คอลัมนิสต์

เทียบรธน.ปี 60 - ปี 34ฝีมือ "มีชัย" ต้องแก้ไขจริงหรือ?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เทียบรธน.ปี 60 - ปี 34ฝีมือ "มีชัย" ต้องแก้ไขจริงหรือ? รายงาน...

 

 

          หลายฝ่ายกำลังจับตาว่าการไม่บรรจุประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ เข้าไปในนโยบายรัฐบาล โดยอ้างเหตุผลว่าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ทั้งๆ ที่เป็นเงื่อนไขสำคัญของการเข้าร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ จะนำไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่ทั้งในพรรคร่วมรัฐบาลเองและสถานการณ์การเมืองทั้งในและนอกสภาหรือไม่

 

 

          เมื่อวันอาทิตย์มีโพลของนิด้า หรือสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ที่สำรวจความเห็นประชาชน และพบว่ามีกลุ่มตัวอย่างที่อยากให้แก้รัฐธรรมนูญอย่างเร่งด่วนมากกว่ากลุ่มที่ให้ทดลองใช้รัฐธรรมนูญไปก่อนสัก 1 ปีแล้วค่อยแก้ แต่เมื่อรัฐบาลตัดสินใจแบบนี้ก็ไม่รู้ว่าจะส่งผลกระทบต่อคะแนนนิยมที่ดูจะไม่ค่อยดีอยู่แล้วให้แย่ลงอีกหรือไม่ ขณะที่ท่าทีของฝ่ายค้าน ชัดเจนมานานแล้วว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญแบบด่วนที่สุด (อาจจะเพราะคาดเดาว่ารัฐบาลจะอายุสั้นเลยต้องรีบแก้ ไม่อย่างนั้นเลือกตั้งใหม่ภายใต้กติกาเดิมพรรคพลังประชารัฐก็ได้เปรียบเหมือนเดิม)


          ต้องยอมรับว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องวัดใจพรรคพลังประชารัฐเป็นหลัก โดยเฉพาะ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีข่าวจะก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐในเร็ววันนี้ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะแก้มาตราไหน แก้กันอย่างไร ก็ต้องอาศัยเสียงของสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. จำนวน 250 คนที่ตั้งมาโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ที่มี “นายกฯ ลุงตู่” เป็นหัวหน้าด้วยทั้งสิ้น โดยทั้งวาระ 1 และวาระ 3 ต้องมี ส.ว.เห็นชอบด้วยอย่างน้อย 1 ใน 3 หรือราวๆ 84 คน จาก 250 คน


          ฉะนั้นแม้ล่าสุดเมื่อวาน “บิ๊กตู่” จะออกมาพูดให้ตีความในทำนองเปิดทางให้แก้รัฐธรรมนูญได้ แต่การจะแก้ให้สำเร็จก็ไม่ง่ายเหมือนกัน

 



          เหตุนี้เองประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ฝ่ายค้านนำโดยพรรคอนาคตใหม่ ชูธงแก้ 2 มาตรา คือมาตรา 272 ว่าด้วยอำนาจของ ส.ว.ในการร่วมโหวตนายกฯ และมาตรา 279 ว่าด้วยการรับรองความชอบด้วยกฎหมายของคสช.และมรดกของคสช.นั้น ประเด็นแก้ไขแบบนี้บอกได้เลยว่าไม่มีทางสำเร็จ เพราะเป็นการลิดรอนอำนาจของส.ว.อย่างชัดเจน แล้ว ส.ว.คนไหนจะยกมือเห็นด้วย


          ส่วนข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์มีโอกาสเป็นไปได้มากกว่า เพราะเบื้องต้นจะแก้เพื่อเปิดทางให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ง่ายขึ้นก่อน จากนั้นจึงค่อยไปตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ หรือสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาเนื้อหาทั้งฉบับ โดยรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย


          สูตรการแก้แบบนี้เป็นสูตรเดียวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เคยทำสำเร็จมาแล้วเมื่อ 20 กว่าปีก่อน ก็คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2534 ที่เนื้อหาบางส่วนในรัฐธรรมนูญทำให้เกิดวิกฤติการณ์ทางการเมืองถึงขั้นนองเลือด กระทั่งได้ผลผลิตออกมาเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่หลายคนมองว่า “ดีที่สุด” และเป็นการปฏิรูปการเมืองครั้งสำคัญที่สุด นั่นก็คือรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540


          มีประเด็นที่น่าสนใจก็คือรัฐธรรมนูญฉบับปี 2534 ที่แก้ไขยากมาก กับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่แก้ไขยากไม่แพ้กัน ล้วนเป็นฝีมือการยกร่างของคนคนเดียวกันคือ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ยิ่งไปกว่านั้น หลายๆ ประเด็นที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับนี้ยังคล้ายคลึงกันมากอีกด้วย


          เช่นรัฐธรรมนูญฉบับปี 2534 ยกร่างขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อปี 34 โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. ขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ยกร่างขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อปี 57 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.


          รัฐธรรมนูญฉบับปี 2534 กลายเป็นชนวนเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เมื่อปี 35 เพราะไปเขียนเปิดทางเอาไว้ให้นายกฯ ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง (กลายเป็น 1 ใน 4 ประเด็นสำคัญของรัฐธรรมนูญที่ถูกเรียกร้องให้แก้ไขในขณะนั้น) ขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ก็เขียนเปิดทางให้นายกฯ ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงด้วยเช่นกัน


          รัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับให้มีส.ว.จากการแต่งตั้ง ทำให้บทบาทของส.ว.กลายเป็นเครื่องมือของรัฐบาล โดยในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2534 มีเขียนไว้ในบทเฉพาะกาลให้ส.ว.มีอำนาจร่วมลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจรัฐบาล ขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เขียนไว้ในบทเฉพาะกาลให้ส.ว.มีอำนาจร่วมโหวตนายกฯ ได้เป็นเวลา 5 ปี


          การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2534 ที่นำมาสู่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ริเริ่มโดยพรรคการเมืองในฐานะตัวแทนประชาชน ซึ่งก็คือ นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย และอดีตนายกรัฐมนตรีผู้ล่วงลับ ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ได้รับการยอมรับว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอย่างแท้จริง


          ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ต้องรอดูว่าพรรคการเมืองไหนจะเสนอตัวเป็นผู้นำ นอกเหนือจากพรรคอนาคตใหม่ แน่นอนว่าตอนนี้สปอตไลท์ฉายจับไปที่พรรคประชาธิปัตย์ เพราะนอกจากจะมีนโยบายเรื่องนี้ชัดเจนแล้ว ยังมีปูชนียบุคคลของพรรคอย่าง นายชวน หลีกภัย เป็นประธานสภา และประธานรัฐสภาด้วย


          แต่หากสุดท้ายไม่มีการแก้รัฐธรรมนูญก็ต้องรอดูว่าสถานการณ์บ้านเมืองจะเดินไปสู่จุดใด จะเกิดวิกฤติการณ์การเมืองเหมือนเมื่อปี 35 หรือรัฐบาลประยุทธ์ 2 จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ และอยู่กันไปแบบชิลๆ สบายๆ...อีกไม่นานก็คงได้รู้กัน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ