วันนี้ในอดีต

10 ก.ย. 2405 รำลึก ราชนารี '6 แผ่นดิน'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

10 ก.ย. 2405 รำลึก ราชนารี '6 แผ่นดิน'

 

******************************

 

ถ้ากล่าวถึงเจ้านายผู้ทรงดำรงพระชีพยาวนานถึง 6 แผ่นดิน นับแต่สมัยรัชกาลที่ 4-9 ระหว่าง พ.ศ.2405-2498 ในพระชนม์ชีพที่ผ่านมา คนไทยจะรู้ทันทีว่าหมายถึง สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

 

และวันนี้เมื่อ 157 ปีก่อน ตรงกับวันที่ 10 กันยายน 2405 เป็นวันพระราชสมภพของ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าหรือขัตติยะราชนารี 6 แผ่นดินพระองค์นี้

 

 

10 ก.ย. 2405  รำลึก ราชนารี '6 แผ่นดิน'

สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

 

 

 

พระราชประวัติ

 

สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า มีพระนามเดิม พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา เป็นพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ 60 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 ทั้งนี้ และยังทรงเป็นลำดับที่ 4 ซึ่งประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเปี่ยม

 

พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา ทรงพระราชสมภพในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันพุธ เดือน 10 แรม 2 ค่ำ ปีจอ จัตวาศก จ.ศ. 1224 ซึ่งตรงกับวันที่ 10 กันยายน 2405 โดยได้รับพระราชทานพระราชหัตถเลขาตั้งพระนามจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2405 ซึ่งเป็นวันทรงประกอบพระราชพิธีสมโภชเดือนว่า "พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา"

 

พระองค์มีพระเชษฐา และพระขนิษฐาร่วมพระมารดาทั้งสิ้น 6 พระองค์ ได้แก่

พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย

พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์

พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์

พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา

พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี

และพระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ

 

 

10 ก.ย. 2405  รำลึก ราชนารี '6 แผ่นดิน'

(จากซ้าย) พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา , พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์, พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ และพระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย

 

 

พระองค์เจ้าหญิงสว่างวัฒนาทรงได้รับการศึกษาตามแบบกุลสตรีในวังหลวง ทรงได้เล่าเรียนภาษาอังกฤษถึงขั้นอ่านออกและฟังเข้าพระทัย

 

เมื่อพระองค์มีพระชนมายุ 6 พรรษา พระบรมชนกนาถ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติขึ้นเป็นรัชกาลที่ 5 ในราชวงศ์จักรี พระฐานันดรศักดิ์ของพระองค์เจ้าสว่างวัฒนา จึงเปลี่ยนเป็น "พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา"

 

 

สมเด็จพระบรมราชเทวีในรัชกาลที่ 5

 

พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา เมื่อทรงเจริญพระชันษาขึ้น พระองค์ก็มีพระสิริโฉมงดงาม จนมีคำกล่าวว่า "หน้าตาคมสันองค์สว่าง พูดจากระจัดกระจ่างองค์สุนันทา"

 

 

10 ก.ย. 2405  รำลึก ราชนารี '6 แผ่นดิน'

 

 

นอกจากนี้ยังปรากฏในโคลงพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย ความว่า "งามโฉมโฉมนิ่มน้องนงลักษณ์งามเกษกรรณรับภักตร์ผ่องแผ้วขนงเนตรนุชน่ารักงามรับ กันนางามโอษฐเอื้อมอัตถ์แผ้วเพริศพริ้มรายกนต์สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า"

 

พระองค์ทรงเข้ารับราชการเป็นพระภรรยาเจ้าในรัชกาลที่ 5 ขณะที่มีพระชนม์ 16 พรรษา โดยมีพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ 4 ที่รับราชการเป็นพระภรรยาเจ้าในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับพระองค์ ได้แก่พระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรี พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี และพระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี

 

 

10 ก.ย. 2405  รำลึก ราชนารี '6 แผ่นดิน'

ในพระราชสำนักฝ่ายใน

 

 

แต่พระองค์เจ้าทักษิณชามีพระสติวิปลาสไป มิอาจรับราชการสนองพระเดชพระคุณต่อไป พระภรรยาเจ้าสี่พระองค์หลังมีพระเกียรติยศเสมอกันทุกพระองค์ พระเกียรติยศที่จะเพิ่มพูนนั้นขึ้นอยู่กับการมีสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเป็นสำคัญ

 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เดิมมีพระราชดำริที่จะสถาปนาพระองค์เจ้าสว่างวัฒนาขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้า ด้วยเป็นพระราชชนนีของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สมเด็จพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในรัชกาลที่ 5

 

แต่ในปี 2423 สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์เสด็จสวรรคตพร้อมพระราชธิดา และพระราชโอรสในพระครรภ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ที่สวรรคตไปแล้ว ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี พร้อมกับสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวีเสมอกัน

 

 

พระราชินีคู่บุญผู้งามงด

 

ต่อมา พระองค์ได้ประกอบพระราชกรณียกิจออกรับแขกเมือง ในฐานะพระราชินีแห่งสยาม โดยในปี 2428 ขณะมีพระชนมายุ 22 พรรษา ได้เสด็จออกเพื่อต้อนรับ “เจ้าชายออสการ์ ดยุกแห่งกอตลันด์” ดังปรากฏความว่า

 

“...เข้าไปถึงห้องรับแขกของพระราชินีไทย ฉันแปลกใจเมื่อเข้ามาเผชิญหน้ากับผู้ที่มีรูปร่างอ้อนแอ้นแบบบางๆ อายุราวๆ 19 ปี คล้ายมหาดเล็ก แต่มีความคิดดี ในการแต่งกาย ทำให้ดูหยดย้อย แสนจะหรูหรา พระเจ้าแผ่นดินทรงแนะนำว่าเป็นพระมเหสีของพระองค์"

 

 

10 ก.ย. 2405  รำลึก ราชนารี '6 แผ่นดิน'

ภาพจากเฟซบุค เพจ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

 

 

"เครื่องทรงของพระราชินี ซึ่งเข้ากับสิ่งแวดล้อมอย่างวิเศษสุดนั้น ประกอบด้วยฉลองพระองค์โบรเคตสีทองๆ เงินๆ พอดีพระองค์ แขนเป็นจีบๆ ทำด้วยไหมทองจุดขาว มีแพรสีเขียวพันรอบพระองค์ ชายข้างหนึ่งพาดบนพระอังสาซ้ายอย่างหลวมๆ

 

"ทรงสนับเพลาหรือผ้าทรงแบบเดียวกับที่ผู้ชายนุ่ง เป็นสีน้ำเงินแก่กับทอง ทำให้ดูเครื่องแต่งพระองค์ที่ประหลาด แต่สวยงามนี้ครบชุด โดยมีดุมเพชรเม็ดใหญ่และเข็มกลัดเพชรกลัดตรึงไว้รอบพระศอ ทรงสังวาลเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประดับเพชรวูบวาบ ติดทับอยู่บนฉลองพระองค์ ท่านงามสะดุดตาอยู่แล้ว"

 

"ซ้ำยังเคลื่อนไหวพระอิริยาบถด้วยท่าทีที่เชื่อมั่นในพระองค์เอง กับมีพระรูปโฉมสมเป็นนางเอกในภาพที่งามวิจิตร ก็เช่นเดียวกับตัวฉัน คืองงงัน ซาบซึ้ง และปีติในสิ่งที่ได้พบเห็น โดยเฉพาะในพระราชินีที่งามเลิศ...”

 

อย่างไรก็ดี ภายหลังการสวรรคตของ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวาราวดีพระราชโอรสที่ประสูติแต่ พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี ขึ้นเป็นสยามมกุฎราชกุมารพระองค์ต่อไป

 

 

10 ก.ย. 2405  รำลึก ราชนารี '6 แผ่นดิน'

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร

 

 

พร้อมทั้งสถาปนาพระอิสริยยศของ พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี ขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอัครราชเทวี ในฐานะเป็นพระราชชนนีในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ พระองค์ใหม่ ซึ่งเป็นพระยศพระอัครมเหสีเช่นเดียวกับสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี

 

นอกจากนี้ ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ทรงสถาปนาสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอัครราชเทวี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และเฉลิมพระนามาภิไธยขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดของพระภรรยาเจ้า

 

ทำให้ฐานันดรศักดิ์ของสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวีลดลงมาเป็นอันดับสองของพระราชวงศ์ฝ่ายในโดยปริยาย

 

แต่แล้วในปี 2453 ทันทีที่ทรงสูญเสียพระบรมราชสวามี และสิ้นพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระองค์จึงเสด็จไปประทับอยู่ร่วมกับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงที่วังพญาไทเป็นเวลาแรมเดือน ภายหลังได้เสด็จกลับพระตำหนักสวนหงส์

 

 

ราชนารี 6 แผ่นดิน

 

สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี นอกจากทรงพระราชสมภพในรัชสมัยของล้เกล้ารัชกาลที 4 หรือพระราชชนกนาถแล้ว พระองค์ยังทรงเป็นพระราชเทวีแห่งล้นเกล้ารัชกาลที่ 5

 

และทรงดำรงพระชมชีพมาถึง รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ซึ่งเวลานั้น พระองค์ได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยเป็น "สมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี"(สมเด็จพระมาตุจฉาเจ้า แปลว่า สมเด็จป้า-พี่สาวของแม่)

 

 

10 ก.ย. 2405  รำลึก ราชนารี '6 แผ่นดิน'

พระบรมฉายาลักษณ์ทรงฉายพร้อมด้วย สมเด็จฯ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์

และสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช

 

 

สมเด็จพระมาตุจฉาเจ้า ทรงพระกรุณาเป็นพระธุระให้พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี พระมเหสีในรัชกาลที่ 6 ตั้งแต่ทรงพระครรภ์จนถึงมีประสูติกาลสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีทรงเล่าถึงสมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าฯว่า

 

“ถ้าไม่ได้ท่าน เจ้าฟ้าก็ไม่ได้เป็นพระองค์” สมเด็จฯ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เป็นพระราชธิดาพระองค์เดียวในรัชกาลที่ 6 ซึ่งมีพระประสูติกาลก่อนสมเด็จพระราชบิดาเสด็จสวรรคตเพียงหนึ่งวัน โดยก่อนที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะสวรรคตนั้น ได้มีพระราชดำรัสทรงฝากฝังพระราชธิดาไว้กับ “สมเด็จป้า” ด้วย

 

ต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือล้นเกล้ารัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น "สมเด็จพระพันวัสสา“ มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า ”สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า" ข้าราชสำนักจึงออกพระนามกันทั่วไปว่าสมเด็จพระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า สืบต่อมา

 

 

10 ก.ย. 2405  รำลึก ราชนารี '6 แผ่นดิน'

สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเสด็จฯ รับพระราชนัดดา เมื่อคราวเสด็จนิวัติพระนคร วันที่ 15 พ.ย. 2481

 

 

เวลาล่วงเลยมา ที่สุด เมื่อพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล พระราชนัดดา เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ก็ทรงเฉลิมพระนามสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี ขึ้นเป็นสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ตามพระราชสัมพันธ์ที่สมเด็จฯ ทรงมีกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 คือเป็นพระอัยยิกา (ย่า) และทรงดำรงพระอิสริยยศนี้จนตลอดพระชนมายุ

 

แต่เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคตในปี 2489 ไม่มีผู้ใดกล้ากราบบังคมทูลสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าให้ทรงทราบ ในวันเชิญพระบรมศพลงพระโกศนั้น สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเสด็จพระราชดำเนินออกมาทางระเบียงและตรัสขึ้นมาว่า

 

"วันนี้เป็นอะไร ฟ้าเศร้าจริง นกสักตัวกาสักตัวก็ไม่มาร้อง เศร้าเหลือเกิน นี่ทำไมมันเงียบเชียบไปหมดอย่างนี้ล่ะ" ข้าราชบริพารเมื่อได้ยินดังนั้นต่างก็รู้สึกสะเทือนใจ ผู้ใดที่ทนไม่ได้ต่างก็หลบออกมาด้วยกลัวที่พระองค์ท่านจะทรงรู้ได้ว่าเกิดเหตุการณ์ใดขึ้น พระองค์จึงทรงรำลึกอยู่เสมอว่า "มีหลานชาย 2 คน"

 

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (หรือ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร) สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ณ พระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2493

 

ต่อมา สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า มีพระชนม์ชีพยาวนาน 6 รัชกาล ก็ทรงพระประชวรหลังตกจากพระที่นั่งสูง 6 ฟุตกระแทกกับพื้นห้อง ทำให้พระอัฐิที่คอต้นพระเพลาหัก และต้องรักษานานถึงสามเดือน 5 ปีต่อมาก็ประชวรด้วยมีอาการอักเสบที่พระปับผาสะ

 

ที่สุด วันที่ 17 ธันวาคม 2498 สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าก็เสด็จสวรรคตด้วยพระหทัยวายในพระอาการสงบ เมื่อเวลา 2.16 น.  สิริพระชนมายุได้ 93 พรรษา 3 เดือน 7 วัน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ