คอลัมนิสต์

ตำนาน "วิทยุทรานซิสเตอร์" "การเมือง-บันเทิง" ยุคเผด็จการ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รายงานพิเศษจากหนังสือพิมพ์คมชัดลึก 17-18 ส.ค.62

 

 

สีสันสภาไทย รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา หน้าข่าวเห็นแต่เจ้าวิทยุตัวเล็กๆ สีดำๆ ที่บรรดา ส.ส.วิปรัฐบาล หยิบมาแก้เกมไปแบบน้ำขุ่นๆ ที่โหวตแพ้

 

บางคนขำ บางคนส่ายหน้า มีแอบเหยียดว่าเป็นของบ้านนอกคอกนา เชยตกรุ่น แต่รู้หรือไม่ เรื่องราวของเจ้าวิทยุทรานซิสเตอร์ ก็มีมุมที่น่าพูดต่อ

 

 

ตำนาน "วิทยุทรานซิสเตอร์"  "การเมือง-บันเทิง" ยุคเผด็จการ

 

เผื่อเด็กรุ่นหลังที่เรียกว่า Digital Native เกิดมาก็เจอสมาร์ทโฟน อาจจะอยากรู้ว่าเจ้าวิทยุทรานซิสเตอร์ที่ว่านี้ มีเรื่องราวที่มาและความสำคัญอย่างไร บอกเลยสนุก

 

 

ปฐมบทวิทยุ

 

กว่าจะเป็นวิทยุทรานซิสเตอร์ที่ทุกคนจับต้องได้ ก่อนนั้นคนไทยใช้วิทยุเครื่องใหญ่ๆ ที่ใช้กำลังไฟสูง เช่นยี่ห้อ บลาวฟุ้งท์ เทเลฟุงเก้น กรุนดิก หรือ ยี.อี.

 

นึกภาพแบบที่เห็นตามร้านของเก่าโบราณคลาสสิกนั่นแหละ แต่คนรวย เมืองกรุง เท่านั้นที่มีสิทธิ์ เพราะตกเครื่องละหลายพันในยุคนั้น !

 

 

ตำนาน "วิทยุทรานซิสเตอร์"  "การเมือง-บันเทิง" ยุคเผด็จการ

 

 

จนต่อมาในปี 2497 “เบลแล็ป” ได้คิดค้นสิ่งที่เรียกว่า ทรานซิสเตอร์” ได้สำเร็จ โดยตัวทรานซิสเตอร์เปรียบเสมือนวาล์วควบคุมกระแสไฟฟ้าเข้าออก เปิดปิด

 

และมีการพัฒนาจนมีขนาดเล็กนำไปบรรจุลงในวิทยุได้ ทำให้ต่อมาเราก็ไม่ต้องง้อวิทยุใหญ่ๆ อีกเลย เพราะวิทยุจิ๋วรุ่นใหม่ ซื้อหาและพกพาไปฟังได้ทุกที่

 

ที่สุดมีการตั้งชื่อวิทยุรุ่นนี้ว่า ‘วิทยุทรานซิสเตอร์’ แต่ภายหลังเรียกไปเรียกมา ตัดทอนลงมาเหลือแค่ ‘ทรานซิสเตอร์’

 

 

ตำนาน "วิทยุทรานซิสเตอร์"  "การเมือง-บันเทิง" ยุคเผด็จการ

ภาพจาก https://www.kaidee.com/product-340175543

 

 

และแน่นอนเมื่อวิทยุคือตัวกลางกระจายข่าวสารความรู้ และเข้าถึงชาวบ้านที่ห่างไกลในชนบท วิทยุจึบนับเป็นเครื่องมือสำคัญที่มีส่วนในกระบวนการพัฒนาประเทศทางหนึ่ง

 

แต่ข้อมูลจากโครงการศึกษาวิจัยการปฏิรูปสื่อ ของ ทีดีอาร์ไอ รายงานว่า คนไทยมีสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งแรกของประเทศไทย ย่านวังพญาไท กรุงเทพฯ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2473

 

พอช่วงปี 2484 จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้เปลี่ยนชื่อเป็น สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย” แน่นอนยุคเริ่มต้นนี้กิจการวิทยุกระจายเสียงยังเป็นของรัฐทั้งหมด แม้จะเกิดอีกหลายสิบหลายร้อยสถานีก็ยังเป็นของรัฐอยู่ดี

 

ประเด็นจึงอยู่ตรงนี้ !!

 

 

อาวุธอย่างดี

 

อย่างที่รู้ ยุคสมัยนั้นเป็นยุคที่เน้นนโยบายชาตินิยม มีการกําหนดแบบแผนปฏิบัติ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “รัฐนิยม” ดังนั้น เราคงพอนึกออกว่าเนื้อหาที่คนไทยได้ยินได้ฟังจากวิทยุจะประมาณไหน

 

ยิ่งเข้าปี 2497 วิทยุทรานซิสเตอร์ไปถึงหมดทุกซอกมุมทั่วไทย เครื่องมือนี้ยิ่งทรงประสิทธิภาพ ทั้งข่าวสารและการโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ ทั้งระบบเอเอ็มเอฟเอ็ม

 

โดยเฉพาะช่วงปี 2500-2515 หลังประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทยเปลี่ยนผ่านสู่ยุคเผด็จการทหารโดยสมบูรณ์ ภายใต้การนําของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

 

 

ตำนาน "วิทยุทรานซิสเตอร์"  "การเมือง-บันเทิง" ยุคเผด็จการ

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

 

 

ช่วงนั้น รัฐบาลได้ขยายเครือข่ายวิทยุกระจายเสียง 2 ส่วน คือ สถานีวิทยุแห่งประเทศไทย ของกรมประชาสัมพันธ์ และสถานีวิทยุ วปถ. ในเครือกองทัพบก ให้ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่

 

และภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 มีส่วนกระตุ้นให้เกิดความต้องการในการรับรู้ข่าวสารของประชาชน วิทยุเริ่มกลายเป็นสิ่งที่จำเป็นในฐานะสื่อที่จะรับรู้ความเคลื่อนไหวของบ้านเมืองและความบันเทิง

 

ข้อมูลจากงานวิจัยของ อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ และคณะ (ปี 2550) ระบุว่าครั้งนั้นมีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ 1.เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติการจิตวิทยาต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ 

 

และ 2.เพื่อเปิดให้เอกชนเข้ามาดําเนินกิจการวิทยุกระจายเสียงและแบ่งผลประโยชน์กับกองทัพ

 

แน่นอนแม้เนื้อหาส่วนใหญ่ที่ปรากฏในรายการวิทยุ คือเนื้อหาประเภทบันเทิงต่างๆ แต่พอเข้าเนื้อหาข่าวสารสาระ ก็จะถูกรัฐบาลควบคุมอย่างเข้มงวด

 

จนพูดได้เลยว่า จากยุคสมัยของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ต่อเนื่องมาถึงยุคของ จอมพลถนอม กิตติขจร หรือในยุคเผด็จการทหาร ช่วงปี 2501-2515 เป็นช่วงที่สื่อวิทยุอยู่ใต้อํานาจของรัฐบาลเผด็จการทหารอย่างสมบูรณ์

 

 

ตำนาน "วิทยุทรานซิสเตอร์"  "การเมือง-บันเทิง" ยุคเผด็จการ

จอมพลถนอม กิตติขจร

 

 

ทั้งนี้ปี 2515 กองทัพบกมีสถานีวิทยุทั้งสิ้น 64 แห่ง และกรมประชาสัมพันธ์มีสถานีวิทยุทั้งสิ้น 21 แห่งทั่วประเทศ ก่อนจะถูกใช้งานอย่างเข้มข้น-เห็นผล ในฉากการเมืองยุคนักศึกษาลุกฮือขวบปีต่อมา

 

 

ความบันเทิงราคาถูก

 

เมืองไทยดีอย่าง ต่อให้วุ่นวายอย่างไร ชีวิตต้องไม่ขาดสีสันบันเทิง ยุคนั้นก็เช่นกัน อย่างที่บอกว่า ช่วงสาระอาจจะคุมเข้ม แต่ช่วงบันเทิงก็จัดเต็ม

 

ยิ่งพอชาวนาชาวไร่สามารถเข้าถึงวิทยุ เข้าถึงข่าวสารบันเทิงได้ ชีวิตก็มีชีวามากขึ้นในราคาจ่ายสบาย หิ้วไปฟังที่คันนาก็ไหว น้ำท่วมก็ฟังได้ ไม่ง้อไฟฟ้า หรือรอให้ถนนลูกรังหมดไปจากประเทศ !

 

ที่สำคัญ วิทยุยังรับรู้ได้ด้วยโสตสัมผัสคือหู ดังนั้น คนที่ไม่รู้หนังสือ หรือพิการทางสายตา ก็สามารถจะรับข่าวสารและความบันเทิงจากสื่อดังกล่าวได้อย่างเต็มที่

 

ถ้าจะพูดว่ายุคหนึ่ง วิทยุคือสื่อที่เข้าถึงประชาชนมากที่สุด ก็ตามนั้น โดยเฉพาะการฟังเพลง น่าจะเป็นเหตุผลแรกที่คนไทยเปิดวิทยุกัน ลูกทุ่งดาราแจ้งเกิดมากมายด้วยช่องทางวิทยุ

 

มีงานที่สะท้อนความผูกพันระหว่างคนรุ่นเก่ากับวิทยุทรานซิสเตอร์ เช่นนิยาย “มนต์รักทรานซิสเตอร์” ของวัฒน์ วรรลยางกูร, เพลง “อีสาวทรานซิสเตอร์” ที่แต่งโดย ครูชลธี ธารทอง

 

 

ตำนาน "วิทยุทรานซิสเตอร์"  "การเมือง-บันเทิง" ยุคเผด็จการ

 

 

ขณะที่คนไทยยังเคยมีละครวิทยุ ที่นับเป็นความบันเทิงราคาถูกที่คนไทยชื่นชอบ ครั้งหนึ่งคณะเกศทิพย์เคยโด่งดังยังไง วันนี้ยังมาไกลสู่ออนไลน์แล้ว

 

แต่ถ้าจะพูดถึงวิทยุที่กำลังเป็นข่าวตอนนี้ แถมยังอยู่ยั้งมาเนิ่นนาน เห็นจะหนีไม่พ้นวิทยุ “ธานินทร์” ต้นตำรับ

 

 

ธานินทร์คือตัวจริง

 

คนไทยยุคหนึ่งพอได้ยิน สโลแกน “ทุกบาท คุ้มค่าด้วยธานินทร์” ก็รู้สึกว่าเราก็มีสินค้าฝีมือคนไทยเหมือนกัน แถมยังเข้ากับบริบทสังคมไทยชัดเจน

 

จากร้านขายวิทยุเล็กๆ ชื่อ “นภาวิทยุ” ที่สามแยก เอส.เอ.บี ของ อุดม วิทยะสิรินันท์ ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2489 จนย้ายมาอยู่ตรงข้างโรงภาพยนตร์เฉลิมกรุง ในชื่อใหม่ว่า “ธานินทร์วิทยุ” มีพนักงานเริ่มแรกเพียง 7 คน

 

แต่ด้วยความมุ่งมั่น ก็ได้เจริญก้าวหน้าตามลำดับ จากผลพวงของพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ตามแผนพัฒนาของรัฐยุคนั้น

 

ธานินทร์ตั้งใจเล่นในตลาดล่าง ด้วยราคาที่ถูกกว่าหลายเท่า พอปี 2505 ธานินทร์กลายเป็นบริษัทจำกัดในชื่อ “ธานินทร์อุตสาหกรรม” มีโรงงานที่ ซอยอุดมสุข บางนา

 

วางจุดขายคือ “เมดอินไทยแลนด์” ขายดิบขายดีสุดๆ ที่พูดกันมากคือวิทยุของธานินทร์รับสัญญาณได้แจ่มกว่าใครเพื่อนแล้ว

 

ช่วงปี 2517-2523 ธานินทร์แตกบริษัทออกไปมากมาย และผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าครบวงจร เมืองไทยยุคนั้น ธานินทร์เป็นที่สาม รองจากเนชั่นแนล และโซนี่

 

 

ตำนาน "วิทยุทรานซิสเตอร์"  "การเมือง-บันเทิง" ยุคเผด็จการ

www.hvshopss.com

 

 

สุดท้ายกาลผ่าน เรื่องราวเปลี่ยน ราวปี 2527 บริษัท ธานินทร์อุตสาหกรรม ต้องปิดกิจการลง ได้ข่าวแว่วๆ ว่าโดนเทคโอเวอร์ไปโดยบริษัทในเครือสหยูเนี่ยน

 

แต่ “วิทยุธานินทร์” ยังคงอยู่ แม้ว่าจะเปลี่ยนมือ โดยคนจีนได้สิทธิ์ชื่อและตราสัญลักษณ์ไป แต่การพะยี่ห้อธานินทร์ และพบเจอทั่วไปทั่้งของแท้และของเลียนแบบ ก็ยังสะท้อนถึงชื่อแบรนด์ที่คนไทยเชื่อมืออยู่นั่นเอง

 

อย่างรุ่นที่ ส.ส.วิปรัฐบาล ถือโชว์ก็ 499 บาท แต่ถ้าไปในเว็บ www.hvshopss.com ที่ว่าเป็นตัวแทนตรงจากโรงงาน มีอีกหลายรุ่นที่ราคาถูกกว่านี้ตั้งแต่ 250-380 บาท !!

 

วันนี้วิทยุธานินทร์ สโลแกนอะไรไม่รู้ แต่คอนเซปต์เดิมคือ ราคาหลักร้อยความสุขนับไม่ถ้วน

 

***********************//**********************

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ