วันนี้ในอดีต

วันนี้ในอดีต ผู้ตรวจการแผ่นดินชี้"พระธัมมชโย"ปาราชิก

วันนี้ในอดีต ผู้ตรวจการแผ่นดินชี้"พระธัมมชโย"ปาราชิก

20 ก.ค. 2560

วันนี้ในอดีต 20 ก.ค.2558 ผู้ตรวจการแผ่นดินชี้"พระธัมมชโย"ปาราชิก ตามพระลิขิตพระสังฆราชจากการเบียดบังทรัพย์สินวัดพระธรรมกาย ไปเป็นของตนเอง

            วันนี้ในอดีต 20 ก.ค. 2558  นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงผลการวินิจฉัยกรณีหลวงปู่พุทธะอิสระ และนางวิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ยื่นคำร้องขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของอดีตอัยการสูงสุด และอดีตอธิบดีกรมการศาสนาอีกรายหนึ่งว่าไม่ปฏิบัติตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชฯ ที่มีพระราชวินิจฉัยกรณีพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ถูกพนักงานสอบสวนกองปราบปรามแจ้งข้อหาเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์แต่เบียดบังทรัพย์ไปเป็นของตนเองโดยทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต  

            นายรักษเกชา กล่าวอีกว่า โดยพระลิขิตฉบับลงวันที่ 26 เม.ย. , 1 พ.ค. และ 10 พ.ค. 2542 ระบุว่า กรณีของพระธัมมชโยเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาได้ยักยอกเอาทรัพย์อันเป็นกรรมสิทธิ์ของวัดพระธรรมกายไปเป็นของตนเอง โดยนำเงินของวัดมาซื้อที่ดินหลายแปลง ต่อมาพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องพระธัมมชโยเป็นจำเลยต่อศาล จึงถือว่าพระธัมมชโยย่อมไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายศากยบุตร เปรียบเหมือนใบไม้เหี่ยวเหลืองหลุดจากขั้วแล้ว ไม่อาจเขียวสดต่อไปได้ ด้วยเหตุนี้พระธัมมชโยย่อมต้องอาบัติปาราชิกขาดจากความเป็นพระภิกษุตามพระลิขิต 

            อย่างไรก็ตามทางวัดพระธรรมกาย ได้ออกมาปฏิเสธไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินดังกล่าว โดยเห็นว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะวินิจฉัยหรือชี้เรื่องของสงฆ์ 

           ต่อมาเมื่อวันที่ 10 ก.พ.  2559 ที่ประชุมมหาเถรสมาคม (มส.)  ได้พิจารณา กรณีที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)  มีหนังสือสอบถามเรื่องการ ดำเนินการกับพระเทพญาณมหามุนี (พระธัมมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ที่ต้องอาบัติปาราชิกจาก คดียักยอกเงินและที่ดิน ตามพระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชลงวันที่ 10 พ.ค.2542

           ภายหลังการประชุม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ได้แจ้งว่า ที่ประชุม มหาเถรสมาคม ได้มีมติเรื่องดังกล่าวว่า พระธัมมชโย ไม่ต้องอาบัติปาราชิก เนื่องจาก คดียักยอกเงินและที่ดินตามพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชนั้น เรื่องได้ยุติที่ศาลชั้นต้นแล้ว รวมทั้งไม่มีการยื่นอุทธรณ์

           โดยมีรายละเอียดว่า พศ.และ มส.ได้ตอบสนองต่อพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช กรณีพระธัมมชโยอย่างเต็มที่ ซึ่งในช่วงปี 2542 - 2544 มส.ได้มีการประชุมหารือในเรื่องนี้นับ 100 ครั้ง

           ทั้งนี้การดำเนินคดีทางสงฆ์ ตามพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 หากเปรียบในคดีทางโลกจะเริ่มต้นจากศาลชั้นต้น โดยมีเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี รองเจ้าคณะภาค และเจ้าคณะภาค ร่วมกันพิจารณา ซึ่งในช่วงปี 2542 ที่มีการยื่นฟ้องคดีทางสงฆ์กล่าวหาพระธัมมชโยนั้น คณะพิจารณาของศาลชั้นต้นทางสงฆ์ไม่รับคำร้องของผู้ยื่นฟ้องคดี เนื่องจากคำร้องไม่สมบูรณ์และศาลชั้นต้นทางสงฆ์ได้เปิดโอกาสให้อุทธรณ์ภายใน 30 วัน แต่ผู้ยื่นฟ้องคดีไม่มายื่นอุทธรณ์และได้ถอนฟ้องไป 1 คน ทำให้การพิจารณาคดีในทางสงฆ์ต้องยุติลง

           ‘เมื่อคดียุติลงจึงไม่มีการพิจารณาไปถึงกระบวนการที่ชี้ชัดว่า พระธัมมชโย อาบัติ ปาราชิก หรือไม่ ดังนั้น คดีทางสงฆ์จึงไปไม่ถึงการพิจารณาในขั้นเจ้าคณะใหญ่หนกลาง และมหาเถรสมาคม