13 ส.ค.2497 "หะหยีสุหลง" พ้นโทษแล้ว หายสาบสูญ?
65 ปีที่แล้ว เงามืดในความมืดมน
ท่ามกลางฝุ่นควันคำถามช่วงนี้ เกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น ทำให้นึกถึงเรื่องราวในอดีต
คอลัมน์ วันนี้ในอดีต มีฉากหลังของการเมืองแดนใต้ยุคหนึ่งมาเล่าสู่กันฟัง ด้วยเพราะวันนี้เมื่อ 65 ปีก่อน “หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์” หรือ "หะยีสุหลง โต๊ะมีนา" หรือที่รู้จักและนิยมเรียกชื่อกันสั้น ๆ ว่า หะยีสุหลง โต๊ะอิหม่ามที่มีชื่อเสียงในอดีต เป็นผู้นำและปัญญาชนของชาวไทยมุสลิมโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
เขาได้หายสาบสูญไปพร้อมผู้ติดตามรวม 4 ชีวิต และสิ่งนี้ได้ทิ้งคำถาม ความคาใจต่างๆ ต่อผู้คน นักสิทธิมนุษยชน ว่านี่คือการกระทำของภาครัฐหรือไม่ ที่ได้ทำให้เขาหายไปอย่างไร้ร่องรอยมาจนทุกวันนี้
ประวัตินักสอน
หะยีสุหลง เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2438 ที่หมู่บ้านกำปงอาเนาะรู (หมู่บ้านลูกสน) มณฑลปัตตานี
ต่อมาได้เข้าเรียนศาสนาที่นครเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบียจนแตกฉาน ทั้งในเรื่องศาสนา ปรัชญา และภาษาทางมุสลิม ที่นั่น หะยีสุหลงได้สมรสกับภริยาคนแรก โดยที่ไม่มีบุตรด้วยกัน
ต่อมาภริยาได้เสียชีวิตลง หะยีสุหลงจึงสมรสใหม่ กับ นางคอดีเยาะห์ บุตรี มุฟตีรัฐกลันตัน (ตำแหน่งมุฟตีเทียบเท่าจุฬาราชมนตรีของประเทศไทย) ภริยาคนที่สอง
ทั้งคู่มีบุตรชายด้วยกันหนึ่งคน แต่ต่อมาบุตรชายก็เสียชีวิตลงเมื่ออายุได้ขวบเศษๆ เท่านั้น ทั้งคู่จึงตัดสินใจเดินทางกลับมายังประเทศไทย
หะยีสุหลง ตั้งใจจะกลับมาเผยแพร่ศาสนาที่มณฑลปัตตานี อันเป็นบ้านเกิด ได้เดินทางกลับมาเมื่อปี พ.ศ. 2470
ก่อนจะพบว่าชาวมุสลิมที่นั่นยังมีสภาพความเป็นอยู่ที่แร้นแค้น และนับถือภูติผีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งขัดกับหลักทางศาสนาอิสลามอย่างรุนแรง
หะหยีสุหลงเกิดเป็นแรงบันดาลใจให้ก่อตั้งโรงเรียนสอนศาสนา หรือปอเนาะขึ้นมาเป็นแห่งแรก ด้วยเงินเริ่มต้นที่รวบรวมหามาได้ 3,500 บาท
ต่อมาเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อปี พ.ศ. 2475 ในรัฐบาลที่มีพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรี หะยีสุหลงได้เดินทางเข้าสู่พระนครเพื่อขอความช่วยเหลือจากทางรัฐบาล ก็ได้เงินช่วยเหลือจากภาครัฐมาอีก 3,500 บาท รวมเป็น 7,000 บาท ปอเนาะแห่งแรกในประเทศไทยจึงถือกำเนิดขึ้นมาได้
ฉากการเมือง
หะยีสุหลง ได้เกี่ยวพันกับทางการเมืองและความขัดแย้งในพื้นที่ซึ่งมีผลกระทบต่อความมั่นคงของราชอาณาจักร เมื่อเขาขณะที่ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี เมื่อปี พ.ศ. 2490
โดยเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2490 เขาได้นำเสนอข้อเรียกร้อง 7 ข้อ ต่อรัฐบาลไทยที่มี พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์เป็นนายกรัฐมนตรี
แต่ต่อมาได้เกิดการรัฐประหารขึ้นเมื่อปลายปีเดียวกัน และได้มีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลมาเป็นขั้วของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งมีอุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างจากขั้วอำนาจเดิม
จอมพล ป.พิบูลสงคราม
เป็นอันว่าข้อเรียกร้องทั้ง 7 ข้อ ของหะยีสุหลงถูกเพ่งเล็งว่าเป็นกบฏ กระด้างกระเดื่องต่อความมั่นคงของราชอาณาจักร มีดังนี้
1. ขอให้แต่งตั้งบุคคลคนหนึ่งซึ่งมีอำนาจเต็มมาปกครองใน 4 จังหวัด คือ จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล ให้มีอำนาจที่จะปลด ระงับ หรือโยกย้ายข้าราชการได้ บุคคลผู้นี้จักต้องถือกำเนิดในจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งของ 4 จังหวัด และจักต้องได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชนใน 4 จังหวัดนั้น
2. ข้าราชการใน 4 จังหวัดจักต้องเป็นมุสลิมจำนวน 80 % 3. ให้ใช้ภาษามลายูและภาษาไทยเป็นภาษาราชการของ 4 จังหวัด
4. ให้ภาษามลายูเป็นภาษากลางของการสอนในโรงเรียนชั้นประถมศึกษา 5. ให้ใช้กฎหมายมุสลิมในศาลศาสนา แยกออกไปจากศาลจังหวัดซึ่งเคยมีผู้พิพากษามุสลิม (KATH) นั่งพิจารณาร่วมด้วย
6. ภาษีเงินได้และภาษีทั้งปวงที่เก็บจากประชาชนใน 4 จังหวัดจักต้องใช้จ่ายเฉพาะใน 4 จังหวัดนั้น
7. ให้จัดตั้งคณะกรรมการมุสลิมมีอำนาจเต็มในการดำเนินการเกี่ยวกับคนมุสลิมทุกเรื่อง โดยให้อยู่ในอำนาจสูงสุดของผู้นำตามข้อ 1.
อย่างไรก็ดี ข้อเรียกร้องได้รับการปฏิเสธ ส่งผลให้หะยีสุหลงยกระดับการกดดันรัฐบาลด้วยการรวมตัวชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาล อย่างไรก็ดีเขาระบุว่าไม่ได้มีความประสงค์ที่จะแยกตัวออกจากประเทศไทย
แต่มันก็ไม่เป็นผล เพระทางการได้จับกุมเขา และถูกตัดสินให้จำคุก โทษฐานกล่าวร้ายรัฐบาลในเอกสารที่แจกจ่ายยังประชาชนในท้องถิ่น ส่วนโทษฐานแบ่งแยกดินแดน ศาลพิจารณาให้ยก
แต่เนื่องจากหะยีสุหลงให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีจึงลดโทษเหลือ 4 ปี 8 เดือน
พ้นโทษ ไม่พ้นทัณฑ์?
จนกระทั่งผ่านไป 4 ปี 6 เดือน ในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2495 หะยีสุหลงได้รับการปล่อยตัวก่อนกำหนด 2 เดือน แต่ประวัติศาสตร์จารึกว่า แม้เขาพ้นโทษออกมา แต่ก็ยังถูกคุกคามจากทางอำนาจรัฐ พูดง่ายๆ ว่าถูกจับตาทุกฝีก้าวราวกับว่าโทษของเขายังไม่หมด
กล่าวคือ ฉากหลังจากเขาพ้นโทษออกมา หะยีสุหลงก็ได้เดินทางกลับปัตตานี และทำหน้าที่สอนหนังสือต่อไป จะด้วยเหตุอันใดก็ตาม ปรากฏว่าการสอนหนังสือของหะยีสุหลงเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนมาก
ในเนื้อหาจากหนังสือประวัติศาสตร์ปัตตานี ระบุตอนหนึ่งว่า “การสอนของเขามีคนมาฟังจำนวนมาก ในวันที่เขาทำการสอน ตัวเมืองปัตตานีจะเต็มไปด้วยผู้คน ส่วนรถราติดบนท้องถนน บรรดาผู้เข้าฟังกล่าวกันว่ามีที่มาไกลถึงยะหริ่งและปาลัส (อำเภอทางด้านทิศตะวันตกของปัตตานี) และบ่อทอง หนอกจิก (อำเภอทางด้านทิศเหนือของปัตตานี)”
ศุกร์ 13 ที่ว่าวันร้าย ก็เลวร้ายจริงๆ สำหรับหะหยีสุหลงและพวก เพราะในเช้าตรู่ของวันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2497 หลังจากเสร็จจากละหมาดในตอนเช้าแล้ว หะยีสุหลงพร้อมกับ อาหมัด โต๊ะมีนา บุตรชายคนโตวัย 15 ปี ซึ่งทำหน้าที่เป็นล่ามภาษาไทย เนื่องจากหะยีสุหลงไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ ได้เดินทางออกจากบ้านพักส่วนตัวที่จังหวัดปัตตานี
พวกเขา พร้อมด้วยพรรคพวกอีก 2 คน คือ แวสะแม มูฮัมหมัด และเจ๊ะสาเฮาะ ยูโซ๊ะ รวมเป็น 4 คน ได้ไปตามคำเชิญของเจ้าหน้าที่ซึ่งเชิญเขาไปพบที่กองบัญชาการตำรวจสันติบาลที่สงขลา ก่อนที่จะไม่มีใครเห็นพวกเขาอีกเลย
ถูกบังคับให้สาบสูญ?
ช่วงหนึ่งในอดีต เมืองไทยมีกรณีการหายสาบสูญที่เชื่อได้ว่าเป็น ‘การถูกบังคับให้สาบสูญ’ หรือ forced disappearance (หรือ enforced disappearance) ในหลายกรณี พูดภาษาชาวบ้านคือ “อุ้มหาย” และกรณีของหะหยีสุหลง ก็เชื่อว่าเป็นเช่นนั้น
ตลอดเวลา ผู้คน นักสิทธิมนุษยชน สื่อมวลชน ต่างเชื่อว่าทั้งหมดถูกฆาตกรรมทางการเมืองด้วยฝีมือของภาครัฐ หรือโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ
โดยขณะนั้นตำรวจไทย อยู่ภายใต้การบัญชาการของ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้ที่รับรู้กันว่าเป็นเสมือนมือขวาสำคัญของจอมพล ป. นายกรัฐมนตรี
พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์
เรื่องราวการหายตัวไปของหะยีสุหลงเป็นข่าวอย่างครึกโครม โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไปจนถึงมาเลเซียและสิงคโปร์
ทางครอบครัว ภริยาและนายเด่น โต๊ะมีนาบุตรชายของหะยีสุหลงได้พยายามตามหาพวกเขาไปทั่ว ทั้งยังเดินทางเข้าสู่พระนครเพื่อติดตามเรื่องราว
จนกระทั่งพวกเขาเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ในวันที่ 13 เมษายน พ.ศ.2498 เพื่อขอความช่วยเหลือจากท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ภรรยาของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี
ข้อมูลตรงนี้มีสองส่วน คือ ทางหนึ่งระบุว่า ไม่ว่าครอบครัวได้ประกาศจะจ่ายเงินรางวัลหนึ่งหมื่นบาทให้แก่ผู้ที่แจ้งที่อยู่หรือหาตัวหะยีสุหลงพบ แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นผล ครอบครัวของหะยีสุหลงจึงต้องตัดใจยุติการค้นหา
ขณะที่อีกทางหนึ่งระบุว่า ภายหลังพวกเขาได้รับทราบจากปากคำของ ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ภริยาของจอมพล ป. เพียงว่าเป็นการฆาตกรรมทางการเมืองโดยบุคคลของภาครัฐเอง (วิกิพีเดีย)
ความจริงความเล่า?
ข้อมูลจากวิกิพีเดียระบุว่า จนกระทั่งมีการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2500 รัฐบาลได้เปลี่ยนขั้วอีกครั้งมาเป็น จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้มีการรื้อฟื้นคดีนี้ขึ้นมาอีกครั้ง โดยมี พลตำรวจตรี ฉัตร หนุนภักดี เป็นประธาน
หากแต่ฝ่ายทางด้านของ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ได้ลี้ภัยการเมืองไปอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และ ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคหัวใจวายเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2503 ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สิริอายุ 52 ปี
ส่วนเรื่องราวของ หะหยีสุหลง มีข้อมูลยังระบุว่า ในที่สุดนายตำรวจผู้ที่ลงมือในการฆาตกรรมครั้งนี้ก็รับสารภาพว่าได้สังหารบุคคลทั้ง 4 ในบังกะโลริมทะเลสาบสงขลาจากคำสั่งโดยตรงทางโทรศัพท์จากคนในรัฐบาลในขณะนั้น ผ่านทางผู้บังคับการตำรวจจังหวัดสงขลา
วิธีการคงไม่ต้องอธิบายแต่พวกเขาถูกทำให้หายไปในทะเลสาบสงขลา ใกล้กับเกาะหนู เกาะแมว
จนเมื่อทุกอย่างกระจ่างได้มีการส่งนักประดาน้ำลงไปงมหาศพ แต่ด้วยระยะเวลาที่ผ่านไปหลายปีจากที่เกิดเหตุ ทำให้ไม่พบศพหรือเศษซากใดๆ อีกแล้ว
ความจริงแท้ที่สุดในเช้าวันศุกร์ที่ 13 เมื่อ 65 ปีก่อนจะเป็นเช่นไร แต่ความเชื่อในใจหลายๆ คนคือหะยีสุหลงก็เป็นเหยื่อของการฆาตกรรมทางการเมืองเช่นเดียวกับบุคคลอื่นในยุคนั้น
********************////*******************