วันนี้ในอดีต ศาล รธน.วินิจฉัย‘ทักษิณ’พ้นผิด‘คดีซุกหุ้น’
วันนี้ในอดีต 3 ส.ค. 2544 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย‘ทักษิณ’พ้นผิด‘คดีซุกหุ้น’ ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองส่งผลให้ ‘ทักษิณ’ ซึ่งขณะนั้นเป็นนายกฯ เป็น‘พยัคฆ์ติดปีก'
วันนี้ในอดีต 3 ส.ค. 2544 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ พ้นผิดคดี‘ซุกหุ้น’ ด้วยมติเฉียดฉิว 8 ต่อ 7 เสียง
สำหรับ‘คดีซุกหุ้น’ เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2543 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ที่มีนายโอภาส อรุณินท์ เป็นประธาน ตัดสินด้วยคะแนน 8 ต่อ 1 ระบุว่า ‘ทักษิณ ชินวัตร ’ จงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จ และยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดตามมาตรา 295 ของรัฐธรรมนูญปี 2540 ต่อมาวันที่ 18 ม.ค. 2544 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติรับคำร้องของ ป.ป.ช. ไว้พิจารณา
จากนั้นกระบวนการไต่สวนก็ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง โดยทางฝ่าย ป.ป.ช. มีตัวแทน คือ นายกล้านรงค์ จันทิก เลขาธิการ ป.ป.ช.ในขณะนั้น ขณะที่ ‘ทักษิณ’ ต้องเปลี่ยนทนายหลายชุดเพื่อรับมือกับลีลาการซัก-ถาม ของ นายกล้านรงค์ ที่ถึงลูกถึงคน และนายกล้านรงค์ อ้างถึง การตรวจสอบของ ป.ป.ช. พบว่าระหว่างปี 2535, 2536 และ 2539 ‘ทักษิณ’ มีการโอนหุ้นในหลายบริษัทให้กับคนขับรถ แม่บ้านและคนเลี้ยงเด็กเพื่อเป็นการปกปิดอำพราง
ส่วนทางฝ่าย ‘ทักษิณ’ ต้องตั้งกระบวนท่าเพื่อรับการรุกของ ป.ป.ช. จนถึงขั้นต้องเชิญนายประสิทธิ์ ดำรงชัย หนึ่งในกรรมการ ป.ป.ช.ในขณะนั้น และกรรมการเสียงข้างน้อย ให้เข้าเป็นพยานและให้ปากคำต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสนับสนุน ‘ทักษิณ’ และยืนยันว่า ‘ทักษิณ’ไม่น่าจะจงใจปกปิดบัญชีทรัพย์สิน-หนี้สิน
กระทั่งวันที่ 18 มิ.ย. 2544 ‘ทักษิณ’ ก็ถูกแรงกดดันให้ต้องเข้าแถลงต่อศาลรัฐธรรมนูญด้วยตัวเองเกี่ยวกับคดีดังกล่าว โดย ‘ทักษิณ’ ยังยืนยันว่าการให้คนอื่นถือหุ้นแทน เป็นไปตามหลักของธุรกิจและถือเป็นเรื่องปกติ ส่วนปัญหาที่เกี่ยวกับกฎหมายนั้นก็เป็นเรื่องของ ‘แบบฟอร์ม’ การแจ้งทรัพย์สินที่ไม่ชัดเจน พร้อมกับการยกคำพูดที่ลือลั่นมาจนถึงขณะนี้ นั่นก็คือ การกระทำของตนและภรรยานั้น น่าจะถือเป็น ‘ความบกพร่องที่สุจริต’
และระหว่างที่รอศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน ก็มีกระแสกดดันต่างๆ มากมายถาโถมมาที่ศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งธงเหลือง การออกมาสนับสนุน ‘ทักษิณ’ของผู้อาวุโสของสังคม การล่าชื่อนับแสนชื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญยื้อเรื่องนี้ออกไปเพื่อช่วยเหลือ ‘ทักษิณ’ โดยเชื่อมโยงเรื่องนี้เข้ากับสถานการณ์และผลประโยชน์ของประเทศชาติ
จนมาถึงวันที่ 3 ส.ค. 2544 ซึ่งเป็นวันที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญลงมติคำวินิจฉัยกลางในคดีนี้ ผลออกมา 8 ต่อ 7 เสียง ให้‘ทักษิณ’ พ้นผิดในคดีซุกหุ้นอย่างหวุดหวิด โดยเห็นว่า ไม่ได้กระทำการปกปิดหรือยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ ตามมาตรา 295 ของรัฐธรรมนูญ
โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่วินิจฉัยว่า‘ทักษิณ’ไม่มีเจตนาปกปิดทรัพย์สิน 8 คนนั้น ประกอบด้วย นายกระมล ทองธรรมชาติ, นายอนันต์ เกตุวงศ์ ,พล.ท จุล อติเรก, นายปรีชา เฉลิมวณิชย์, นายผัน จันทรปาน, นายศักดิ์ เตชาชาญ, นายจุมพล ณ สงขลา และนายสุจินดา ยงสุนทร
ส่วนตุลาการเสียงข้างน้อย 7 คนที่วินิจฉัยว่า ‘ทักษิณ’ จงใจปกปิดบัญชีทรัพย์สินฯ ประกอบด้วย นายประเสริฐ นาสกุล, นายอมร รักษาสัตย์, นายสุจิต บุญบงการ, นายมงคล สระฏัน, นายสุวิทย์ ธีรพงษ์, นายอุระ หวังอ้อมกลาง และนายอิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ
หลังจาก‘คดีซุกหุ้น’ พ้นตัว ‘ทักษิณ’ไปแล้ว ส่งผลให้ ‘ทักษิณ’ ซึ่งขณะนั้นเป็นนายกรัฐมนตรีกลายเป็น ‘พยัคฆ์ติดปีก’ ทางการเมืองในเวลาต่อมา