วันนี้ในอดีต

16 ส.ค.2488 ไทยประกาศสันติภาพ โดยเสรีไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วันนี้เมื่อ 74 ปีก่อน ฉากหลังแห่งสงครามโลกครั้งที่ 2

 

คนไทยอาจพอจะทราบกันว่าวันนี้คือ “วันสันติภาพไทย” แต่น้อยอาจจะยังไม่ทราบมาก่อนว่าวันสันติภาพไทยมีที่มาและความสำคัญอย่างไร

 

ข้อมูลจาก สถาบันพระปกเกล้า เรียบเรียงโดย ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร  ระบุว่าวันนี้เมื่อ 74 ปีก่อน เป็นวันที่ประเทศไทย ประกาศสันติภาพ

 

ทั้งนี้ประเทศไทยได้เข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สองเมื่อ พ.ศ. 2485 โดยรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม ดังนั้นในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488 ประเทศไทยก็ได้ประกาศสันติภาพ โดยมีพระบรมราชโองการในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488

 

 

16 ส.ค.2488  ไทยประกาศสันติภาพ  โดยเสรีไทย

จอมพล ป.พิบูลสงคราม

 

 

ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร ระบุว่า มีคนบอกว่าเวลานึกถึงวันสันติภาพ 16 สิงหาคม ก็เท่ากับนึกถึงงานของขบวนการเสรีไทยซึ่งก็เป็นการดี

 

เพราะเท่ากับได้ระลึกถึงงานที่มีคุณต่อแผ่นดินของคณะบุคคลไทยกลุ่มหนึ่ง ซึ่งร่วมกันทำงานให้ประเทศชาติ ยอมลดละความขัดแย้งที่เคยมีอยู่เดิม เข้าร่วมมือกันต่อต้านศัตรูต่างชาติ

 

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ประเทศไทยได้เข้าสงครามโลกโดยไปประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ และร่วมรบกับญี่ปุ่น จนทำให้คนไทยทั้งในและนอกประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลในการประกาศสงครามคราวนั้นได้ร่วมใจกันตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้น ทำงานใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่น

 

 

16 ส.ค.2488  ไทยประกาศสันติภาพ  โดยเสรีไทย

โปสเตอร์โฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลไทยในสงครามโลกครั้งที่สอง เผยแพร่โดยกรมโฆษณาการ

 

 

โดยมีบุคคลสำคัญที่มีชื่อเสียงของไทยหลายคน ทั้งที่มีตำแหน่งในราชการและนอกราชการเข้าร่วมงานช่วยชาติอย่างจริงจัง

 

แต่เมื่อเวลาล่วงเลยมาประมาณ 3 ปี สถานการณ์สงครามปรากฏว่าฝ่ายอักษะที่มีเยอรมันในยุโรปกับญี่ปุ่นในเอเชียเป็นผู้นำ ก็เป็นฝ่ายที่เริ่มพ่ายแพ้มาตามลำดับ

 

 

ในวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2488 กองทัพเยอรมนีและฝ่ายสนับสนุนในยุโรปก็ได้ ประกาศยอมแพ้ต่อกองทัพฝ่ายพันธมิตร

 

สามเดือนถัดมา หลังจากเครื่องบินสหรัฐได้ทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรซิมาและนางาซากิของญี่ปุ่น กองทัพของ “ลูกพระอาทิตย์” คือ ญี่ปุ่นก็ประกาศยอมแพ้ในวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2488

 

 

16 ส.ค.2488  ไทยประกาศสันติภาพ  โดยเสรีไทย

มาโมรุ ชิเงะมิตสึ รัฐมนตรีต่างประเทศของญี่ปุ่น ลงนามตราสารยอมจำนนของญี่ปุ่น บนเรือยูเอสเอส มิสซูรี(BB-63) ขณะที่พลเอก ริชาร์ด เค. ซูเธอร์แลนด์ มองจากฝั่งตรงข้าม

 

 

ประเทศไทยนั้นทางฝ่ายผู้นำทางการเมืองและผู้นำขบวนการเสรีไทยก็มิได้นิ่งนอนใจ ได้ปรึกษาหารือกันและดำเนินการเพื่อให้ประเทศไทยพ้น “มรสุมสงครามโลก” และให้ประชาชาติอยู่รอดปลอดภัย เป็นการเตรียมการและเตรียมตัวปฏิบัติการอย่างเร่งด่วน

 

วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 นั้นประธานสภาผู้แทนราษฎรได้นัดประชุมสภาเป็นนัดพิเศษ ที่เลื่อนมาจากการประชุมในวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2488

 

แต่เมื่อถึงเวลาประชุมแล้วก็ยังต้องรอ “เรื่องที่จำเป็นและสำคัญที่สุด” ดังที่ ประเสริฐ ปัทมสุคนธ์ บันทึกเล่าเอาไว้ให้อ่านว่า “...เมื่อถึงเวลาประชุมแล้ว เรื่องสำคัญดังกล่าวก็ยังไม่มาประธานจึงแจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ขอให้สมาชิกพักประชุม...

 

เมื่อการดำเนินงานของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์กับรัฐบาลได้สำเร็จลงแล้ว ประธานสภาจึงเรียกประชุม และได้อ่านประกาศพระบรมราชโองการประกาศสันติภาพ เสนอต่อที่ประชุม...”

 

ทั้งนี้ ข้อมูลจากแหล่งอื่น ยังระบุเพิ่มเติมว่า เหตุการณ์นี้ ปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทย ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 ได้ออกประกาศสันติภาพในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ให้การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 เป็นโมฆะ

 

16 ส.ค.2488  ไทยประกาศสันติภาพ  โดยเสรีไทย

ปรีดี พนมยงค์

 

 

เนื่องจากเป็นการกระทำอันขัดต่อเจตจำนงของประชาชนและขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งประชาชนชาวไทยทั้งในและนอกประเทศได้ร่วมกันแสดงเจตจำนงไม่ยอมรับคำประกาศดังกล่าว ด้วยการจัดตั้ง "ขบวนการเสรีไทย" ช่วยเหลือฝ่ายสัมพันธมิตรในการต่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่นที่ยึดครองประเทศไทยอยู่ในระหว่างสงคราม (ตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484)

 

โดยที่ประเทศไทยประกาศว่าจะร่วมมือเต็มที่ทุกทางกับสหประชาชาติในการสถาปนาเสถียรภาพในโลกนี้ ประกาศสันติภาพนี้มีนายทวี บุณยเกตุ รัฐมนตรี เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

 

สำหรับ ประกาศสันติภาพในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 มีใจความสำคัญดังนี้

 

“โดยที่ประเทศไทยได้เคยถือนโยบายอันแน่วแน่ที่จะรักษาความเป็นกลางอย่างเคร่งครัด และจะต่อสู้การรุนรานของต่างประเทศทุกวิถีทาง...ในเมื่อญี่ปุ่นได้ยาตราทัพเข้าในดินแดนประเทศไทย ในวันที่ 8 ธันวาคม พุทธศักราช 2484 โดยได้มีการต่อสู้การรุกราน ทุกแห่ง และทหาร ตำรวจ ประชาชน พลเมือง ได้เสียชีวิตไปในการนี้เป็นอันมาก...”

 

บัดนี้ประเทศญี่ปุ่นได้ยอมปฏิบัติตามคำประกาศของสหรัฐอเมริกา บริเตนใหญ่ จีน และสหภาพโซเวียต ซึ่งได้กระทำ ณ นครปอตสดัม แล้วสันติภาพจึงกลับคืนมาสู่ประเทศไทย อันเป็นตามประสงค์ของประชาชนชาวไทย

 

ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงขอประกาศโดยเปิดเผยแทนประชาชนชาวไทยว่า การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่เป็นโมฆะไม่ผูกพันประชาชนชาวไทย

 

เขาว่ากันว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหลายมิได้คาดคิดว่าจะมีประกาศออกมาเช่นนั้น แต่เมื่อได้ทราบก็ได้มีมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์

 

นับว่าเป็นสิ่งที่น่าสังเกต จึงอยากจะยกข้อความที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้กล่าวต่อที่ประชุมสภามาให้อ่าน เพราะมิได้มีการกล่าวถึงกันมากนัก

 

“บัดนี้ท่านสมาชิกทั้งหลายได้ลงมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบด้วยประกาศสันติภาพแล้ว เป็นการแสดงให้โลกเห็นถึงเจตนาอันแท้จริงของคนไทยที่รักสงบ ไม่เป็นผู้ก้าวร้าว และเสียสละ ป้องกันการรุกรานสงครามที่ได้เข้ามาสู่ประเทศไทย ไม่เป็นสิ่งที่ประชาชนชาวไทยปรารถนา

 

ประธานสภาและสมาชิกทั้งหลายคงระลึกกันได้ดีว่า เมื่อมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 9 ธันวาคม 2484อภิปรายถึงการที่สงครามได้เข้ามาสู่ประเทศไทย สมาชิกทั้งหลายได้แสดงให้เห็นเด่นชัดแล้วว่าไม่พอใจ อันเป็นภาพที่ยังจารึกอยู่ไม่มีวันลืม ประกาศสันติภาพจึงเป็นสิ่งที่ถูกต้อง”

 

สันติภาพเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา แต่ไม่ต้องมีประกาศกันบ่อย ๆ ก็ดี เพราะถ้ามีประกาศสันติภาพก็หมายความว่าได้มีสงครามเสียก่อน สันติภาพจึงจะตามมาทีหลัง

 

อนึ่งทุกวันนี้เมื่อถึงวันที่ 16 สิงหาคม องค์การ สถาบันต่างก็จะมีการรำลึกถึงวันนี้ และให้ความสำคัญกับบทบาทของขบวนการเสรีไทยอย่างมาก

 

โดยเฉพาะที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะมีการจัดงาน "วันสันติภาพไทย" เป็นประจำทุกปี ในฐานะที่เป็นวันสําคัญของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และรําลึกถึงคุณูปการของผู้เข้าร่วมในขบวนการเสรีไทยและสร้างทัศนคติของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติบนความแตกต่างทางความ คิด เชื้อชาติ วัฒนธรรมและความเชื่อ

 

 

16 ส.ค.2488  ไทยประกาศสันติภาพ  โดยเสรีไทย

ขอบคุณภาพจาก เฟซบุ๊ก http://Thammasat University

 


ปีนี้ ก็ยังคงจัดในชื่องานว่า  "ครบรอบ 74 ปี วันสันติภาพไทย" โดยจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม 2562 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ตั้งแต่เวลา 08.30 - 12.00 น.

 

 

********************///*******************

 

ขอบคุณข้อมูลจาก 

สถาบันพระปกเกล้า เรียบเรียงโดยศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร

Thammasat University

และภาพจาก วิกิพีเดีย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ