คอลัมนิสต์

ต้องรอบคอบ ขยาย-ย้าย เมืองหลวง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน 2562

 

 

          นายกรัฐมนตรีกล่าวตอนหนึ่งระหว่างเป็นประธานเปิดการประชุมประจำปี 2562 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. โดยพูดถึงปัญหาความแออัดของกรุงเทพฯ ในลักษณะว่าควรให้ขยายไปรอบนอกบ้าง หรือจะย้ายเมืองหลวงอย่างเขาไหม พร้อมกับให้ไปคิดไปศึกษามา ถ้าจะย้ายไปที่ไหนและใช้งบประมาณอย่างไร หรือจะขยายรอบกรุงเทพฯ ให้กว้างขึ้น จะได้เข้าพื้นที่ใจกลางเมืองให้น้อยลง เพราะวันนี้การจราจรติดขัด ที่สำคัญคนใจร้อน ระบบไม่พร้อม เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรลงมาแก้ปัญหาก็โดนด่าว่ารถติดมากกว่าเดิม ทำให้ไม่มีใครอยากทำงาน รัฐต้องแก้ปัญหาตรงนี้ วางระยะเวลาให้ถูกว่ากรุงเทพฯ ควรเป็นอย่างไร รัฐบาลก่อนไม่เคยทำได้เพราะเกิดความขัดแย้ง ประชาชนไม่ยอม ดังนั้นการสร้างความรับรู้แก่ประชาชนจึงเป็นสิ่งจำเป็นให้เกิดความเข้าใจและยอมรับได้

 


          เมื่อเดือนที่แล้ว ประธานาธิบดีของอินโดนีเซียประกาศว่ารัฐบาลได้เลือกพิกัดการจัดตั้งเมืองหลวงของประเทศแห่งใหม่แทนกรุงจาการ์ตา โดยเมืองหลวงแห่งใหม่นี้จะตั้งอยู่ระหว่างเมืองปาปันกับเมืองซามารินดา ในจังหวัดกาลิมันตันตะวันออก ทางด้านตะวันออกของเกาะบอร์เนียว โดยจะใช้ที่ดิน 1,800 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่ป่าและมีความเสี่ยงต่ำต่อการเกิดภัยธรรมชาติ ซึ่งรัฐบาลอินโดฯ ประเมินว่าจะใช้งบประมาณในการย้าย 33,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 1 ล้านล้านบาท โดยคาดจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2021 และเริ่มย้ายที่ทำการรัฐบาลได้ในปี 2024 สำหรับกรุงจาการ์ตานับเป็นเมืองหลวงที่แออัดติดอันดับโลก มีประชากรหนาแน่นถึง 10 ล้านคน หากรวมปริมณฑลจะมากถึง 31 ล้านคน มีปัญหาจราจรติดขัด มลพิษ การทรุดตัวของแผ่นดินจากการขุดน้ำบาดาลมาใช้ รวมถึงเสี่ยงแผ่นดินไหวและภูเขาไฟ


          เมื่อปี 2554 ที่เกิดเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ สื่อต่างประเทศได้ลงบทความวิเคราะห์เมืองหลวงของประเทศไทยว่า อาจต้องเผชิญภัยน้ำท่วมในปีต่อๆ ไปซึ่งจะสร้างความเสียหายให้แก่โรงงานอุตสาหกรรม ประชาชนหลายล้านคนจะได้รับผลกระทบ และศูนย์กลางของการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม จะเสียหายมากขึ้น โดยมีการเชื่อมโยงกับอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิประเทศ รวมทั้งผังเมืองซึ่งมีความแออัดหนาแน่น ผลกระทบจากปริมาณฝนที่มากขึ้นรวมทั้งปริมาณขยะและสภาพแวดล้อมที่เสื่อมลง จะทำให้กรุงเทพฯ ยากที่จะระบายน้ำที่ท่วมสูง โดยทางองค์กรเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือโออีซีดี ได้ประเมินให้กรุงเทพฯ เป็น 1 ใน 10 เมืองที่อยู่ในภาวะวิกฤติน้ำท่วมจนเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ จนที่สุดอาจจะต้องย้ายเมืองหลวงไปสถานที่แห่งใหม่


          การย้ายเมืองหลวงได้ถูกหยิบยกมาพูดถึงกันตลอดมาเพราะสภาพของกรุงเทพฯ นับวันคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ยิ่งแย่ลง แต่ด้วยความเป็นศูนย์กลางธุรกิจและราชการทำให้ไม่สามารถหลีกเลี่ยงความหนาแน่นของประชากรได้ อีกทั้งการลงทุนมหาศาลทั้งแหล่งที่อยู่อาศัย ศูนย์การค้า ศูนย์ประชุม ศูนย์ธุรกิจจำนวนมากก็อยู่ในกรุงเทพฯ จึงเห็นได้ว่าเมื่อถึงเทศกาลสำคัญประจำปีผู้คนเดินทางกลับภูมิลำเนา จะเห็นภาพกรุงเทพฯ โล่งไปทั้งเมือง แต่ด้วยการย้ายเมืองหลวงมีผลสำคัญทั้งต่อภาคธุรกิจอุตสาหกรรม รวมถึงวิถีชีวิตของคนทำงาน แหล่งที่อยู่อาศัยย่อมเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จึงจำเป็นที่ต้องศึกษาให้รอบคอบ อีกทั้งโครงข่ายขนส่งมวลชนกำลังจะสมบูรณ์ จะเป็นปัจจัยหลักให้เห็นคำตอบและภาพในอนาคตของเมืองหลวงไทยได้ว่าจะขยายตัวหรือต้องย้ายเมืองไปที่ไหนเพื่อเกิดประโยชน์สูงสุด

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ