คอลัมนิสต์

สร้างเครือข่ายความปลอดภัยไซเบอร์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  สายตรวจระวังภัย  โดย...  ทีมข่าวอาชญากรรม

 

 

 

          จากคดีและข่าวสารที่ปรากฏในปัจจุบันสะท้อนให้เห็นว่า “ภัยคุกคามทางไซเบอร์” มีจำนวนที่เพิ่มสูง ทวีความรุนแรงขึ้นและต่อเนื่องส่งผลกระทบสร้างความเสียหายตั้งแต่ระดับบบุคคลไปจนถึงความมั่นคงของประเทศ

 

 

          ปัญหา “ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cyber Security)” กำลังเป็นเรื่องท้าทายของทุกประเทศเนื่องจากการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ทุกรูปแบบเพื่อการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิต เกิดความเสียหายมหาศาลจาก “อาชญากรรมไซเบอร์” ซึ่งนานาประเทศต่างให้ความสำคัญในการดำเนินงานเพื่อรับมือกับปัญหาภัยคุกคามนี้เป็นอย่างมาก


          ด้วยเหตุนี้ “ตำรวจไซเบอร์” กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) จึงได้ผนึกกำลังบริษัทเอกชน และ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) จัดประชุมและแข่งขันความปลอดภัยไซเบอร์ โดยมี พล.ต.ต.จิรภพ ภูริเดช ผบก.ป.  พล.ต.ต.ไพบูลย์ น้อยหุ่น ผบก.ปอท. พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง ผบก.ปอท. พร้อมด้วย นายศรัณย์ ทองคำ นักวิชาการคอมพิวเตอร์ชำนาญการพิเศษ กระทรวงดีอี และ นายศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทเอ็มเฟค  

 

สร้างเครือข่ายความปลอดภัยไซเบอร์

 


          พล.ต.ต.จิรภพ กล่าวว่า ในยุคนี้ที่อาชญากรรมไซเบอร์มีหลายรูปแบบ ลำพังตำรวจก็ไม่ได้รู้เรื่องทุกอย่าง จำเป็นต้องร่วมมือกับภาคประชาชน ไม่ว่าจะเป็น white hacker และผู้เชี่ยวชาญเพื่อจัดการกับปัญหา ซึ่งกลายมาเป็นหลักคิดใหม่ของตำรวจ คือ เราไม่ได้ทำงานดีที่สุด จำเป็นต้องสร้างเครือข่ายภาคประชาชนเพื่อตระหนักถึงภัยคุกคามและวิธีป้องกัน ตลอดจนความเข้าใจในกฎหมายด้านไซเบอร์ได้อย่างถูกต้องและดียิ่งขี้น




          ด้าน พล.ต.ต.ไพบูลย์ บอกว่า บก.ปอท. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการป้องกันและปราบปราม สืบสวนสอบสวนการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี มีนโยบายมุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรให้ความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านนี้ จึงจัดการประชุมความปลอดภัยไซเบอร์ TCSD Cyber Security Conference 2019 ภายใต้พันธกิจ "ร่วมคิดร่วมสร้างการป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี” เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน สร้างการตระหนักรู้และวิธีป้องกันอันตรายบนโลกออนไลน์ให้กับประชาชนทั่วไป และได้จัดกิจกรรมจัดการแข่งขัน “TCSD Cyber Security Competition 2019” ชิงเงินรางวัลมูลค่ารวมกว่า 100,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและใบประกาศเกียรติคุณจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี

 

 

 

สร้างเครือข่ายความปลอดภัยไซเบอร์

 


          “เป็นการแข่ง CTF ในสาย Offensive Security เจาะหาคำตอบจากช่องโหว่ในระบบ เปิดให้บุคลากรในองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงประชาชนทั่วไปได้เข้ามาประลองฝีมือแข่งขันกัน โดยมีบริษัท MFEC มาออกแบบโจทย์และการแข่งขันในภาพรวมให้ ซึ่งการแข่งขันมีสองรอบ คือ รอบให้โจทย์ จะให้ผู้เข้าแข่งขันหาคำตอบและช่องโหว่ที่เกิดขึ้นได้จากสถานการณ์การแฮ็ก หลังจากนั้นจะคัดเลือกเหลือ 10 ทีม เข้าสู่การแข่งขันรอบที่สองที่จะจัดขึ้นทั้งวันทั้งคืนเพื่อเฟ้นหาทีมชนะเลิศ”


          ขณะที่ นายศิริวัฒน์ ระบุว่า การแข่งขันและการประชุมนี้เป็นนิมิตหมายอันดีในการสร้างความร่วมมือในอนาคต อาชญากรรมปกติเกิดขึ้นในซอยเปลี่ยว แต่อาชญากรรมไซเบอร์เกิดขึ้นได้ทุกที่ การสร้างความรู้เท่าทันจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก

 

 

สร้างเครือข่ายความปลอดภัยไซเบอร์

 


          ทั้งนี้มีข้อมูลสถิติอาชญากรรมไซเบอร์ในปัจจุบันของ บก.ปอท. ระบุว่าในปี 2561 มีมูลค่าความเสียหายจากอาชญากรรมดังกล่าว 527 ล้านบาท เฉพาะคดีที่มาแจ้งกับ บก.ปอท. โดยตรงมีราว 2,700 คดี ไม่รวมโรงพักอื่นๆ และคดีที่ความเสียหายน้อยจนคนไม่มาแจ้งความ ส่วนในปี 2562 มีมูลค่าความเสียหาย 371 ล้านบาท มีจำนวนคดีที่มาแจ้งเพิ่มขึ้นคือ 2,871 คดี ส่วนประเภทคดีส่วนใหญ่คือ scam หลอกเอาเงิน, การทำ social engineering


          ภัยอาชญากรรมเฉพาะ “ลัก วิ่ง ชิง ปล้น” ลำพังตำรวจยังรับมือยาก แต่ภัยไซเบอร์จะยิ่งทำให้ยากกว่าเพราะอยู่ที่ไหนเวลาใดก็ก่อเหตุได้ ฉะนั้นการสร้างเครือข่ายระหว่างตำรวจกับประชาชนเพื่อรับมือเรื่องนี้จึงจำเป็นในยุคปัจจุบัน..!!

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ