วันนี้ในอดีต

“เราไม่มีเวลาทะเลาะกันอีกแล้ว”

“เราไม่มีเวลาทะเลาะกันอีกแล้ว”

17 ธ.ค. 2560

 17 ธ.ค.2460 เจ้าของวันเกิด เป็นถึงนายกรัฐมนตรี คนที่ 15 ของประเทศไทย พิเศษไปกว่านั้นเป็นนายกฯที่มาจากคณะปฏิวัติ เมื่อเสร็จภารกิจก็ลาออก ตามวิถีทางประชาธิปไตย

 

   

         ใครจะคาดคิดว่า “เด็กชายสมจิตร ชมะนันทน์”เกิดเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2460 ที่ตำบลมหาชัย อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร เป็นบุตรคนที่ 5 ของนายแจ่มกับนางเจือ ชมะนันทน์ ในวันข้างเขาจะกลายมาเป็น“ผู้นำประเทศไทย”ในยุคที่บ้านเมืองมีรอยปริแยกในสังคมสูง จนยากจะสมานฉันท์ แต่เขาสามารถประสานรอยร้าวฉานในสังคมไทยได้ดี

        เด็กชายสมจิตร ชมะนันทน์ หรือ "พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์"นายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 15 เจ้าของฉายา“อินทรีบางเขน” เป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากมติของคณะปฏิวัติในปี พ.ศ. 2521 ภายใต้การนำของ“พลเรือเอกสงัด ชลออยู่”ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาล “นายธานินทร์ กรัยวิเชียร” ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่บ้านเมืองวิกฤติ เกิดความแตกแยก แบ่งเป็นฝักฝ่าย 

        ในยุคที่บ้านเมืองขาดความสงบ เกิดความแตกแยก “พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์”ถือได้ว่าเป็นผู้ที่ความสามารถประสานประโยชน์ และสร้างความสมานฉันท์ให้บ้านเมือง เนื่องจากมีนโยบายที่ประนีประนอมทุกฝ่าย ดังวลีที่ท่านได้กล่าวว่า “เราไม่มีเวลาทะเลาะกันอีกแล้ว”

       จากเหตุการณ์รัฐประหารในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 โดยคณะปฏิวัติภายใต้การนำของ “พลเรือเอกสงัด ชลออยู่” ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาล“นายธานินทร์ กรัยวิเชียร” และได้ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519 จากนั้นในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2520 จึงได้ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2520 เป็นการชั่วคราว และได้จัดตั้ง “สภานโยบายแห่งชาติ”ขึ้น จากนั้นได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง “พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์” ให้ดำรงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรีคนที่ 15 ” ของประเทศ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2520 โดยมี“พลเรือเอกสงัด ชลออยู่” เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ และยังได้รับการสนับสนุนจากคณะทหารหนุ่มหรือ กลุ่ม“ยังเติร์ก”อีกด้วย

       ว่ากันว่า สาระสำคัญในธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรพุทธศักราช 2520 ได้ประกาศนโยบายหลัก ในการปกครองประเทศที่สำคัญ คือให้มี“สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” ทำหน้าที่ “ด้านนิติบัญญัติ” และ “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร”ให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2521 เพื่อจัดให้มี“การเลือกตั้งทั่วไป” อย่างช้าที่สุดภายในเดือนเมษายน พ.ศ. 2522

       กว่า 1 ปี รัฐบาล “พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์” สมัยแรก ก็สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2521 ภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 ซึ่งเป็นไปตามที่รัฐบาลคณะปฏิวัติประกาศว่า จะให้มีการร่างรัฐธรรมนูญ และให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว แต่สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลได้แสดงให้เห็นถึงการสืบทอดอำนาจของฝ่ายทหารจนกระทั่งได้ฉายาว่า“ประชาธิปไตยครึ่งใบ”และกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป (ครั้งที่ 12) เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2522

       หลังการเลือกตั้ง ก็มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง “พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์” เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่2 เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2522 โดยมี “พลอากาศเอกหะริน หงสกุล” ประธานรัฐสภา เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

       รัฐบาลภายใต้การนำของทหาร ประสพกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ การผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก ทำให้ต้องขึ้นราคาน้ำมันภายในประเทศ ส่งผลเป็นลูกโซ่ ให้มีการปรับขึ้นราคาค่าไฟฟ้าและน้ำประปา สร้างความไม่พอใจแก่ประชาชน รัฐบาลถูกมองว่าไม่มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง มีความเคลื่อนไหวจากกลุ่มพลังนอกสภากดดันรัฐบาลอยู่ตลอดเวลา ขณะเดียวกันสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็โจมตีรัฐบาลอย่างหนัก ถึงขั้นเปิดศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล  มุ่งประเด็นความล้มเหลวในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แต่ในที่สุดด้วยเสียงที่มากกว่า รัฐบาลจึงได้รับความไว้วางใจให้บริหารประเทศต่อไปได้

       การปรับคณะรัฐมนตรีเป็นทางออกเพื่อประคับประคอง“รัฐบาล พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์”แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาหลักคือเรื่องเศรษฐกิจได้ และเมื่อมีการปรับขึ้นราคาน้ำมันในปี พ.ศ. 2523 นำมาซึ่งการประท้วงอย่างกว้างขวาง เพราะมีการมองว่ารัฐบาลผลักภาระของบริษัทน้ำมันมาให้ประชาชนแบกรับ มีการจัดชุมนุมครั้งใหญ่ที่ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 มีประชาชนเข้าร่วมชุมนุมจำนวนมาก

        ขณะที่ในสภาฯ ผู้นำพรรคการเมืองที่ประกอบด้วย “หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช” หัวหน้าพรรคกิจสังคม “พลตรีประมาณ อดิเรกสาร” หัวหน้าพรรคชาติไทย “พันเอก (พิเศษ) ถนัด คอมันตร์” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ “นายสมัคร สุนทรเวช” หัวหน้าพรรคประชากรไทย และ“พันเอกพล เริงประเสริฐวิทย์” หัวหน้าพรรคสยามประชาธิปไตย ได้ร่วมกันยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ“พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์”นายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 137 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 ต่อพลอากาศเอกหะริน หงสกุล ประธานรัฐสภา โดยมี ส.ส. ลงชื่อรับรองจำนวน 204 คน เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 โดยกำหนดการอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2523

       ต่อมาได้มีพระบรมราชโองการประกาศพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา สมัยที่สอง พ.ศ. 2523 ในวันศุกร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้แถลงชี้แจงถึงปัญหาต่างๆ ที่รัฐบาลต้องประสบจนยากที่จะบริหารงานของประเทศให้บรรลุสู่เป้าหมายได้ และได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในช่วงท้ายของการชี้แจงดังกล่าว ความว่า

       “…การขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและรัฐสภาไม่เป็นสิ่งที่ดี และเชื่อว่าไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนปรารถนา ประชาชนบางส่วนที่อยู่ในชนบทไม่สนใจว่าใครจะมาบริหารประเทศ ขอให้ท้องอิ่มก็แล้วกันแต่ความขัดแย้งก่อเกิดเพิ่มขึ้นทับทวี จนยากที่รัฐบาลจะบริหารงานของชาติให้บรรลุสู่เป้าหมายได้ฉะนั้นเพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยระบบรัฐสภา

         กระผมจึงได้ตัดสินใจดังนี้ กระผมขอลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ระบบรัฐสภาของประชาธิปไตยดำรงอยู่ตลอดไป ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้ท่านเลือกบุคคลที่มีความสามารถดีกว่า เข้ามาบริหารประเทศและรับใช้ประชาชนและประเทศชาติต่อไป ขอบพระคุณ”

         สิ้นถ้อยแถลงลาออกจากตำแหน่ง“นายกรัฐมนตรี”ของ “อินทรีบางเขน”สมาชิกรัฐสภาพร้อมใจกันปรบมือให้เกียรติดังลั่น ไปทั้งห้องประชุมสภาต่างแซ่ซ้องสรรเสริญเป็นอย่างสูงจากบุคคลต่างๆ อาทิเช่น พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้กล่าวว่า “พลเอกเกรียงศักดิ์ ได้แสดงสปิริตออกมาเป็นที่น่ายกย่อง ไม่คาดมาก่อนว่าจะแก้ปัญหาด้วยการลาออก แต่ก็เหมาะสมดีแล้ว”

         หรือที่นายประสิทธิ์ ณรงค์เดช สมาชิกพรรคเสรีธรรม กล่าวว่า “เป็นตัวอย่างที่ดี ในชีวิตนักการเมืองของผม ถือว่าเป็นการตัดสินใจของลูกผู้ชาย ซึ่งจะเป็นพื้นฐานทางด้านประชาธิปไตย ผมนะปรบมือให้ไม่หยุดเลย”

        ทว่าแนวคิดการสร้างความสมานฉันท์ของรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ช่วงระเวลา 2 ปี 4 เดือน นับว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง นับแต่นั้นเป็นต้นมาความแตกร้าวของผู้คนในสังคมไทยก็ค่อยๆ เจือจางลงไปตามกาลเวลา กลับมาสู่สังคมแห่งความสมานสามัคคีกันอีกครั้ง

         หลังจากวางมือทางการเมือง พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ประสบปัญหาทางสุขภาพ มีอาการเส้นโลหิตในสมองตีบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 จากนั้นก็รักษาตัวมาตลอด และเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2546 จนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2546 รวมอายุ 86 ปี

         ภาพจำ เจ้าของวันเกิด 17 ธ.ค.2460 นาม"พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์"ยังตราตรึงในดวงใจเมล็ดพันธุ์ประชาธิปไตยสู่รุ่นลูก รุ่นหลานที่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทย ต่างจารึกไว้ว่า"พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์"เป็นสุภาพบุรุษนักการเมือง ไม่หวงอำนาจ เจ้าของวลีเด็ด“เราไม่มีเวลาทะเลาะกันอีกแล้ว”

------//-------- 

ขอบคุณข้อมูล วิกิพีเดีย