คอลัมนิสต์

วิวาทะในภาวะน้ำท่วม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันอังคารที่ 17 กันยายน 2562

 

 

          การลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบอุทกภัยในภาคอีสาน โดยเฉพาะ จ.อุบลราชธานี ที่ประสบภัยน้ำท่วมอย่างหนัก โดยเจ้าหน้าที่รัฐ รัฐมนตรี และแกนนำพรรคฝ่ายค้านตลอดถึงจิตอาสาประชาชนทั่วไป ถือเป็นเรื่องยินดียิ่งที่แต่ละฝ่ายเห็นความทุกข์เข็ญของประชาชนซึ่งล้วนตกอยู่ในภาวะที่ไม่อาจช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ถึงกระนั้น แทบทุกครั้งที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ขึ้นจะมีเรื่องราวตามมาอยู่เสมอ อย่างเช่น ประเด็นทางการเมือง อันเนื่องมาจากการแก้ไขปัญหาของภาครัฐ ซึ่งสุดท้ายนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องก็จะถูกทวงถามความรับผิดชอบอย่างยากจะหลีกเลี่ยง เหมือนเช่นที่น้ำท่วมขังในกรุงเทพ ผู้ว่าฯ กทม.ก็ตกเป็นเป้า ซึ่งเป็นเรื่องไม่อาจหลบเลี่ยงที่ผู้มีหน้าที่ต้องปรับปรุงแก้ไขให้ดีที่สุดโดยเฉพาะการช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้ทั่วถึงเป็นการด่วน

 


          อีกเรื่องหนึ่งก็คือ แนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะยาว บางพื้นที่มักจะมีผู้เสนอให้สร้างเขื่อนเพื่อป้องกันน้ำท่วม และภัยแล้ง อย่างเช่นที่ จ.สุโขทัย และะพะเยา ซึ่งอยูในลุ่มน้ำยม และต้องประสบปัญหาอุทกภัยแทบทุกปี และแทบทุกครั้งเช่นกัน ที่โครงการสร้างเขื่อนจะถูกหยิบยกขึ้นมา ล่าสุด ชื่อของโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นถูกพูดถึงอีกครั้ง หลังการลงพื้นที่ของรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ในพื้นที่นั้นได้รับฟังปัญหาจากประชาชน 2 จังหวัด ซึ่งก็แบ่งรับแบ่งสู้อยู่ว่า การสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น คนในพื้นที่ส่วนใหญ่กลัวผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เช่นน้ำท่วมจากการสร้างเขื่อนที่อาจกินบริเวณกว้าง จึงต้องศึกษาผลกระทบทั้งผลดีและผลเสียอย่างรอบคอบ ปัจจุบันนี้มีความเห็นแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ ผู้เห็นด้วย ผู้ไม่เห็นด้วย และกลุ่มนักวิชาการ เอ็นจีโอ

 


          วิวาทะเรื่องเขื่อนแก่งเสือเต้น ถือเป็นมหากาพย์ที่เก็บไว้ในลิ้นชักมาหลายทศวรรษ เพราะเสียงคัดค้านที่ยังมีพลังอยู่อย่างต่อเนื่อง แม้ว่า ลุ่มน้ำยมจะประสบปัญหาทั้งภัยแล้งและน้ำท่วมเกือบทถุกปี แต่ฝ่ายที่คัดค้านก็ยืนยันว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นไม่สามารถตอบโจทย์ได้ ไม่คุ้มค่ากับทรัพยากรป่าไม้ที่ต้องสูญเสียไป อย่างไรก็ตาม ในสภาพการณ์ปัจจุบัน ถ้าหากดูระดับน้ำในเขื่อนต่างๆ ทั่วประเทศ จะพบว่า อ่างเก็บน้ำของเขื่อนส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาวะวิกฤติ แม้แต่ในภาคเหนือและอีสานที่ฝนตกหนัก น้ำก็ไม่ได้ตกเหนือเขื่อน ซึ่งก็เป็นเครื่องยืนยันว่า การเพิ่มเขื่อนเข้ามาเพื่อบริหารจัดการน้ำ ก็ใช่ว่าจะแก้ปัญหาทั้งน้ำท่วมและภัยแล้งได้ดังคาดการณ์

 


          การบริหารจัดการน้ำนับเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งจะต้องอาศัยหลายแนวทางด้วยกัน โดยข้อเท็จจริงก็คือ ปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำต่างๆ มีไม่มากเพียงพอในแต่ละปี ถ้าหากปริมาณน้ำฝนน้อยผิดปกติในปีใด ประเทศก็จะต้องประสบภัยแล้งอย่างแน่นอน เพราะการจัดการน้ำในปีก่อนหน้านั้นต้องสนับสนุนทุกกิจกรรมอย่างครบถ้วน เช่น การชลประทานเกษตร รักษาสภาพแวดล้อม ผลิตพลังงานไฟฟ้า ปีนี้ภาคอีสานน้่ำท่วมหนักหลายจังหวัด และในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ก็จะต้องประสบปัญหาภัยแล้ง เพราะน้ำในเขื่อนมีไม่เพียงพอ เช่นเดียวกับลุ่มน้ำภาคกลาง ที่อาจจะทำนาปรังไม่ได้อีกครั้งเพราะน้ำในเขื่อนยังอยู่ในระดับน่าเป็นห่วง นี่คือสภาพความเป็นจริงที่ต้องอาศัยแผนงานระยะยาวเพื่อบรรเทาความเสียหายให้ลดลงจนถึงระดับควบคุมได้

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ