คอลัมนิสต์

ประเทศริมโขงต้องกำหนดกติการ่วมกันเพื่อป้องกันหายนะภัยแล้ง

ประเทศริมโขงต้องกำหนดกติการ่วมกันเพื่อป้องกันหายนะภัยแล้ง

05 ส.ค. 2562

คอลัมน์... รู้ลึกกับจุฬาฯ

 

 

          ภัยแล้งรุนแรงที่เกษตรกรและชาวประมงแถบลุ่มแม่น้ำโขงเผชิญอยู่ขณะนี้ไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่เพราะเคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2559 และสาเหตุสำคัญก็คล้ายคลึงกันคือการบริหารและจัดสรรน้ำของประเทศที่อยู่ต้นน้ำ

 

 

 

          จากข้อมูลของ ผศ.ดร.คาร์ล มิดเดิลตัน ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในช่วงนี้ซึ่งเป็นช่วงกลางฤดูฝน โดยปกติแม่น้ำโขงจะเริ่มเต็มตลิ่งด้วยน้ำฝนจากมรสุมทางตะวันตกเฉียงใต้ ทว่าระดับน้ำในปีนี้กลับแล้งราวกับเป็นฤดูแล้ง เหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเกษตรกร ต่อข้าวที่ปลูก และพืชผลต่างๆ ที่แห้งเหี่ยวบนผืนดินที่ขาดน้ำ และมีผลกระทบต่อชาวประมงที่พึ่งพาอาศัยระบบนิเวศในแม่น้ำ

 

          คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission หรือ MRC) ซึ่งเป็นองค์กรความร่วมมือระหว่างรัฐบาลของประเทศที่มีพื้นที่ลุ่มน้ำโขง รายงานเมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ว่าระดับน้ำในแม่น้ำโขงอยู่ในระดับต่ำสุดเท่าที่มีการบันทึกไว้ในเดือนมิถุนายนและเดือนกรกฎาคม MRC อธิบายว่าเป็นผลจากสองสาเหตุหลักคือ การขาดแคลนน้ำฝนในพื้นที่รับน้ำต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนมกราคม ประกอบกับการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนของสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งอยู่ในบริเวณแม่น้ำโขงตอนบนซึ่งรู้จักกันในชื่อแม่น้ำลานซาง


          ทั้งนี้ทางสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ส่งหนังสือถึงคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) เพื่อแจ้งให้ทราบว่าระหว่างวันที่ 5 ถึง 19 กรกฎาคม การระบายน้ำออกจากทางตอนล่างของเขื่อนใหญ่ 11 เขื่อนที่รู้จักกันในนามจิ่งหง จะมีความผันผวนไม่คงที่ เนื่องจากมีการซ่อมบำรุงสายส่งไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ส่งผลให้ระดับน้ำที่ผ่านลงมายังแม่น้ำโขงตอนล่างมีความไม่แน่นอนตามไปด้วย




          ผศ.ดร.คาร์ล มิดเดิลตัน วิเคราะห์ว่า การจัดการน้ำดังกล่าวส่งผลกระทบในสองระดับด้วยกันคือเป็นการกันน้ำไว้ไม่ให้ไปสู่ประเทศที่อยู่เบื้องล่างของแม่น้ำซึ่งจำเป็นต้องอาศัยน้ำเพื่อดำรงชีพและกิจกรรมต่างๆ ขณะเดียวกันการปล่อยน้ำแบบเป็นจังหวะขึ้นๆ ลงๆ ก็ส่งผลต่อนิเวศวิทยาของแม่น้ำและสิ่งมีชีวิตที่ต้องพึ่งพิงนิเวศวิทยานั้น ไม่ว่าจะเป็นสวนผักริมแม่น้ำ การเก็บวัชพืชริมแม่น้ำ การจับปลา อย่างไรก็ดีการจัดการน้ำในลักษณะนี้ของสาธารณรัฐประชาชนจีนก็ได้ดำเนินต่อเนื่องมาเกือบ 30 ปีแล้ว


          นอกเหนือจากการจัดการน้ำของทางจีนแล้ว นักวิชาการและนักกิจกรรมที่ศึกษาเรื่องนี้ในภาคประชาสังคมยังชี้ให้เห็นอีกปัญหาจากการดำเนินงานของโครงการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี ทางตอนเหนือของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ซึ่งมีกำหนดจะเริ่มใช้งานในเดือนตุลาคมปีนี้


          ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทางโครงการได้มีการทดสอบกังหันน้ำขนาดใหญ่ในเขื่อนส่งผลทำให้เกิดการผันผวนของกระแสน้ำในแม่น้ำโขงตอนล่าง บริษัทที่ทำโครงการนี้ปฏิเสธว่าไม่ได้มีส่วนให้เกิดภัยแล้ง แถมยังอ้างอีกว่าโครงการของตนเองก็ได้รับผลกระทบจากการปิดกั้นน้ำของสาธารณรัฐประชาชนจีน อย่างไรก็ตามสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติของไทยก็ได้ส่งจดหมายถึงรัฐบาลของสปป.ลาว เพื่อขอให้หยุดการทดสอบนี้ไว้ชั่วคราว


          ยิ่งไปกว่านั้นยังมีกรณีที่ไม่ค่อยเป็นที่สนใจนักของเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำโดยเฉพาะในสปป.ลาว ที่มุ่งตอบสนองนโยบายของรัฐบาลที่จะทำให้ลาวกลายเป็น “แบตเตอรี่ หรือแหล่งพลังงานไฟฟ้าแห่งอุษาคเนย์” (Battery of Southeast Asia) ตามแผนนี้เขื่อนขนาดกลางและขนาดใหญ่กว่า 60 แห่งได้ถูกสร้างขึ้นในช่วงสามสี่ทศวรรษที่ผ่านมา


          “คำถามคือโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำเหล่านี้จะต้องเก็บกักน้ำไว้ให้อ่างเก็บน้ำของเขื่อนมีน้ำเต็มเพียงพออยู่เสมอเพื่อใช้ผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์หรือไม่ อย่างไรก็ดี ข้อมูลอัพเดทในเวลาจริงที่สาธารณะสามารถเข้าถึงได้เกี่ยวกับปริมาณและระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำทั้งหมดในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำลานซางและแม่น้ำโขงก็มีน้อยเต็มที” อาจารย์คาร์ล กล่าว


          อาจารย์คาร์ลย้ำด้วยว่าทั้งสามกรณีนี้สะท้อนความจำเป็นของการสร้างความร่วมมือกันระดับข้ามชาติเพื่อป้องกันหายนะทางสิ่งแวดล้อมต่อประเทศที่อยู่ช่วงตอนล่างลงมาของแม่น้ำ โดยเฉพาะภายใต้สภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่โลกกำลังประสบอยู่” อาจารย์คาร์ลกล่าว


          สรุปบทเรียนและมาตรการเร่งด่วนในการจัดการภัยแล้งริมโขง


          มาตรการเร่งด่วนที่สุดในทัศนะของอาจารย์คาร์ล คือการช่วยเหลือสนับสนุนชุมชนชนบทริมแม่น้ำ ทั้งการจัดหาและลำเลียงส่งน้ำให้เพียงพอ และการสนับสนุนทางการเงินในกรณีที่จำเป็น เมื่อฝนมาถึงตามที่คาดไว้ผู้ประกอบการโครงการเขื่อนไฟไฟฟ้าพลังน้ำควรเลี่ยงที่จะเริ่มเก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนในทันทีเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า เพราะสิ่งที่สำคัญมากกว่าควรเป็นการแจกจ่ายน้ำให้เกษตรกรและฟื้นฟูระบบนิเวศในแม่น้ำสำหรับชาวประมงและสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติ


          ในระยะยาวการวางแผนจัดการปัญหาภัยแล้งควรไปไกลกว่าการมุ่งรักษาปริมาณน้ำในเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ โดยควรจะต้องมีการเตรียมตัวในรูปแบบอื่น อาทิ การคาดการณ์สถานการณ์ภัยแล้งล่วงหน้าได้ดีขึ้น แผนการจัดการที่ดีเมื่อเกิดสถานการณ์ภัยแล้งทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับข้ามพรมแดน และควรมีการทบทวนอีกครั้งเรื่องแหล่งเก็บน้ำ โดยคำนึงถึงน้ำใต้ดินมากขึ้นและแหล่งน้ำขนาดเล็กกว่ามากกว่าการมุ่งความสนใจไปที่เขื่อนขนาดใหญ่เท่านั้น


          อย่างที่ทราบว่าแม่น้ำโขงนั้นมีการใช้ร่วมกันระหว่าง 6 ประเทศ ความร่วมมือในเบื้องลึกระหว่างรัฐบาลของประเทศเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นตั้งแต่ภัยแล้งรุนแรงครั้งล่าสุดในปี 2559 มีการกล่าวถึงกันมากเกี่ยวกับความร่วมมือใหม่ระดับภูมิภาค ภายใต้กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำลานซาง-แม่โขง (Lancang-Mekong Cooperation: LMC) ระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนและหลายประเทศทางตอนล่าง และว่าจะเชื่อมโยงกับคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) อย่างไร


          ในเดือนมีนาคม 2559 ก่อนที่ผู้นำของภูมิภาคจะตกลงทำความร่วมมือ LMC สาธารณรัฐประชาชนจีนได้ปล่อยน้ำออกจากเขื่อนลานซางเพื่อแสดงเจตนารมณ์ที่ดีในการบรรเทาความรุนแรงของภัยแล้ง ณ เวลานั้น แม้จะโชคร้ายเพราะน้ำที่ปล่อยออกมาไหลกลับไหลทะลักเข้าสู่ชุมชนลุ่มน้ำโขงตอนล่างโดยไม่ทันระวัง


          อาจารย์คาร์ลมองว่าแม้จะอาศัยกรอบของ MRC และ LMC เป็นพื้นฐาน แต่ก็จำเป็นต้องมีการพัฒนากฎกติกา/มาตรการที่ชัดเจน มากกว่าการพึ่งพาการจัดการอย่างไม่เป็นทางการในการแบ่งปันน้ำระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนและหลายประเทศในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง


          อาจารย์คาร์ลย้ำว่าขอบเขตความร่วมมือข้ามชาติของประเทศลุ่มน้ำโขงต้องรวมถึงองค์ประกอบดังต่อไปนี้ การแชร์ข้อมูลอย่างครอบคลุมและเป็นระบบระหว่างรัฐบาลกับสาธารณชน การทำวิจัยร่วมกัน การวางกฎระเบียบและกระบวนการที่ชัดเจนในการปล่อยน้ำในกรณีฉุกเฉิน การดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบขั้นบันไดที่เลียนแบบกระแสการไหลของแม่น้ำตามธรรมชาติ และการพัฒนากระบวนการการมีส่วนร่วมของสาธารณชนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะชุมชนริมแม่น้ำ 


          ด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่หนักหนาสาหัสขึ้นเรื่อยๆ และการคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้ที่เปราะบางซึ่งมีความเสี่ยงสูงสุดในช่วงเวลาที่เกิดภัยแล้ง แผนการแก้ปัญหาในระยะสั้นและระยะยาวจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างที่สุดในขณะนี้ อาจารย์คาร์ลทิ้งท้าย