วันนี้ในอดีต

วันนี้ในอดีต 10 ก.ย."วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก"

วันนี้ในอดีต 10 ก.ย."วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก"

10 ก.ย. 2560

วันนี้ในอดีต 10 ก.ย.2546 องค์การอนามัยโลก กำหนดให้วันดังกล่าวเป็น“วันป้องการการฆ่าตัวตายโลก”ขณะที่กรมสุขภาพจิตคาดปี63อัตราการฆ่าตัวตายทั่วโลกเพิ่มขึ้นเกือบ1เท่า

        "องค์การอนามัยโลก" คาดว่าในปีหนึ่งจะมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จเป็นจำนวนมากกว่า 1 ล้านคน เมื่อคิดเฉลี่ยต่อเวลาจะพบว่ามีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน ทุก 40 วินาที และการฆ่าตัวตายยังส่งผลกระทบต่อจิตใจของพ่อแม่พี่น้องสามีภรรยาและเพื่อนๆ ของผู้ตายอีกประมาณ 5-10 ล้านคน ตลอดจนมีผลมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล

        ทั้งนี้พบว่า การฆ่าตัวตายติด 10 อันดับแรกของสาเหตุการตายของประชากรโลก และติดอันดับที่ 3 ของสาเหตุการตายสำหรับประชากรวัย 15-35 ปี ผู้ชายฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าผู้หญิงถึง 3 เท่า

        องค์การอนามัยโลกประมาณว่า ผู้ทำร้ายตนเองมีจำนวนมากกว่าผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จประมาณ 10-20 เท่า จากการศึกษาพบว่าผู้ทำร้ายตนเองจะมีโอกาสทำซ้ำและประสบความสำเร็จได้ โดยมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสำเร็จในระยะหนึ่งปีหลังการทำร้ายตนเองครั้งแรกเพิ่มขึ้นเป็น 100 เท่าเมื่อเทียบกับประชากรทั่วไป และร้อยละ 10 ของผู้ทำร้ายตนเอง จะจบชีวิตลงด้วยการฆ่าตัวตายในเวลาต่อมา

         กรมสุขภาพจิต  ระบุว่า สังคมที่เร่งรีบและเต็มไปด้วยการแข่งขันเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้คนในสังคมเกิดความเครียด และนำไปสู่การคิดฆ่าตัวตาย ซึ่งสถิติการฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้น ทำให้เป็นปัญหาเร่งด่วนที่ทำให้ต้องสร้างแนวทางในการป้องกัน

       จากการเก็บข้อมูลของกรมสุขภาพจิตพบว่า การฆ่าตัวตาย ถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นทั่วโลก กว่า 800,000 คนต่อปี หรือ 11.69 ต่อประชากรแสนคน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 ล้านคนในปี พ.ศ.2563 โดยมีคนพยายามฆ่าตัวตายสูงกว่าคนที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ 20 เท่าตัว

       สำหรับไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุดในปี พ.ศ. 2544 คิดเป็น 8.2 ต่อประชากรแสนคน และลดลงต่อเนื่อง โดยในปี 2557 เหลือ 6.08 ต่อประชากรแสนคน แม้ว่าจะอยู่ในเป้าหมายที่กำหนด คือไม่เกิน 6.5 ต่อประชากรแสนคน  แต่ยังมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จปีละกว่า 3,900 คน เฉลี่ย 1 คนในทุก 2 ชั่วโมง โดยมีผู้ชายฆ่าตัวตายสูงกว่าผู้หญิง 3 เท่า และเป็นกลุ่มอายุ 35-39 ปีมากที่สุด

        ปี 2558 มีอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 6.47 ต่อแสนประชากร สูงขึ้นจากปี 2557 ที่มีอัตราอยู่ที่ 6.08 ต่อแสนประชากร เฉลี่ยเดือนละ 350 คน หรือ ทุก ๆ 2 ชั่วโมง มีคนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน ซึ่งภายใน 1 วัน จะมีคนที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ 11-12 ราย โดยผู้ชายมีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้นและสูงกว่าผู้หญิง 4 เท่า และกลุ่มที่มีแนวโน้มฆ่าตัวตายสูงคือ กลุ่มผู้ใช้แรงงานอายุ 35-39 ปี และผู้สูงอายุ 70-74 ปี

         นพ.อภิชาติ  จริยาวิลาส จิตแพทย์ กรมสุขภาพจิต ระบุว่าคน3กลุ่มที่เสี่ยงฆ่าตัวตาย มีกลุ่มคนป่วยโรคซึมเศร้า,กลุ่มคนปกติและกลุ่มติดสารเสพติด แต่พบว่ากลุ่่มแรกมีความเสี่ยงสูง ซึ่งความจริงเมื่อ 100 ปีก่อนสังคมเข้าใจว่าคนป่วยโรคซืมเศร้าเป็นพวกจิตใจอ่อนแอ แต่เมื่อการแพทย์ปัจจุบันผลวิจัยระบุชัดเกิดจากสารเคมีในสมองส่วนที่ควบคุมอารมณ์หลั่งผิดปกติ หากได้รับการดูแลจากแพทย์ด้วยการกินยาควบคู่จิตบำบัดเพียง 8 เดือนหรือ 1 ป็ก็หายได้ และไม่กลับมาป่วยอีก แต่ต้องมีวินัยและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่นำไปสู่ภาวะไม่มีทางออกในชีวิต

        จากสถิติผู้ที่อยู่ในภาวะความเครียดและกลุ่มผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่จะนำไปสู่คิดฆ่าตัวตาย โดยการฝึกสติเพื่อผ่อนคลาย การสร้างสมาธิ พยายามสำรวจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต่อจิตใจให้ห่างจากความคิดฆ่าตัวตายได้ และร่วมกันป้องกันการฆ่าตัวตายของคนใกล้ชิด โดยเฉพาะคนใกล้ตัว โดยการใส่ใจดูแล และห่วงใยกันตลอดจนให้ความรู้เพื่อสร้างความเข้าใจต่อสาเหตุของการคิดฆ่าตัวตาย เพื่อการป้องกัน ช่วยเหลือได้อย่างถูกทาง

        การเสริมสร้าง"ภูมิคุ้มกันทางจิตใจ"ให้เข้มแข็ง เป็น“ทางออก”และเป็นเกราะกำบังให้ห่างไกล“ฆ่าตัวตาย”