สาธารณสุข ถกแนวทางใช้ประโยชน์จากงานวิจัยกัญชา
สาธารณสุข เร่งขับเคลื่อน การใช้ประโยชน์ กัญชาทางการแพทย์ ผ่าน 4 ประเด็นหลักการทำงาน พบ แพทย์ยังสั่งจ่ายยาสารสกัดน้อย เหตุขาดหลักฐานทางวิชาการ
กัญชาทางการแพทย์ เป็นอีกหนึ่งตัวเลือก สำหรับการรักษา และแนวทางของ ทั้งแพทย์ และ ผู้ป่วย แต่พบว่า แพทย์ยังสั่งจ่ายยาจากสารสกัดกัญชาน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งสวนทางกับภาพการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ แม้จะมีพบงานวิจัยจากต่างประเทศที่ระบุถึงประโยชน์มากขึ้นกว่าในอดีตก็ตาม ทางกระทรวงสาธารณสุข มี ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน ประธานคณะอนุกรรมการด้านการศึกษา วิจัยจากการใช้กัญชาทางการแพทย์และสุขภาพ ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) วันที่ 6 ก.พ. 2566 เกี่ยวกับงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับกัญชาทางการแพทย์ โดยคณะอนุกรรมการฯ ได้สรุปแนวทางการขับเคลื่อนร่วมกันในปี 2566 รวม 4 ประเด็น ดังนี้
1. บูรณาการทำงานร่วมกับคณะกรรมการกำกับทิศทางการวิจัยประเด็นปัญหาวิกฤตสำคัญของประเทศเรื่องกัญชา ซึ่งแต่งตั้งโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เพื่อให้การทำงานเป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสุขภาพจะนำเรื่องดังกล่าวหารือกับคณะกรรมการกำกับทิศ เพื่อหาแนวทางในการทำงานร่วมกัน
2. รวบรวมข้อมูลงานวิจัยที่ได้ดำเนินการไปแล้วและกำลังดำเนินการเพื่อตอบคำถามสังคมถึงผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจและสุขภาพ ซึ่งจากการพิจารณาข้อมูลงานวิจัยที่มีการศึกษาผลกระทบครึ่งหนึ่งพบว่า ควรเร่งพิจารณา และหาข้อสรุปเบื้องต้นเพื่อตอบคำถามของสังคม รวมถึงวิเคราะห์ช่องว่างการวิจัยให้สามารถตอบข้อสงสัยของสังคมให้ได้ ซึ่งในการประชุมครั้งถัดไปจะเชิญหน่วยงานที่ศึกษาวิจัยเรื่องนี้มาหาข้อสรุปเบื้องต้นและจะแจ้งให้สังคมทราบ
3. การกำหนดทิศทางการวิจัยกัญชาของประเทศ โดยทางสถาบันกัญชาทางการแพทย์ได้นำเสนอทิศทางการวิจัยของยากัญชาในโรคมะเร็ง เนื่องจากมะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับต้นของคนไทย ถึงแม้ยากัญชาจะถูกบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติในข้อบ่งชี้เรื่องการช่วยบรรเทาอาการในผู้ป่วยมะเร็งระยะท้าย แต่แพทย์ก็ยังสั่งจ่ายน้อย เพราะยังขาดหลักฐานทางวิชาการที่มีมาตรฐานสูง ซึ่งในต่างประเทศได้มีการศึกษาวิจัยเรื่องนี้เพิ่มเติมมากขึ้นโดยการพัฒนาสูตรยาให้มีความจำเพาะและวิจัยใน 3 ด้าน คือ ลดผลข้างเคียงจากยาเคมีบำบัด บรรเทาอาการ และใช้ควบคุมการลุกลามของโรค ดังนั้น ประเทศไทยก็ควรคิดเรื่องนี้จริงจัง เพราะยามะเร็งเกือบทั้งหมดของไทยต้องนำเข้า
4. นำงานวิจัยสนับสนุนการใช้ในเชิงพานิชย์ โดยทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มานำเสนอแนวทางการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์เบื้องต้น ซึ่งในสธ. ก็มีหลายหน่วยงานที่วิจัยและพัฒนายา ซึ่งทางอนุกรรมการจะเชิญประชุมกลุ่มย่อย เพื่อให้ผลิตภัณฑ์จากการวิจัยสามารถขึ้นทะเบียนได้ทันทีหลังการวิจัยเสร็จสิ้น
"การขับเคลื่อนทั้ง 4 ประเด็นนี้ เราจะบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยอื่นๆ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุดของทรัพยากรและเวลาที่ต้องดำเนินการให้เร็ว เพราะตอนนี้ในหลายประเทศก็กำลังอนุญาตให้นำกัญชามาใช้ประโยชน์เช่นเดียวกัน เราต้องใช้โอกาสในฐานะที่เป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีนโยบายขับเคลื่อนกัญชาเพื่อสุขภาพและเศรษฐกิจ"ภก.อนันต์ชัย กล่าว
ทั้งนี้ ตั้งแต่มีการอนุญาตให้นำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ปี 2562 จนถึงปัจจุบันมีงานวิจัยที่ดำเนินการเสร็จสิ้น จำนวนทั้งสิ้น 64 เรื่อง และกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการ 42 เรื่อง
สำหรับงานวิจัยที่ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วจำนวนหนึ่งที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ เช่น การนำผลการศึกษาไปใช้สนับสนุนการบรรจุยากัญชาเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ และการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สมุนไพร ซึ่งแผนงานการดำเนินการของอนุกรรมการในปี 2566 นี้คือ การนำผลงานวิจัยมาใช้ประโยชน์ทั้งการกำหนดนโยบาย การบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ และการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ รวมถึงการกำหนดทิศทางการวิจัยกัญชาเพื่อตอบปัญหาสุขภาพของประเทศ โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งใน และต่างประเทศ