วันนี้ในอดีต

20 ส.ค.2553 ปิดฉากเจ้าตำนานขวาพิฆาตซ้าย ประมาณ อดิเรกสาร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วันนี้เมื่อ 9 ปีก่อน สิ้น ประมาณ อดิเรกสาร เก๋าการเมืองคนหนึ่งของประเทศไทย

 

***************************

 

ฉากชีวิตของคนชื่อ ประมาณ อดิเรกสาร เป็นช่วงชีวิตอันยาวนานด้วยผ่านเรื่องราวมาอย่างอัดแน่น โชกโชน ซับซ้อน รุ่งเรือง ร่วงโรย และอื่นๆ อีกมากมาย ตามแต่มุมมองของแต่ละคนจะสรรหาคำนิยาม

 

หากแต่วันนี้เมื่อ 9 ปีก่อน ตรงกับวันที่ 20 สิงหาคม 2553 คือวันที่ลมหายใจของเขาหมดลง ด้วยวัย 96 ปี

 

แต่เรื่องราวหนหลังยังคงจารึกจดจำในโลกการเมืองของบ้านนี้เมืองนี้ โดยเฉพาะแนวทาง “ขวาพิฆาตซ้าย” ของอดีตนักการเมืองรุ่นลายครามผู้นี้ เสมือนหนึ่งว่ามันไม่เคยจบ

 

 

20 ส.ค.2553  ปิดฉากเจ้าตำนานขวาพิฆาตซ้าย ประมาณ อดิเรกสาร

 

ฉากชีวิตคนสำคัญ

 

พลตำรวจเอกประมาณ อดิเรกสาร  เกิดเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2456 ที่ตำบลปากเพรียว อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี

 

เป็นบุตรของนายเน้ย และนางจี้ อดิเรกสาร มีพี่น้อง คือ คุณหญิงสอาด ปุณณกันต์ (2449-2525) นางสาวตวงพร อดิเรกสาร (ถึงแก่กรรมเมื่อ 2546) และตนเองคือน้องคนเล็ก

 

ทางด้านของบิดาของท่าน มีอาชีพค้าขาย แต่ท่านกำพร้าบิดาตั้งแต่ท่านยังเด็กมาก ทำให้เดิมทีท่านจึงร่ำเรียนที่บ้านเกิด อย่างโรงเรียนชายประจำจังหวัดสระบุรี แต่พอจบ ม. 3 จึงเข้ามาเรียนในโรงเรียนหลวงที่ดังอีกแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ คือโรงเรียนเทพศิรินทร์

 

จากนั้นไปจบที่และโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รับราชการเป็นนายทหารปืนใหญ่ กองทัพบก ลพบุรี ยศสูงสุดเป็นพลตรี ตอนยศพันตรีท่านเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ หรือ องค์การ ร.ส.พ.นั่นเอง คงยังพอจำกันได้

 

 

20 ส.ค.2553  ปิดฉากเจ้าตำนานขวาพิฆาตซ้าย ประมาณ อดิเรกสาร

 

 

ในเส้นทางการเมืองนั้น ท่านผ่านตำแหน่งสำคัญมามากมายหลายรัฐบาล แถมยังได้รับพระราชทานยศ นายกองใหญ่แห่งกองอาสารักษาดินแดนเป็น พลเอก พลตำรวจเอก นายกองใหญ่ ประมาณ อดิเรกสาร เมื่อ ปี 2531 จากนั้นได้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศเป็น พลตำรวจเอก เป็นกรณีพิเศษเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2532 ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

 

จนกระทั่งวันที่ 12 ธันวาคม 2533 พลตรีประมาณได้รับโปรดเกล้า ฯ พระราชทานยศ พลเอก เป็นกรณีพิเศษ

 

พลตำรวจเอกประมาณ สมรสตั้งแต่ยังมียศร้อยเอก กับท่านผู้หญิงเจริญ อดิเรกสาร (ชุณหะวัณ) บุตรีของนายทหารบก “ผิน ชุณหะวัณ” ซึ่งต่อมาคือจอมพล ผิน ผู้มีบทบาทมากคนหนึ่งในวงการทหารและการเมืองไทย เป็นหัวหน้ากลุ่มการเมืองสำคัญที่มีบทบาทอยู่นานในการเมืองไทยที่เรียกกันว่า “กลุ่มราชครู”

 

ทั้งนี้ ทั้งนี้พลตำรวจเอกประมาณ กับท่านผู้หญิงเจริญ อดิเรกสาร (ชุณหะวัณ) มีบุตรชายรวมกัน 3 คน คือ ปองพล อดิเรกสาร, ยงยศ อดิเรกสาร และ วีระพล อดิเรกสาร

 

นอกจากนี้ ท่านยังเป็นผู้บุกเบิกวงการอุตสาหกรรม ด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอของไทย และเคยได้รับการเลือกตั้งให้เป็นนายกสมาคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ปัจจุบันคือ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย)

 

แน่นอนด้วยบทบาทต่างๆ ของท่านในทางการเมืองต้องบอกว่าเข้มข้นอย่างถึงขีดสุดคนหนึ่ง โดยเฉพาะบทบาทสำคัญที่พรรคชาติไทย กลุ่มราชครูและการเกี่ยวข้องกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองยุคหนึ่ง

 

 

ทหารกับการเมือง

 

จากข้อมูลที่เรียบเรียงโดย ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร ในเวบไซต์สถาบันพระปกเกล้า เล่าถึงว่าพลตำรวจเอก ประมาณ อดิเรกสาร ในเส้นทางการเมืองของท่านนั้น เรียกว่ามาจากนายทหารอาชีพผู้เข้าสู่วงจรการเมืองไทย ด้วยการเป็นหนึ่งในนายทหารที่เข้าร่วมในคณะรัฐประหาร เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490

 

และคณะรัฐประหาร ก็นำโดยพ่อตาท่านนั่นเอง คือ พลโท ผิน ชุณหะวัณ โดยตอนนั้น ท่านประมาณ อดิเรากสาร มียศพันตรีแล้ว

 

การยึดอำนาจครั้งนั้นคือการ ล้มรัฐบาลของ พลเรือตรี หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ช่วงนั้นเอง ที่ท่านได้รับฉายาจากสื่อมวลชนว่า “บุรุษผู้รักชาติจนน้ำตาไหล” หรือ“วีรบุรุษเจ้าน้ำตา” เนื่องจากให้สัมภาษณ์ในเหตุการณ์รัฐประหารครั้งนั้นว่า ทำไปเพราะรักชาติ และทุกครั้งที่กล่าวถึงเรื่องนี้ก็มักน้ำตาไหลด้วยความตื้นตันเสมอ

 

ทั้งนี้ การทำรัฐประหารครั้งนั้น พลโท ผิน ชุณหะวัณ บอกว่ามีความประสงค์อันแน่วแน่ ที่จะให้จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ทุกอย่างดูเป็นธรรม

 

 

20 ส.ค.2553  ปิดฉากเจ้าตำนานขวาพิฆาตซ้าย ประมาณ อดิเรกสาร

พลโท ผิน ชุณหะวัณ 

อ่าน https://www.komchadluek.net/news/today-in-history/373329

 

 

แต่ท่าน ประมาณ อดิเรกสาร เองก็มีตำแหน่งอยู่มากมายช่วงนั้น (แต่เมืองไทยก็อุตส่าห์มีเลือกตั้งหนหนึ่งได้ ควง อภัยวงศ์เป็นนายกฯ แต่เป็นอยู่ 3 เดือน ก็ถูกยึดอำนาจอีก) ทั้งยังตั้งกลุ่มซอยราชครูขึ้นมา ที่ต้องเน้นคือ พลังอำนาจของสมาชิกกลุ่มราชครูในการเมืองไทยช่วงนั้นก็แน่นปึ๊ก!

 

จนกระทั่งวันที่ 29 พฤศจิกายน 2494 มีการยึดอำนาจซ้ำของคณะ 9 นายทหาร นำโดย พลเอก ผิน ชุณหะวัณ, พลโท เดช เดชประดิยุทธ, พลโท สฤษดิ์ ธนะรัชต์, พลเรือตรี หลวงยุทธศาสตร์ โกศล, พลเรือตรีหลวงชำนาญ อรรถยุทธ, พลเรือตรี สุนทร สุนทรนาวิน, พลอากาศเอก พื้น รณภากาศ ฤทธาคณี, พลอากาศโทหลวงเชิด วุฒากาศ และพลอากาศโทหลวงปรุง ปรีชากาศ

 

พวกเขาได้เรียกตัวเองว่า “คณะบริหารประเทศชั่วคราว” ได้ยึดอำนาจล้มรัฐบาลจอม พล ป.พิบูลสงครามของพวกตัวเอง และล้มรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ในขณะนั้น

 

คนไทยอาจจะงงๆ แต่การเมืองไทยอะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น โดยครั้งนั้นแม้ว่ารัฐบาลถูกล้มไป แต่หลังการยึดอำนาจแล้ว ก็ตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้นมาใหม่ โดยมีจอมพล ป.พิบูลสงคราม คนเดียวกันมาเป็นนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลชั่วคราวอีก นั่นแหละ!!

 

หันมาข้าง ประมาณ อดิเรกสาร ซึ่งเวลานั้นมียศเป็นพันเอก คราวนี้ท่านก็ได้เป็นรัฐมนตรีครั้งแรกในชีวิต เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2494 ในเก้าอี้เจ้ากระทรวงคมนาคม

 

 

นักการเมืองเต็มตัว

 

ในปีถัดมา ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญ 2495 อันเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2475 บ้านเมืองจึงมีการเลือกตั้งทั่วไป

 

คราวนี้พันเอก ประมาณ ได้ลาออกจากการเป็นทหารเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎร เวลานั้น ท่านยังหนุ่มแน่นมีอายุเพียง 38 ปี

 

 

20 ส.ค.2553  ปิดฉากเจ้าตำนานขวาพิฆาตซ้าย ประมาณ อดิเรกสาร

พลเอกประมาณ อดิเรกสาร วัยหนุ่ม

 

 

และแน่นอนท่านลงสมัครเข้ารับเลือกตั้งที่จังหวัดสระบุรีบ้านเกิด ว่ากันว่าเมืองนี้ก็ถือว่าเป็นเมืองทหาร มีหน่วยทหารสำคัญตั้งอยู่

 

แต่เหตุผลอีกอย่างหนึ่งในบทความของ ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร เล่าว่า ที่ท่านตัดสินใจลงสมัครที่สระบุรี ก็เพราะท่านต้องการแข่งขันกับนักการเมืองชื่อดัง ที่เป็นอดีตนายทหาร ซึ่งเป็นรัฐมนตรีมาแล้วอย่างพันโทประเสริฐ สุดบรรทัด

 

แล้วท่านก็ทำสำเร็จ สามารถชนะเลือกตั้ง แถมยังได้ทำงานกับ นายกฯ คนเก่า คือหลวงพิบูลสงคราม อีกด้วยในตำแหน่งเดิมคือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ช่วงเดือนมีนาคม 2495

 

 

20 ส.ค.2553  ปิดฉากเจ้าตำนานขวาพิฆาตซ้าย ประมาณ อดิเรกสาร

หลวงพิบูลสงคราม

 

 

อีกปีถัดมาท่านก็ย้ายกระทรวงมาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และต่อเนื่องมาจนถึงปี 2499 ก็ได้ขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายใต้เงาอำนาจของกลุ่มการเมือง “ราชครู” ของพ่อตา และ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ “เขยใหญ่” ของจอมพล ผิน กำลังมีอำนาจและวาสนามาก

 

ต่อมาในการเลือกตั้งวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 ที่เรียกกันว่า “การเลือกตั้งกึ่งพุทธกาล” พลตรี ประมาณ อดิเรกสาร ซึ่งตอนนี้สังกัดพรรคเสรีมนังคศิลา ก็ลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้งในพื้นที่เดิม

 

โดยพรรคการเมืองนี้เป็นพรรครัฐบาลที่ยังมีคนหน้าเดิม อย่าง จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นหัวหน้า มีจอมพล ผินเป็นรองหัวหน้าพรรค และมี พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ เป็นเลขาธิการพรรค

 

 

20 ส.ค.2553  ปิดฉากเจ้าตำนานขวาพิฆาตซ้าย ประมาณ อดิเรกสาร

พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์

 

 

ปรากฏว่าพลตรี ประมาณชนะเลือกตั้ง หลังการเลือกตั้งมีการตั้งรัฐบาล จอมพล ป. ก็กลับมาเป็นนายกฯ อีก และพลตรี ประมาณก็กลับมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเหมือนเดิม

 

หากแต่หนนี้คนไทย “เดจาวู” ได้ไม่นาน ที่สุดกลางดึกคืนวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2500 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้นำคณะทหารเข้ายึดอำนาจล้มรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงครามลงได้

 

ครั้งนี้ ได้ทำให้อำนาจของกลุ่มราชครูหมดสิ้นลง และผู้นำแท้จริงของกลุ่มคือ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ถูกบีบให้เดินทางอย่างกะทันหัน ไปลี้ภัยการเมืองอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทั้งพลจัตวา ชาติชาย ชุณหะวัณ บุตรชายของจอมพล ผิน ก็ถูกส่งออกไปเป็นทูตอยู่ไกลถึงประเทศอาร์เจนตินา

 

 

เก๋าเกม

 

แม้ฉากการเมืองพลิก แต่ พลตรี ประมาณ อดิเรกสาร ก็ยังได้ไปต่อ เพียงแต่พ้นตำแหน่งผู้แทนราษฎร ท่านรอคอยจนมีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน และยังคงลงเลือกตั้งที่สระบุรี และสังกัดพรรคเสรีมนังคศิลาที่เดิม ก็ยังสามารถชนะเลือกตั้งมาได้อีกครั้ง

 

พียงแต่คราวนี้ ได้ทำงานในสภาแป๊บเดียว พอวันที่ 20 ตุลาคม 2501 จอมพล สฤษดิ์ ก็ยึดอำนาจซ้ำอีกครั้ง คราวนี้เรียกว่า“ปฏิวัติ” ต้องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จึงตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้น

 

 

20 ส.ค.2553  ปิดฉากเจ้าตำนานขวาพิฆาตซ้าย ประมาณ อดิเรกสาร

อ่าน https://www.komchadluek.net/news/today-in-history/299527

 

 

พลตรี ประมาณ ไม่เรียกเก๋าๆ ยังไงไหว เพราะท่านยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญด้วยคนหนึ่ง หากแต่ทางหนึ่ง พลโท พงษ์ ปุณณกันต์ สามีของคุณหญิงสอาด (พี่สาวคนโตของท่าน) ก็ไม่ใช่ใครอื่น แต่ก็เป็นรัฐมนตรีอยู่ในรัฐบาลของจอมพล สฤษดิ์ นั่นแหละ

 

ที่สุด การเมืองไทยผ่านมาจนมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2511 และมีการเลือกตั้งใหม่ แม้หนนี้พลตรีประมาณไม่ได้กลับมาลงเลือกตั้ง แต่เมื่อจอมพล ถนอมยึดอำนาจ และตั้งสภานิติบัญญัติขึ้นในปี 2515 ท่านก็ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติด้วย

 

หลังจากนั้นเมื่อบ้านเมืองเข้าสู่เหตุการณ์เดือนตุลานี่แหละ ที่ท่านถูกจดจำกับแนวทาง “ขวาพิฆาตซ้าย” โดยในเหตุ “14 ตุลาคม 2516” ที่มีการชุมนุมล้มรัฐบาล จอมพล ถนอม จนกระทั่งมีรัฐธรรมนูญใหม่ ปี 2517 ทำให้ผู้ที่สนใจการเมืองทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ออกมาเล่นการเมืองกันมาก

 

พลตรีประมาณร่วมกับ พลตรี ศิริ สิริโยธิน และน้องเมีย คือ พลตรี ชาติชาย ชุณหะวัณ ตั้งพรรคการเมืองชื่อ “พรรคชาติไทย” ขึ้นมา โดยพลตรีประมาณเป็นหัวหน้าพรรคคนแรก

 

 

20 ส.ค.2553  ปิดฉากเจ้าตำนานขวาพิฆาตซ้าย ประมาณ อดิเรกสาร

พลตรี ศิริ สิริโยธิน

 

 

แน่นอนเวลานั้นพรรคชาติไทยถูกมองว่าเป็นพรรคแนวขวา ซึ่งทางผู้นำพรรคก็รู้ ดังที่มีการอธิบายว่า

 

“การโจมตีของพรรคอื่นว่าพรรคชาติไทยเป็นพรรค ‘นายทุน ขุนศึก ศักดินา ทรราช’ และโจมตีหัวหน้าพรรคโดยให้ฉายาว่า ‘ขวาพิฆาตซ้าย’ กลับทำให้ประชาชนเห็นว่าพรรคชาติไทยจะช่วยให้ชาติอยู่รอดจากภัยคอมมิวนิสต์ "

 

พรรคชาติไทยลงเลือกตั้งครั้งแรกปี 2518 ชนะได้ที่นั่ง 28 ที่นั่ง แต่ไม่ได้ร่วมรัฐบาลชุดแรก โดยมาร่วมรัฐบาลชุดที่สองที่มี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกฯ

 

ครั้งนั้น พลตรีประมาณได้เป็นรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อยู่มาจนนายกฯ ยุบสภา มีการเลือกตั้งใหม่ในปี 2519 ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนจัดตั้งรัฐบาล

 

รัฐบาลนี้ มี ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี คราวนี้พรรคชาติไทยได้ร่วมรัฐบาล พลตรีประมาณได้เก้าอี้รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 

 

สู่บทลงท้าย

 

พลตรีประมาณ นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อยู่จนถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ก็พ้นตำแหน่ง เพราะรัฐบาลถูกคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินยึดอำนาจล้มรัฐบาล

 

ท่านจึงเว้นว่างการเมืองไปจนมีการเลือกตั้งปี 2522 ท่านก็ยังกลับมาเล่นการเมืองได้อีก แต่ไม่ได้ร่วมรัฐบาลของพลเอก เกรียงศักดิ์

 

กระทั่ง เมื่อพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2523 พลตรีประมาณจึงนำพรรคชาติไทยเข้าร่วมรัฐบาลและท่านก็ได้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี จนนายกฯพลเอก เปรมยุบสภาในปี 2526

 

การเลือกตั้งปี 2526 นับว่าเป็นการเลือกตั้งที่สำคัญมากของพลตรีประมาณ พรรคชาติไทยที่ท่านเป็นหัวหน้าชนะเลือกตั้ง แต่ได้สมาชิกเข้าสภามากเป็นอันดับที่ 1 และยังรวบรวมได้ผู้แทนราษฎรที่ไม่สังกัดพรรคมาเพิ่มได้อีก

 

แต่กระนั้น เสียงก็ยังไม่มากกว่าครึ่งสภา ท่านจึงจะให้พรรคชาติไทยเป็นแกนจัดตั้งรัฐบาล ปรากฏว่าท่านไม่ได้รับความร่วมมือจากพรรคอื่นที่เป็นพรรคใหญ่

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคกิจสังคมของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ที่สนับสนุนพลเอก เปรม ที่เป็น“คนกลาง” ให้เป็นนายกฯ ต่อไป พรรคชาติไทยจึงไม่มีเสียงพอจะจัดตั้งรัฐบาลได้ พลตรีประมาณจึงต้องนำพรรคชาติไทยไปเป็นฝ่ายค้าน

 

แต่การที่ต้องออกมาเป็นฝ่ายค้านคราวนั้น ทำให้ท่านถูกบีบให้พ้นจากหัวหน้าพรรคชาติไทย พลตรี ชาติชายจึงขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคแทน แถมและหลังการเลือกตั้งปี 2529 พลตรีชาติชายก็สามารถนำพรรคชาติไทยเข้าร่วมรัฐบาลได้ แต่พลตรีประมาณเองก็มิได้มีตำแหน่งในรัฐบาล

 

จนกระทั่งเมื่อพรรคชาติไทยได้เสียงนำในการเลือกตั้งปี 2531 ซึ่งพลเอก เปรมวางมือทางการเมืองพอดี จึงส่งผลให้พลตรี ชาติชายได้เป็นนายกฯ และครั้งนี้พลตรีประมาณได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

 

 

20 ส.ค.2553  ปิดฉากเจ้าตำนานขวาพิฆาตซ้าย ประมาณ อดิเรกสาร

อ่าน http://www.komchadluek.net/news/today-in-history/335921

 

 

แต่ก็ไปมีความขัดแย้งกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในเรื่องการแต่งตั้งปลัดกทม. นายกฯ จึงให้ท่านไปอยู่กระทรวงอุตสาหกรรมช่วงเวลาหนึ่ง แต่ท่านก็ร่วมรัฐบาลจนถึงวันที่ถูกยึดอำนาจในปี 2534

 

ว่ากันว่า พ้นจากอำนาจครั้งนี้ ท่านเดือดร้อนมาก เพราะถูกคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน ที่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) แต่งตั้งตรวจสอบ ถูกอายัดทรัพย์ ถูกประกาศยึดทรัพย์ โดย ท่านได้ร้องต่อศาลและศาลฎีกามีคำสั่งเพิกถอนคำวินิจฉัยการตรวจสอบทรัพย์สินเมื่อวันที่ 30 เมษายน ปี 2530

 

 

20 ส.ค.2553  ปิดฉากเจ้าตำนานขวาพิฆาตซ้าย ประมาณ อดิเรกสาร

ภาพจาก http://oknation.nationtv.tv/blog/narapong-sak/2010/11/25/entry-1/comment

 

 

แต่ท่านก็ยังไม่หนีหายไปจากการเมือง ยังลงเลือกตั้งและชนะต่อมาจนถึงปี 2538 และยังได้เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งเวลานั้นท่านก็มีอายุถึง 84 ปีแล้ว

 

ที่สุด พลเอก ประมาณ มีชีวิตอยู่ดูการเมืองจนถึงอนิจกรรมในวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2553 ด้วยโรคหัวใจล้มเหลวและอาการไตวาย ที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ สิริอายุได้ 96 ปี

 

***************//***************

 

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก

วิกิพีเดีย

http://oknation.nationtv.tv/blog/narapong-sak/2010/11/25/entry-1/comment

สถาบันพระปกเกล้า

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ