"กรมชลประทาน" ร่วมประชุมคณะกรรมการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล
"กรมชลประทาน" ร่วมประชุมคณะกรรมการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี หลังปัจจุบันพบ พื้นที่ประสบอุทกภัย รวมทั้งสิ้น 47 จังหวัด
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา นายธวัชชัย ไตรวารี หัวหน้าฝ่ายประมวลและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมคณะกรรมการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ผ่านระบบ VDO Conference โดยมี นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมฯ
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศมีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 52,550 ล้าน ลบ.ม. (69% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) ยังสามารถรับน้ำได้อีก 23,548 ล้าน ลบ.ม. ภาพรวมสถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์ดี
ทั้งนี้ จากการติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่า บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศลาวตอนบนและประเทศเวียดนามตอนบน ส่งผลให้ร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย
ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก
กรมชลประทาน ได้ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำท่าอย่างใกล้ชิด พร้อมวางแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์
โดยตอนบนจะทำการเก็บกักน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด เพื่อสำรองไว้ใช้ในการอุปโภค บริโภค รวมทั้งเกษตรกรรม ในช่วงฤดูแล้ง
ตอนกลางจะใช้เขื่อนเจ้าพระยาในการบริหารจัดการน้ำ ควบคุมปริมาณน้ำให้เป็นไปตามเกณฑ์
ตอนปลายจะเร่งระบายออกสู่ทะเล โดยจะระบายทางตรงเป็นหลัก เพื่อไม่ให้กระทบต่อพื้นที่ด้านฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากยังคงมีปริมาณฝนตกในพื้นที่ดังกล่าว
ด้านการช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยอุทกภัย จากอิทธิพลร่องมรสุมพาดผ่านประเทศไทยถึง 5 ครั้ง ตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมจนถึงปัจจุบัน ทำให้มีพื้นที่ประสบอุทกภัยรวมทั้งสิ้น 47 จังหวัด
เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว 27 จังหวัด ยังคงเหลือพื้นที่ประสบอุทกภัยอยู่อีก 20 จังหวัด
ซึ่งกรมชลประทาน ยังคงเดินหน้าให้ความช่วยเหลือไปจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หรือจนกว่าจะหมดฤดูฝน
พร้อมเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด กำหนดคน กำหนดเครื่องจักร เครื่องมือ ประจำพื้นที่เสี่ยงทั่วประเทศรวมกว่า 5,382 หน่วย สามารถเข้าช่วยเหลือได้ตลอด 24 ชั่วโมง
รวมทั้งดำเนินการตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี65 ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนดอย่างเคร่งครัด หมั่นตรวจสอบอาคารชลประทานให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญได้บูรณาการกับหน่วยงานระดับท้องถิ่นประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่อง
(https://awards.komchadluek.net/#)