วันนี้ในอดีต

วันประสูติ  สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอฯ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วันนี้ในอดีต

 

          วันนี้เมื่อ 62 ปีก่อน คืออีกวันมหามงคลสำคัญยิ่งของปวงชนชาวไทย นั่นคือวันประสูติ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

 

          ในการนี้ คอลัมน์วันนี้ในอดีต จึงขออันเชิญพระประวัติมานำเสนอดังต่อไปนี้

 

 

          ศาสตราจารย์ พลเอกหญิง พลเรือเอกหญิง พลอากาศเอกหญิง สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เป็นพระราชธิดาพระองค์เล็กในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรกับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นพระโสทรกนิษฐภคินีในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

         เรียงลำดับพระโอรสธิดาดังนี้

         1.ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี

         2. พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

         3.สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

         4.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี พระองค์ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม 2500 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ในพระราชวังดุสิต

 

 วันประสูติ  สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอฯ

       เพจ ตามรอยพ่อ

 

          สำหรับ พระนาม “จุฬาภรณ์” คือการอัญเชิญพระนาม “จุฬา” ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 มาเป็นคำต้นพระนามของพระองค์

 

          เนื่องด้วยในวันประสูตินั้น เป็นวันมหาปีติของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา

 

 วันประสูติ  สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอฯ

ภาพจาก  Thai Royal Family

 

          สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงเริ่มศึกษาระดับอนุบาลที่โรงเรียนจิตรลดา ทรงสนพระทัยวิชาคำนวณและวิทยาศาสตร์ ขณะเดียวกันโปรดศึกษาวิชาภาษาต่างประเทศ และวิชาศิลปะควบคู่กันไป

 

          อย่างไรก็ดี ที่สุดทรงเลือกเรียนสายวิทยาศาสตร์ ในระดับมัธยมปลาย สมดังที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเคยรับสั่งว่าทรงโปรดให้โอรสธิดาทั้ง 4 ศึกษาในแขนงวิชาต่างๆ กัน 

 

          ดังนั้น เมื่อ  สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทางศึกษาด้านอักษรศาสตร์ก่อนแล้ว จึงได้ตัดสินใจมาเรียนด้านวิทยาศาสตร์

 

          สำหรับสายสัมพันธ์พี่น้อง  สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เคยพระราชทานสัมภาษณ์นิตยสาร Secret ฉบับวันที่ 26 มิถุนายน 2555 ดังนี้

 

          “เนื่องจากข้าพเจ้าเป็นน้องคนเล็ก ก็มักจะถูกพี่แหย่ อย่างสมเด็จพระบรมฯ สมัยก่อนเวลาเดินผ่าน ท่านจะชอบแกล้งด้วยการใช้พระหัตถ์ตบ “แท็บๆ” บนศีรษะอยู่เรื่อย สำหรับสมเด็จพระเทพฯ นี่เราโตมาด้วยกัน นอนห้องเดียวกันมาตลอด จนกระทั่งโตเป็นสาวถึงได้แยกห้อง ตอนกลางคืนพอพี่เลี้ยงหลับแล้ว แต่บางทีเราสองคนยังไม่หลับ สมเด็จพระเทพฯ ก็จะเล่านิทานให้ฟัง เพราะท่านชอบเขียนเรื่องเขียนภาพอยู่แล้ว”

 

 วันประสูติ  สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอฯ

ภาพจาก สำนักข่าวเจ้าพระยา       

 

          จากนั้นเมื่อทรงสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลาย ทรงเข้าศึกษาระดับปริญญาตรีคณะวิทยาศาสตร์ สาขาอินทรีย์เคมี เกียรตินิยมอันดับ 1 จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

          ทั้งนี้ ทรงได้รับรางวัลเรียนดีตลอดระยะเวลา 4 ปีการศึกษา และทรงได้รับทุนการศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกทางวิทยาศาสตร์สาขาอินทรีย์เคมีด้วย

 

 วันประสูติ  สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอฯ

 

          ทรงได้รับ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (สาขาวิชาเคมีอินทรีย์) จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เนื่องจากทรงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้วยคะแนนยอดเยี่ยม เมื่อมีพระดำริถึงการศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดลจึงอนุมัติให้ทรงเข้าศึกษาในระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิตได้โดยไม่ต้องผ่านมหาบัณฑิตก่อน 

 

          ทรงศึกษาด้วยพระวิริยะอุตสาหะใฝ่พระทัยในการศึกษาเล่าเรียนเป็นที่ยิ่ง ทั้งที่มีพระราชกิจในฐานะสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ก็ยังเสด็จพระดำเนินไปทรงพระอักษรร่วมกับพระสหายในชั้นเรียนอย่างสม่ำเสมอ

 

          ตลอดจนทรงงานในห้องแล็บด้วยพระองค์เองอย่างไม่ทรงท้อถอย แม้จะทรงแพ้สารเคมีก็ตาม โดยทรงทำวิทยานิพนธ์เรื่อง “Part I: Constituents of Boesenbergia pandurata (yellow rhizome) (Zingiberaceae). Part II: Additions of lithio chloromethyl phenyl sulfoxide to aldimines and alpha,beta-unsaturated compounds”

 

          และได้รับพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาเคมีอินทรีย์ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2528 ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (สาขาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ) คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (หลักสูตรแบบไม่มีหน่วยกิตรายวิชา)ในปีการศึกษา 2549 จากผลงานวิจัยเรื่อง “Molecular Genetic Studies and Preliminary Culture Experiments of Scallops Bivalve: Pectinidae) in Thailand”

 

 วันประสูติ  สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอฯ

 

          และทรงได้รับ Doctor of Philosophy (Toxicology) จาก มหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

 

          ระดับหลังปริญญาเอก (Post Doctoral) ณ มหาวิทยาลัยอูล์ม ประเทศเยอรมัน เรื่อง Synthesis of Oligonucleotides Using Polymer Support and Their Applications in Genetic Engineering

 

          ปัจจุบัน ทรงศึกษาในระดับปริญญาเอก หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีการศึกษา 2560

 

          สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงมีพระธิดา 2 พระองค์ คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ และ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ

 

 วันประสูติ  สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอฯ

 

          นอกจากนี้ยังทรงเป็นเจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์ผู้มีผลงานดีเด่นของโลกในสาขาสารเคมีก่อมะเร็ง และพิษวิทยาสิ่งแวดล้อม ทรงก่อตั้งสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ขึ้นเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2530

 

          ปัจจุบันทรงเป็นองค์ประธานของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ทรงดำรงตำแหน่งนายกสภาสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการเคมีผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ และห้องปฏิบัติการสารเคมีก่อมะเร็ง และศาสตราจารย์ประจำภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

 

          สำหรับ พระอิสริยยศ มีดังนี้

 

          - สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี (4 กรกฎาคม 2500 – 5 พฤษภาคม 2562)

          - สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี[9] (5 พฤษภาคม 2562 – ปัจจุบัน)

 

          ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ