คอลัมนิสต์

สร้างทำนบดินไม่แจ้งเจ้าของที่-น้ำท่วมนาต้องรับผิดทางละเมิด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์... เรื่องน่ารู้ว่านนี้...กับคดีปกครอง  โดย... นายปกครอง

 

 

 

          ไม่ว่าน้ำท่วมหรือฝนแล้ง...ก็นับว่าเป็นความทุกข์ของผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรทั้งสิ้น ทั้งนี้เพราะปริมาณน้ำที่พอดีเป็นสิ่งสำคัญต่อการทำเกษตรกรรม โดยกรมชลประทานเป็นหน่วยงานของรัฐ ที่มีบทบาทและมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้เกษตรกรและประชาชนส่วนรวมได้ใช้สอยอย่างเพียงพอและเหมาะสม รวมทั้งการจัดหามาตรการป้องกันและบรรเทาเหตุอุทกภัย เช่น สร้างฝาย สร้างเขื่อน สร้างทำนบกั้นน้ำ เป็นต้น

 

 

          หากในการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทานตามอำนาจหน้าที่ดังกล่าว ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกร จนพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย กรมชลประทานจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายหรือไม่ เพียงใด ? มาดูกรณีที่เกิดขึ้นจริงกันครับ!


          เรื่องราวของคดีมีว่า กรมชลประทานได้ดำเนินโครงการตามแผนปฏิบัติการเพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยระยะเร่งด่วนในพื้นที่ และเก็บน้ำไว้ทำนาภายหลังน้ำลด โดยดำเนินการขุดลอกคลอง เพื่อช่วยระบายน้ำ ซึ่งในระหว่างการดำเนินการดังกล่าวได้มีการก่อสร้างทำนบดินปิดกั้นทางน้ำไหลบริเวณเหนือจุดขุดลอกคลอง ต่อมาในช่วงฤดูฝนได้เกิดฝนตกหนักมีน้ำหลากในพื้นที่ดังกล่าว และจังหวัดมีประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) ทำให้น้ำท่วมที่นาเกษตรกรเสียหายหลายราย


          สำนักงานเกษตรจังหวัดได้มอบเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามระเบียบกระทรวงการคลัง แก่เกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากน้ำท่วมดังกล่าว รวมถึงผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเกษตรกรทำการเพาะปลูกข้าวบนพื้นที่จำนวน 57 ไร่ ซึ่งน้ำได้ท่วมต้นข้าวที่ใกล้เวลาเก็บเกี่ยวเสียหายทั้งหมด โดยได้รับเงินช่วยเหลือจำนวน 34,542 บาท ซึ่งไม่เพียงพอกับความเสียหายที่เกิดขึ้น

 



          ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า น้ำในคลองที่เอ่อล้นเข้าท่วมนาของตนเอง จนทำให้ต้นข้าวเสียหายไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ เกิดจากการก่อสร้างทำนบดินปิดกั้นทางน้ำเพื่อขุดลอกคลองของกรมชลประทาน จึงได้ร้องทุกข์ไปยังกรมชลประทานแต่ไม่ได้รับการเยียวยาความเสียหาย ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นฟ้องกรมชลประทานต่อศาลปกครองขอให้มีคำพิพากษาให้กรมชลประทานชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามราคาที่คาดว่าจะขายผลผลิตได้


          กรมชลประทานชี้แจงต่อศาลว่า ช่วงเกิดเหตุเป็นฤดูฝน มีฝนตกติดต่อกันหลายวัน เหตุน้ำท่วมนาข้าวของผู้ฟ้องคดีเป็นผลจากอุทกภัยอันเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติ จึงถือเป็นเหตุสุดวิสัย และสภาพพื้นที่นาของผู้ฟ้องคดีเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ อันเป็นปัจจัยเสริมให้เกิดความเสียหายดังกล่าว


          เรื่องนี้... กรมชลประทาน (ผู้ถูกฟ้องคดี) จะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้ฟ้องคดีหรือไม่ มาดูคำวินิจฉัยของศาลปกครองกันครับ


          โดยที่ มาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พ.ศ.2485 กำหนดให้ “นายช่างชลประทานมีอำนาจใช้พื้นที่ดินที่ปราศจากสิ่งปลูกสร้างซึ่งอยู่ในเขตการชลประทานได้เป็นครั้งคราวตามระยะเวลาที่จำเป็นแก่การชลประทาน โดยแจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินนั้นทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน แต่ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน”


          ศาลปกครองสูงสุด วินิจฉัยว่า คดีนี้แม้ว่าขณะเกิดเหตุจะมีฝนตกหนักจนกระทั่งผู้ว่าราชการจังหวัดมีประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) ก็ตาม แต่ระยะเวลาตั้งแต่เริ่มขุดลอกคลองจนถึงเวลาที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมีประกาศดังกล่าวเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 60 วัน การดำเนินโครงการดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีจะต้องแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ฟ้องคดีทราบไม่น้อยกว่า 7 วัน เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีมีเวลามากเพียงพอที่จะแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ฟ้องคดีทราบได้ แต่มิได้ดำเนินการดังกล่าว จึงถือว่าผู้ถูกฟ้องคดีมิได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติไว้ ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยผู้ถูกฟ้องคดีย่อมเล็งเห็นได้ว่าการสร้างทำนบในฤดูน้ำหลากอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เกษตรกร ทั้งที่อยู่บริเวณเหนือน้ำและท้ายน้ำได้ เนื่องจากปกติน้ำย่อมไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ การสร้างทำนบย่อมส่งผลทำให้เกิดน้ำท่วมได้ 


          ดังนั้น ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นผลโดยตรงจากการดำเนินโครงการของผู้ถูกฟ้องคดี และผู้ถูกฟ้องคดีมิได้แจ้งให้เจ้าของที่ทราบถึงการดำเนินการดังกล่าวตามที่กฎหมายกำหนดขั้นตอนไว้ ทั้งที่มีเวลาที่สามารถกระทำได้ จึงเป็นกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีกระทำละเมิดตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดี 


          ส่วนจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวนเท่าใดนั้น ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัย โดยนำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัจจัยอื่นๆ มาประกอบการพิจารณา เช่น การมีฝนตกติดต่อกันหลายวันในพื้นที่พิพาท สภาพพื้นที่นาของผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำซึ่งน้ำท่วมได้ง่าย จึงเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายเป็นค่าต้นทุนการผลิตให้แก่ผู้ฟ้องคดี (ผู้สนใจสามารถอ่านได้จากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.750/2561)


          คดีดังกล่าว...ศาลปกครองสูงสุดได้วางแนวการปฏิบัติราชการที่ดีสำหรับหน่วยงานทางปกครองรวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนรวม เช่นคดีพิพาทนี้ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายในการบริหารจัดการน้ำที่จะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบและตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยเฉพาะขั้นตอนที่เป็นการป้องกันบรรเทาความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน เช่น ขั้นตอนการแจ้งเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดิน ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ไม่ได้ปฏิบัติถือว่าเป็นการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายการชลประทานหลวงกำหนด และจะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายตามกฎหมายความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่


          (ปรึกษาคดีปกครอง ได้ที่สายด่วนศาลปกครอง 1355 และสืบค้นเรื่องอื่นๆ ได้จาก www.admincourt.go.th เมนูวิชาการ เมนูย่อยอุทาหรณ์จากคดีปกครอง)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ