ในช่วง20ปี ไทยต้องการ "แรงงานทักษะสูง" ไม่น้อยกว่า2ล้านคน
ม.มหิดล ชี้โครงสร้างประชากรไทยเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ประชากรวัยทำงานลดลง แต่ผู้สูงอายุเพิ่ม กระทบตลาดแรงงาน ปัจจุบันนำเข้าแรงงาน 3-4 ล้านคน ระบุ ในช่วง 20 ปีตลาด “แรงงานทักษะสูง” ต้องการไม่น้อยกว่า2ล้านคน เตรียมรับแรงงานย้ายถิ่นพุ่ง
ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์ ขณะที่อายุเฉลี่ยของประชากรเพิ่มสูงขึ้น แต่อัตราการเกิดลดน้อยลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม เพราะขาดแคลนวัยแรงงาน จนถึงขั้นนำเข้า ล่าสุด "ม.มหิดล"วิจัยเตรียมรับแรงงานย้ายถิ่นคุณภาพเพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผศ.ดร.สักกรินทร์ นิยมศิลป์ อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าโครงสร้างประชากรไทยกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วโดยสัดส่วนประชากรวัยแรงงานกำลังลดลงแต่สัดส่วนประชากรสูงอายุได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องและในอนาคตอันใกล้ราวปี2572ประชากรไทยจะเริ่มลดลงซึ่งจะทำให้ปัญหาขาดแคลนกำลังแรงงานทวีความรุนแรงมากขึ้นจากปัจจุบันที่ประเทศไทยได้นำเข้าแรงงานข้ามชาติเพื่อทดแทนแรงงานที่ขาดแคลนอยู่แล้วจำนวน3-4ล้านคน
เพื่อวางแนวทางเพื่อรองรับปัญหาการลดลงของประชากรปัญหาขาดแคลนและตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติ20ปีเพื่อยกระดับการพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูงมหาวิทยาลัยมหิดลโดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ได้ริเริ่มโครงการวิจัยเรื่องการย้ายถิ่นระหว่างประเทศของไทย(International Migration in Thailand)
โดยมีระยะเวลา1ปีนับตั้งแต่เดือนธันวาคม2565ที่ผ่านมาเพื่อศึกษาวิเคราะห์สถานการณ์การย้ายถิ่นของไทยภายหลังสถานการณ์โควิด-19และกำหนดแนวนโยบายด้านการย้ายถิ่นที่เหมาะสมโดยครอบคลุมการย้ายถิ่นของกลุ่มแรงงานข้ามชาตินักศึกษานานาชาติและผู้เกษียณอายุชาวต่างชาติด้วย
"ในขณะที่ประชากรสูงวัยเพิ่มมากขึ้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดต่อไปในอนาคตคือการขาดแคลนประชากรวัยแรงงานทั้งภาคเกษตรอุตสาหกรรมและภาคบริการโดยแรงงานที่มีแนวโน้มความต้องการสูงขึ้นมากในระยะยาวคือแรงงานในภาคบริการและแรงงานประเภทแรงงานทักษะสูงในอุตสาหกรรมไฮเทคต่างๆ
เนื่องจากการพัฒนาอุตสาหกรรม4.0นั้นจำเป็นต้องมีบุคลากรที่มีขีดความสามารถทางเทคโนโลยีระดับสูงควบคู่กันไปด้วยโดยคาดว่าประเทศไทยต้องการ"แรงงานทักษะสูง"ดังกล่าวไม่น้อยกว่า2ล้านคนในช่วง20ปีข้างหน้าโดยส่วนหนึ่งจะมาจากแรงงานทักษะสูงต่างชาติเนื่องจากเราไม่สามารถผลิตบุคลากรได้พอเพียง"ผศ.ดร.สักกรินทร์กล่าว
เป้าหมายสำคัญของการวิจัยนี้คือการศึกษานโยบายการย้ายถิ่นเพื่อทดแทนประชากร(Replacement Migration Policy)เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการลดลงของประชากรอันเนื่องมาจากสังคมสูงวัย(ageing society)และการปรับตัวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม4.0ตามยุทธศาสตร์ชาติ20ปี
โดยกำหนดนโยบายวีซ่าระยะยาวที่เหมาะสมเพื่อดึงดูดแรงงานข้ามชาติที่มีคุณสมบัติตามที่ประเทศไทยต้องการและผลักดันมาตรการที่ยั่งยืนที่ครอบคลุมถึงสวัสดิการต่างๆที่จำเป็นต่อคุณภาพชีวิตของแรงงานย้ายถิ่นการบูรณาการทางสังคมและการคุ้มครองสิทธิ์ของผู้ย้ายถิ่นด้วย
ผศ.ดร.สักกรินทร์ เสนอแนะนำว่า การเตรียมพร้อมมาตรการนำเข้าแรงงานย้ายถิ่นเพื่อทดแทนประชากรของประเทศไทยว่าควรกำหนดคุณสมบัติที่พึงประสงค์และเป้าหมายที่ชัดเจนตามหลักอุปสงค์และอุปทานด้านแรงงานว่าควรเป็นไปในลักษณะจำนวนเท่าใดและมีวิธีการในการพิจารณาโดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมอย่างไรเพื่อเป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไปในอนาคตและชะลอผลกระทบจากปัญหาการลดลงของประชากรในระยะยาว
ทั้งนี้ คาดว่าผลจากการวิจัยนี้จะทำให้กลุ่มผู้ย้ายถิ่นต่างๆทั้งแรงงานข้ามชาตินักเรียนนักศึกษานานาชาติรวมถึงผู้เกษียณอายุชาวต่างชาติหันมามองประเทศไทยในฐานะบ้านที่2อันอบอุ่นและพร้อมเติบโตไปกับอนาคตที่สดใสของประเทศไทยร่วมกัน