dance และคอนเสิร์ตจากวงดนตรีจาก ญี่ปุ่น ไต้หวัน ภูฏาน รวมถึงแสดงการแสดงจากไทย เช่น โขนจากกระทรวงวัฒนธรรม และ การแสดงจากราชินีหมอลำซิ่ง “ราตรี ศรีวิไล”


          ประเด็นทางวิชาการที่น่าสนใจอีกเรื่องคือการสื่อสารเพื่อส่งผ่านวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะ บทเพลงที่ถูกใช้เพื่อนำเสนออุดมการณ์ทางการเมือง ในประเทศไทย ดนตรีการเมืองมีบทบาทปรากฏเด่นชัดตั้งแต่สมัยเหตุการณ์ปราบปรามขบวนการคอมมิวนิสต์ จนกระทั่งถึงยุคปัจจุบัน เช่น รัฐบาลหลังรัฐประหารที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้ใช้เพลงสะท้อนแนวคิดทางการเมือง


          “เพลงคืนความสุขให้ประเทศไทย ไม่ได้สร้างความฮึกเหิม แต่มีลักษณะปลอบประโลมจิตใจคนที่ผิดหวัง คนที่เคยเคียดแค้นชิงชังแตกแยกกันว่าให้ออกมารักกัน ออกมาปรองดองกันนะ บริบทตรงนี้ไม่เหมือนเพลงสมัยปราบคอมมิวนิสต์เมื่อ 40 ปีที่แล้วที่สร้างความฮึกเหิม สร้างความรู้สึกแบบหนึ่ง ถ้าเอาเพลงในอดีตมาเปิดให้คนสมัยนี้ฟัง เขาก็ไม่ฟัง มันไม่เหมาะกับยุคสมัยแล้ว” อาจารย์บุษกรกล่าว


          เพลงทางการเมืองมีพลวัตและมีความเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ปัจจุบันดนตรีการเมืองจากภาคประชาชนก็มีส่วนร่วมสร้างสีสัน และแสดงแนวคิดทางการเมืองที่หลากหลาย เช่น การแต่งเพลงของกลุ่มการเมืองเสื้อเหลือง-เสื้อแดงในสมัยความขัดแย้งของสีเสื้อ ก็มีการใช้เพลงเร็วเพลงช้าสลับกันไปเพื่อวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน เช่น สร้างความฮึกเหิมขณะที่ทำการชุมนุม การใช้เพลงช้าเพื่อสร้างบรรยากาศสงบจิตใจ มาจนถึงเพลง “ประเทศกูมี” ก็สะท้อนให้เห็นว่า เป็นเพลงการเมืองที่ตั้งคำถามเชิงวิพากษ์สังคม “องค์ประกอบสำคัญของดนตรีการเมือง คือต้องสร้างอารมณ์สะเทือนใจ จับใจผู้ฟัง จะพูดถึงสถานการณ์เหตุการณ์ทางการเมืองที่ตนกำลังคิดอยู่ จะเปลี่ยนพลังเชิงลบให้เป็นบวก หรือบวกให้เป็นลบก็ได้ โดยมีจุดมุ่งหมายกระตุ้นจิตสำนึกที่มีต่อสถานการณ์ทางการเมืองนั้นๆ อย่างไรก็ดี กระบวนการศึกษาเรื่องดนตรีในการเมืองไทยยังไม่เป็นที่แพร่หลาย และยังต้องคำนึงถึงสถานการณ์ทางการเมืองด้วย” อาจารย์บุษกรกล่าว


          งานประชุมทางวิชาการดนตรีโลกครั้งนี้ จะมีจนถึง 17 กรกฎาคม ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากมีการแสดงดนตรีของนานาประเทศที่หาดูได้ยากแล้ว ยังจะได้รับความรู้ทางวิชาการ การลงพื้นที่เพื่อค้นคว้าวิจัยดนตรีในมิติต่างๆ เพื่อเห็นบทบาทของเสียงเพลงและการฟ้อนรำที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตในสังคมพหุลักษณ์ และประวัติศาสตร์ของมนุษย์ต่างๆ จากหลากหลายวัฒนธรรม

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ