คอลัมนิสต์

ทั่วโลกแข่งวิจัย'ทำหมันยุง'จีน-ไทยสูสี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทั่วโลกแข่งวิจัย'ทำหมันยุง'จีน- ไทยสูสี โดย...  ทีมข่าวรายงานพิเศษ


 

          องค์การอนามัยโลกประกาศว่าสัตว์ตัวเล็กแต่ร้ายกาจที่สุดคือ “ยุง” แต่ละปีมีมนุษย์ติดโรคจากยุงกว่า 300 ล้านคน เสียชีวิตไปด้วยโรคมาลาเรีย 8 แสนคน และเสียชีวิตด้วยโรคไข้เลือดออกไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นคน เฉพาะในไทย ปี 2562 ขณะนี้พบผู้ป่วยไข้เลือดออกแล้ว 5.3 หมื่นคน มากกว่าปีที่แล้ว 2 เท่า เสียชีวิตไปแล้วไม่ต่ำกว่า 60 คน ทำให้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกพยายามคิดค้นวิธีกำจัดยุงร้ายเหล่านี้ !

 

 

          ล่าสุดนักวิจัยจีนประกาศความสำเร็จการทดลอง “ทำหมันยุง” กับยุงลายสวน ซึ่งนักวิจัยไทยก็ได้เคยทดลองกับยุงลายบ้านและประสบความสำเร็จมาแล้วเช่นกันเมื่อหลายปีก่อนหน้านี้ !


          ช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2562 สื่อมวลชนจีนประโคมข่าวทดลองปล่อย “ยุงลายสวน” (Aedes albopictus) ตัวผู้ที่ทำหมันแล้วจากห้องปฏิบัติการประมาณ 200 ล้านตัว ในพื้นที่เกาะ 2 แห่งที่ชื่อว่า เกาะ Shazai และเกาะ Dadaosha ตั้งอยู่ตอนใต้ของเมืองกวางโจวหรือที่คนไทยเรียกว่า “กวางเจา” ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พบผู้ป่วยไข้เลือดออกมากที่สุดในจีน

 

 

ทั่วโลกแข่งวิจัย'ทำหมันยุง'จีน-ไทยสูสี

 

 


          ทีมนักวิจัยจีนประกาศว่า “การทดลองประสบความสำเร็จอย่างดี” สามารถลดปริมาณยุงที่เป็นพาหะนำโรคได้


          ทั้งนี้ วิธีการที่ใช้คือการควบคุมประชากรยุงลายสวนให้เหลือน้อยที่สุด โดยการปล่อยยุงลายสวนตัวผู้ที่เป็นหมันออกไปผสมพันธุ์กับยุงตัวเมียในธรรมชาติ โดยการทำหมันยุงผู้ตัวจะใช้วิธีการ 2 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 การพัฒนายุงลายสวนให้มีเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า “โวลบาเกีย” (Wolbachia) 3 ชนิด ซึ่งตามปกติยุงลายสวนมีเชื้อโวลบาเกียอาศัยอยู่ในตัวเพียง 2 ชนิดเท่านั้น เชื้อโวลบาเกียเป็นแบคทีเรียพบได้ทั่วไปในแมลงชนิดต่างๆ ไม่ทำให้เกิดโรคในคนและสัตว์ เมื่อยุงตัวผู้มีชนิดเชื้อแบคทีเรียโวลบาเกีย 3 ชนิด จะทำให้แตกต่างจากยุงตัวเมียที่มีเชื้อนี้เพียง 2 ชนิด เมื่อผสมพันธุ์กัน “ไข่ยุง” จะไม่สามารถฟักเป็นตัวได้ และเพื่อให้มั่นใจว่ายุงเหล่านี้เป็นหมัน 100 เปอร์เซ็นต์ นักวิจัยจึงได้ทำหมันซ้ำอีกในขั้นตอนที่ 2 ด้วยการ “ฉายรังสีแกมมา” ในปริมาณที่เหมาะสมช่วงที่ยุงตัวผู้เหล่านี้ยังเป็นดักแด้

 

 

 

ทั่วโลกแข่งวิจัย'ทำหมันยุง'จีน-ไทยสูสี

 


          เมื่อ “ยุงหมัน” เหล่านี้ลอกคราบโตเต็มวัย จะถูกนำไปปล่อยให้ผสมพันธุ์กับยุงตัวเมียในธรรมชาติ ตามหลักการเมื่อยุงตัวผู้เป็นหมัน ไข่ของยุงตัวเมียที่ถูกผสมพันธุ์ก็จะไม่สามารถฟักเป็นตัวได้ ถือเป็นการคุมกำเนิดยุงนั่นเอง ทำให้ประชากรยุงในรุ่นต่อไปลดลง ความน่าสนใจคือ แม้ว่ายุงตัวเมียจะผสมพันธุ์ได้เพียงครั้งเดียวในชีวิต แต่พวกมันสามารถวางไข่ได้หลายครั้ง โดยอาศัยน้ำเชื้อของยุงตัวผู้ที่ถูกเก็บไว้ในถุงเก็บน้ำเชื้อเพื่อใช้ผสมกับไข่ได้ตลอดอายุขัยของมัน


          เนื่องจากยุงตัวผู้มีอายุขัยเฉลี่ยเพียง 7-14 วัน จึงจำเป็นต้องปล่อยยุงตัวผู้ที่เป็นหมันหลายครั้ง เพื่อให้ผสมพันธุ์กับยุงตัวเมียที่เพิ่งเกิดใหม่ได้อย่างทั่วถึงทุกตัว หลังการทดลองเสร็จสิ้น พบว่าเกาะทั้งสองของจีน แทบไม่มียุงลายสวนหลงเหลืออยู่เลย จีนจึงประกาศให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่มียุงพาหะนำโรค สามารถนำเทคโนโลยีนี้ไปเป็นตัวอย่างกำจัดยุงร้ายเหล่านั้น เพราะโรคที่เกิดจากยุงไม่ได้มีแค่โรคไข้เลือดออกหรือมาลาเรีย แต่ยังมีโรคไข้เหลือง ไข้สมองอักเสบ และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ซึ่งกำลังระบาดอยู่ในหลายประเทศขณะนี้

 

 

ทั่วโลกแข่งวิจัย'ทำหมันยุง'จีน-ไทยสูสี




          ดร.ปิติ มงคลางกูร นักวิชาการกองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค อธิบายให้ “คม ชัด ลึก” ฟังว่า การทดลอง “ทำหมันยุง”นั้น ประเทศไทยเคยทำมาก่อนด้วยวิธีเดียวกันนี้ โดยความร่วมมือของทีมวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดลกับหลายหน่วยงาน และในปี 2559 มีการทดลองปล่อยยุงตัวผู้เป็นหมันลงไปในพื้นที่จริง มีผู้แทนจาก 15 ประเทศเข้ามาร่วมชมด้วย ที่หมู่บ้านหนองสทิต ต.หัวสำโรง อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา


          "ความแตกต่างคือ จีนทดลองกับ ยุงลายสวน แต่ไทยทดลองกับ ยุงลายบ้าน เพราะยุงชนิดนี้พบในบ้านคนไทยและเป็นพาหะหลักนำโรคไข้เลือดออกและโรคติดเชื้อไวรัสซิกามาสู่คนทั่วโลกโดยมีวิธีการเบื้องต้นเหมือนกันคือ ผลิตยุงตัวผู้ที่มีเชื้อแบคทีเรียโวลบาเกีย ยุงลายบ้านในธรรมชาติไม่มีแบคทีเรียโวลบาเกีย ไทยจึงพัฒนาสายพันธุ์ยุงลายบ้านที่มีแบคทีเรียโวลบาเกียก่อน จากนั้นนำไปฉายรังสีแกมมาให้เป็นหมัน แล้วจึงปล่อยออกไปสู่ธรรมชาติในพื้นที่ทดลอง จำนวนยุงตัวผู้ที่ปล่อยใช้วิธีการคำนวณโดยยึดหลักการว่าต้องปล่อยยุงตัวผู้เป็นหมันให้มากกว่ายุงตัวผู้ที่มีอยู่ในธรรมชาติหลายเท่า เพื่อให้ไปแข่งขันผสมพันธุ์กับยุงตัวเมียในธรรมชาติให้ได้ ถ้าตัวผู้ฝ่ายไหนมีมากกว่าก็จะมีโอกาสชนะได้ผสมพันธุ์มากกว่า"

 

 

 

ทั่วโลกแข่งวิจัย'ทำหมันยุง'จีน-ไทยสูสี

 


          ดร.ปิติเล่าให้ฟังต่อว่า จากการสำรวจเบื้องต้นพบบ้านคนไทยมียุงอาศัยอยู่เฉลี่ยประมาณ 10 คู่ หรือตัวเมีย 10 ตัว ตัวผู้ 10 ตัว นักวิจัยจึงเลือกปล่อยยุงหมันไปบ้านละประมาณ 100 ตัว เพื่อให้มีจำนวนมากกว่ายุงตัวผู้ในธรรมชาติ 10 เท่า จะได้แย่งผสมพันธุ์กับยุงตัวเมียในธรรมชาติ จนไม่สามารถผลิตลูกหลานได้อีกต่อไป จากการทดลองในไทยพบว่าเมื่อปล่อยยุงลายบ้านต่อเนื่องทุกอาทิตย์ประมาณ 6 เดือน ประชากรยุงในพื้นที่ทดลองลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ถ้าเปรียบเทียบกับจีนแล้ว การเลือกพื้นที่ทดลองเป็นเกาะที่มีขนาดไม่ใหญ่ ทำให้เห็นจำนวนยุงลดจำนวนลงได้ชัดเจน เนื่องจากพื้นที่เกาะสามารถป้องกันไม่ให้ยุงจากที่อื่นบินเข้ามาทดแทนประชากรยุงเดิมได้


          สำหรับคำถามว่า วิธีการแบบนี้จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือส่งผลอันตรายต่อมนุษย์หรือไม่ ?


          ดร.ปิติ ตอบว่า วิธีนี้ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะแบคทีเรียโวลบาเกียมีอยู่ในยุงและแมลงตามธรรมชาติอยู่แล้ว ยุงรำคาญที่อยู่ล้อมรอบตัวเราในชีวิตประจำวันนั้น ล้วนมีโวลบาเกียอาศัยอยู่ในตัวทั้งสิ้น นอกจากนั้นยุงตัวผู้ยังไม่กินเลือดและมีอายุสั้น อย่างไรก็ตามถึงเมื่อทำหมันยุงในพื้นที่เป้าหมายไปแล้ว ประชากรยุงที่อยู่ในพื้นที่อื่นๆ ที่ห่างไกลออกไปจะไม่ได้รับผลกระทบ ทั่วโลกมียุงมากกว่า 4,000 ชนิด เฉพาะในประเทศไทยก็มีมากมายถึง 436 ชนิด ถ้ายุงลายลดลงในพื้นที่หนึ่งก็จะยังมียุงชนิดอื่นๆ เหลืออยู่ ไม่ได้ไปกระทบต่อห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศอย่างแน่นอน

 

 

ทั่วโลกแข่งวิจัย'ทำหมันยุง'จีน-ไทยสูสี

 


          “ตอนนี้หลายประเทศทั่วโลกมีปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา โรคชิคุนกุนยา เช่น ออสเตรเลีย บราซิล มาเลเซีย เวียดนาม ฯลฯ ได้พยายามทดลองใช้วิธีนี้แล้ว ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้ประเทศไทยก็มีแผนการที่จะนำวิธีทำหมันยุงลายมาใช้เป็นมาตรการเสริมในการควบคุมโรคติดต่อที่ยุงลายเป็นพาหะ” ดร.ปิติ กล่าวทิ้งท้าย 


          คำถามต่อไปคือ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทดลองมีความรู้สึกอย่างไร ? 
          จากการสำรวจความคิดเห็นชาวบ้านใน 2 เกาะของจีนที่ทดลองกำจัดยุงลายสวนจนราบคาบนั้น ส่วนใหญ่ตอนแรกรู้สึกไม่ค่อยสบายใจกลัวว่า “ยุงหมัน” หลายร้อยล้านตัวอาจทำให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์ แต่หลังการทดลองเสร็จสิ้น สื่อมวลชนจีนรายงานว่า ชาวบ้านกว่าร้อยละ 96 ให้การสนับสนุนหรือไม่ได้แสดงความรู้สึกต่อต้านเหมือนช่วงแรก เพราะจำนวนยุงในหมู่บ้านลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด


          ทั้งนี้กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ยืนยันว่ายุงทำหมันจากห้องปฏิบัติการนี้เป็นการใช้วิธีทางชีวภาพ ไม่ได้เป็นการตัดต่อหรือตกแต่งสารพันธุกรรมในตัวยุง จึงไม่ใช่ “ยุงจีเอ็มโอ” และไม่ได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศหรือสิ่งแวดล้อม เพราะเมื่อยุงตัวผู้ที่เป็นหมันเหล่านี้ตาย เชื้อโวลบาเกียก็ตายตามไปด้วยไม่เหลือตกค้างในธรรมชาติ

 

 

ทั่วโลกแข่งวิจัย'ทำหมันยุง'จีน-ไทยสูสี

 


          ขณะนี้ หลายหน่วยงานในไทยกำลังช่วยกันคิดวิธีขยายผลการทดลอง “ปล่อยยุงทำหมัน” ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีการระบาดของ “โรคไข้เลือดออก” อย่างต่อเนื่อง ถือเป็นการทดลองในระดับที่สูสีกับจีนเลยทีเดียว


          “ยุงหมันจากห้องทดลอง” จะช่วยพิชิต “ยุงตัวผู้ในธรรมชาติ” ได้สำเร็จมากน้อยเพียงไร ทีมข่าวคมชัดลึก จะนำมารายงานให้ทราบต่อไป ! 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ