ข่าว

"อายิโนะโมะโต๊ะ เทรนนิง เซ็นเตอร์"ต้นแบบศูนย์กีฬาแห่งชาติไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ในปัจจุบันหลายชาติเริ่มให้ความสำคัญกับการสร้างรากฐานของนักกีฬาตั้งแต่วัยเยาว์

    ในปัจจุบันหลายชาติเริ่มให้ความสำคัญกับการสร้างรากฐานของนักกีฬาตั้งแต่วัยเยาว์ เนื่องจากถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้นักกีฬามีความชำนาญ และเข้าใจในประเภทกีฬาที่ตนเองแข่งขัน รวมถึงมีสิทธิ์ที่จะประสบความสำเร็จในเวทีระดับนานาชาติสูงขึ้น

    เป็นเหตุให้เกิด “ศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติ” เพื่อบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์นักกีฬา ซึ่งควบคุมโดยผู้ชำนาญการในด้านต่างๆทั้ง โภชนาการ, ร่างกาย และสภาพจิตใจ จากความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา

    โดยในทวีปเอเชียก็มีศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติ ที่ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติหลายแห่ง ซึ่งหนึ่งในนั้นต้องมีชื่อของ อายิโนะโมะโต๊ะ เนชันแนล เทรนนิง เซ็นเตอร์ หรือ ศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติของญี่ปุ่น ที่ตั้งอยู่ในเมืองคิตะ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งสร้างผลงานด้วยการพานักกีฬากวาดไป 40 เหรียญทองจาก 41 เหรียญทองที่ “ทัพซามูไร” ทำได้ในมหกรรมกีฬาโอลิมปิค 2016 ที่ประเทศบราซิล

     ทำให้การกีฬาแห่งประเทศไทย ซึ่งมีแผนจะสร้างศูนย์กีฬาแห่งชาติขึ้นมาเช่นกันได้ยึดศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติของญี่ปุ่นเป็นต้นแบบเนื่องจากมีเหตุผลที่เหมาะสมหลายประการ ทำให้วันนี้ทางทีมข่าวกีฬา “คม ชัด ลึก” จะพาไปทำความรู้จักกับแหล่งบ่มเพาะนักกีฬาของเจ้าภาพโอลิมปิคในปี 2020 กันมากขึ้น

"อายิโนะโมะโต๊ะ เทรนนิง เซ็นเตอร์"ต้นแบบศูนย์กีฬาแห่งชาติไทย
 

รากฐานแห่งนักกีฬาญี่ปุ่น
    ศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติของญี่ปุ่น เริ่มมีแผนการก่อสร้างเป็นครั้งแรกในปี 1997 ก่อนที่จะแล้วเสร็จในปี 2008 โดยรัฐบาลภายใต้แนวคิด “ฝึกซ้อม, โภชนาการ และการพักผ่อน” ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อบ่มเพาะนักกีฬาด้วยวิทยาการที่ทันสมัยแห่งแรกของประเทศ
    โดยการก่อสร้างแบ่งเป็น 4 ส่วนใหญ่ คือ ศูนย์ฝึกกีฬาในร่ม, สนามหญ้า และลู่วิ่ง, คอร์ตเทนนิสในร่ม รวมถึงหมู่บ้านนักกีฬา ในพื้นที่กว่า 1 แสนตารางเมตร
    สำหรับศูนย์ฝึกกีฬาในร่มที่เป็นตึกขนาด 4 ชั้นในพื้นที่ 3 หมื่นตารางเมตร ประกอบด้วยสนามกีฬากว่า 10 ชนิด ประกอบด้วย ยิมนาสติก, วอลเลย์บอล, แบดมินตัน, แฮนด์บอล, ยูโด, บาสเกตบอล, เทเบิล เทนนิส, มวยสากล, มวยปล้ำ และยกน้ำหนัก ซึ่งทั้งหมดผ่านการรับรองตามมาตรฐานสากล นอกจากนั้นแล้วภายในตึกดังกล่าวยังมี ห้องเรียน, สนามอเนกประสงค์ และสระว่ายน้ำ เพื่อให้นักกีฬาสามารถใช้งานได้
    ส่วนสนามหญ้า และลู่วิ่ง ก็สร้างขึ้นเพื่อใช้งานได้หลายวัตถุประสงค์ ทั้งสนามหญ้าที่สามารถซ้อมกีฬากลางแจ้งต่างๆ, ลู่วิ่งที่มีถึง 6 เลน ในระยะทาง 400 เมตร รวมถึงสนามทรายที่ไว้ใช้สำหรับนักกีฬากรีฑาประเภทลาน
    ขณะที่คอร์ตเทนนิสในร่ม ภายในประกอบด้วยคอร์ตตามมารฐานทั้งหมด 4 คอร์ต โดย 2 ใน 4 คอร์ต นั้นเป็นฮาร์ดคอร์ตที่ใช้มาตรฐานการสร้างเดียวกับการแข่งขันแกรนด์ สแลม อย่างยูเอส โอเพ่น ส่วนอีก 2 คอร์ตเป็นคอร์ตดินที่ใช้มาตรฐานเดียวกับอีกหนึ่งรายการแกรนด์ สแลม อย่าง เฟรนช์ โอเพ่น เช่นกัน
     ด้านหมู่บ้านนักกีฬา ซึ่งเพิ่งทำการต่อเติมไปเมื่อปี 2011 สามารถรองรับนักกีฬาได้ถึง 448 คนด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆแบบครบครัน

"อายิโนะโมะโต๊ะ เทรนนิง เซ็นเตอร์"ต้นแบบศูนย์กีฬาแห่งชาติไทย

"อายิโนะโมะโต๊ะ เทรนนิง เซ็นเตอร์"ต้นแบบศูนย์กีฬาแห่งชาติไทย

ร่วมมือสถาบันวิทยาศาสตร์การกีฬา
    ด้วยวิทยาการด้านกีฬาที่พัฒนาขึ้น โดยเฉพาะกับวิทยาศาสตร์การกีฬาที่มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากกับวงการกีฬาไม่ว่าจะเป็นในระดับชาติ หรืออาชีพในช่วงหลัง ทำให้ ญี่ปุ่น ตัดสินใจก่อตั้ง สถาบันวิทยาศาสตร์การกีฬาแห่งประเทศญี่ปุ่น (เจไอเอสเอส) ขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2011
    ภายในสถาบันดังกล่าวมีจุดประสงค์หลักคือการวิจัยเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การกีฬา, ยา และข้อมูลต่างๆ ด้วยเทคโนโลยี และอุปกรณ์ที่ทันสมัย พร้อมบุคลากรที่เชี่ยวชาญในเรื่องนี้โดยเฉพาะ
     จนกระทั่งศึกโอลิมปิค 2016 ที่กรุงริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล ศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติของญี่ปุ่น ได้ร่วมมือกับสถาบันวิทยาศาสตร์การกีฬา เป็นครั้งแรก ด้วยการส่งทีมงานไปประจำอยู่กับนักกีฬาที่แดนแซมบา โดยพวกเขามีการปรับ อุปกรณ์ รวมถึงเวลาฝึกซ้อม อากาศ และความดันให้เหมือนกับประเทศที่จะเดินทางไปแข่งขัน
    และผลปรากฏว่าพวกเขาประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามจากการคว้าไป 41 เหรียญทอง ซึ่งจาก 40 เหรียญมาจากศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติ และอีกหนี่งเหรียญคือ พายเรือแคนู ที่นักกีฬาไปฝึกซ้อมที่ต่างประเทศ
    ด้วยความสำเร็จดังกล่าวทำให้ในปี 2018 ที่ผ่านมา สถาบันวิทยาศาสตร์การกีฬาแห่งประเทศญี่ปุ่น ได้ย้ายเช้ามาอยู่ในพิ้นที่เดียวกับศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติ เพื่อเตรียมตัวสำหรับศึกโอลิมปิค 2020 ที่กำลังจะมาถึง
     ยาซูฮิโระ นากาโมริ ผู้อำนวยการฝ่ายกีฬาของศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติ ระบุว่า ในการแข่งขันโอลิมปิคครั้งนี้พวกเขาได้ตั้งเป้าหมายว่านักกีฬาจากศูนย์ฝึกดังกล่าวจะต้องได้เหรียญทองอย่างน้อย 30 เหรียญ ซึ่งถือว่าเป็นงานที่ท้าทายพอสมควร

"อายิโนะโมะโต๊ะ เทรนนิง เซ็นเตอร์"ต้นแบบศูนย์กีฬาแห่งชาติไทย

ต้นแบบศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติของไทย
    ด้วยมาตรฐาน และความสำเร็จที่เกิดขึ้นทำให้ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ต้องการยึด อายิโนะโมะโต๊ะ เนชันแนล เทรนนิง เซ็นเตอร์ เป็นต้นแบบในการก่อสร้างศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติของไทยในอนาคต
    โดย ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท. ที่เพิ่งพาคณะผู้บริหารเดินทางไปศึกษาดูงานที่ศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 30 ม.ค.-2 ก.พ. ที่ผ่านมา ให้เหตุผลว่า “การได้มาเยี่ยมชมศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติญี่ปุ่น ถือเป็นประโยชน์กับเราอย่างยิ่งเพราะศูนย์ฝึกแห่งนี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติ ที่ กกท. กำลังดำเนินการอยู่ โดยเฉพาะในแง่ของสถานที่ตั้งในเมือง ซึ่งมีพื้นที่จำกัด ไม่เหมือนของประเทศเกาหลีใต้ ที่มีลักษณะใหญ่ และกว้างขวาง อย่างไรก็ตาม แม้ อายิโนะโมะโต๊ะ เนชันแนล เทรนนิง เซ็นเตอร์ จะมีพื้นที่เล็กแต่ก็สามารถรองรับนักกีฬา และชนิดกีฬาได้หลายประเภท”

"อายิโนะโมะโต๊ะ เทรนนิง เซ็นเตอร์"ต้นแบบศูนย์กีฬาแห่งชาติไทย
    นอกจากนั้น “บิ๊กก้อง” ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า “ตอนนี้ศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติของไทย ยังอยู่ในช่วงนับหนึ่ง ซึ่งเราจะใช้ญี่ปุ่น ที่ทดลองผิดถูกมานานเป็นต้นแบบ ขณะนี้กำลังเสนอเรื่องผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกครั้ง และกำลังหาผู้ออกแบบก่อสร้าง คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 3-4 ปี เราคงได้ศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติที่สมบูรณ์แบบเพื่อใช้พัฒนาทัพนักกีฬาไทย”
     ด้านคุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล กรรมการโอลิมปิกระหว่างประเทศ (ไอโอซีเมมเบอร์) ที่อยู่ในคณะเดินทางครั้งนี้เช่นกัน ให้สัมภาษณ์ว่า “สิ่งที่ประทับใจจากการมาดูครั้งนี้ คือห้องโภชนาการที่ละเอียดยิบ อาหารที่นักกีฬาเลือกทาน จะมีเครื่องวัดพลังงานว่าได้กี่แคลอรี มีสารอาหารอะไรบ้าง เพื่อนำไปประมวลผลและปรับใช้ ข้อมูลเหล่านี้เป็นประโยชน์ยิ่งสำหรับเรา จากนี้เรามีโปรแกรมไปดูศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา ที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 แห่ง นอกจากเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ที่อยู่ใกล้และได้มาตรฐานที่สุดในเอเชีย อีกด้วย”

"อายิโนะโมะโต๊ะ เทรนนิง เซ็นเตอร์"ต้นแบบศูนย์กีฬาแห่งชาติไทย

"อายิโนะโมะโต๊ะ เทรนนิง เซ็นเตอร์"ต้นแบบศูนย์กีฬาแห่งชาติไทย

     ทั้งหมดที่กล่าวมาคือความสำคัญของ อายิโนะโมะโต๊ะ เนชันแนล เทรนนิง เซ็นเตอร์ ที่มีอิทธิพลต่อวงการกีฬาญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก โดยต้องมาติดตามกันว่าในอนาคต การกีฬาแห่งประเทศไทย จะสามารถสร้างศูนย์กีฬาแห่งชาติซึ่งมีเป้าหมายในการพัฒนาวงการกีฬาไทยสู่ระดับสากลเช่นเดียวกับต้นแบบหรือไม่

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ