วันนี้ในอดีต

20 กันยายน วันพระราชสมภพ สองภูมิบดี จักรีวงศ์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วันนี้ในอดีต

 

 

***********************

 

วันนี้ นับเป็นอีกวันรำลึกที่สำคัญยิ่ง เพราะวันที่ 20 กันยายน เป็นวันพระราชสมภพของพระเจ้าแผ่นดินถึง 2 พระองค์ ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งประสูติเมื่อวันนนี่ของ 166 ปีก่อน ตรงกับวันอังคารที่ 20 กันยายน 2396 แรม 3 ค่ำเดอน 10  ปีฉลู

 

และ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 ซึ่งพระราชสมภพเมื่อวันนี้ของ 94 ปีกอน ตรงกับวันอาทิยต์ที่ 20 กันยายน 2468 ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 11 ปีฉลูเหมือนสมเด็จพระบรมอัยกาธิราช (ปู่) อีกด้วย

 

เนื่องในวันมงคลเช่นนี้ จึงขออัญเชิญพระราชประวัติมานำเสนอดังต่อไปนี้

 

 

 

ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 

 

สำหรับ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเดิมว่า “สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์” เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 4 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 และพระนางเจ้าฟ้ารำเพยภมราภิรมย์ (สมเด็จพระเทพศิรินทรา พระบรมราชินี)

 

พระองค์ได้รับพระราชทานนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพมหามงกุฎ บุรุษยรัตนราชรวิวงศ์วรุตมพงศบริพัตร สิริวัฒนราชกุมาร ซึ่งคำว่า “จุฬาลงกรณ์” นั้นแปลว่า เครื่องประดับผม อันหมายถึง “พระเกี้ยว” ที่มีรูปเป็นส่วนยอดของพระมหามงกุฎหรือยอดชฎา

 

 

20 กันยายน  วันพระราชสมภพ  สองภูมิบดี จักรีวงศ์

 

 

พระองค์มีพระขนิษฐาและพระอนุชาร่วมพระมารดารวม 3 พระองค์ ได้แก่ สมเด็จเจ้าฟ้าจันทรมณฑล, สมเด็จเจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี และสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์

 

ในด้านการศึกษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับการศึกษาเบื้องต้นในสำนักพระเจ้าอัยยิกาเธอ กรมหลวงวรเสรฐสุดา ทรงได้การศึกษาภาษาเขมรจากหลวงราชาภิรมย์ ทรงได้การศึกษาการยิงปืนไฟจากพระยาอภัยเพลิงศร

 

เมื่อพระองค์มีพระชนมายุครบ 20 พรรษาแล้ว เมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2416 จึงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วเสด็จไปประทับ ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหารเป็นเวลา 15 วัน หลังจากทรงลาสิกขาแล้ว

 

 

20 กันยายน  วันพระราชสมภพ  สองภูมิบดี จักรีวงศ์

 

 

ได้มีการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 ขึ้น เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416 โดยได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยในครั้งนี้ว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

สำหรับพระราชกรณียกิจที่สำคัญ ซึ่งคนไทยจดจำได้ขึ้นใจและรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน คือ การเลิกทาส โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติทรงมีพระทัยแน่วแน่ว่าจะต้องเลิกทาสให้สำเร็จให้จงได้

 

แต่การที่พระองค์จะทรงทำการเลิกทาสถือว่าเป็นเรื่องยากลำบากด้วยทาสนั้นมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ อีกทั้งเจ้านายที่เป็นใหญ่ในสมัยนั้นมักมีข้ารับใช้เมื่อไม่มีทาสบุคคลเหล่านี้อาจจะไม่พอใจ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นเหมือนกับที่เกิดขึ้นในต่างประเทศมาแล้ว

 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตราพระราชบัญญัติทาส เรียกว่า พระราชบัญญัติทาส ร.ศ.124 ซึ่งเป็น พระราชบัญญัติที่ตราขึ้นเพื่อกำหนดเรื่องทาสในเรือนเบี้ยให้เป็นไปอย่างเด็ดขาด โดยกำหนดให้เด็กที่เกิดจากพ่อหรือแม่ที่เป็นทาส ไม่จำเป็นต้องเป็นทาสอีกต่อไป

 

ด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ท่าน และได้ใช้เวลาเพียง 30 ปีเศษ ทาสในเมืองไทยก็หมดไปโดยมิเกิดการนองเลือด เหมือนกับประเทศอื่นๆ เลย

 

นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการนำระบบจากทางยุโรปมาใช้ในประเทศไทย ได้แก่ระบบการใช้ธนบัตรและเหรียญบาท ใช้ระบบเขตการปกครองใหม่ เช่น มณฑลเทศาภิบาล จังหวัด และอำเภอ และได้มีการสร้างรถไฟ สายแรก คือ กรุงเทพฯ ถึง อยุธยา ลงวันที่ 1 มีนาคม ร.ศ.109 ซึ่งตรงกับ พุทธศักราช 2433

 

อีกเรื่องที่คนไทยไม่เคยลืมคือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้ปรีชาสามารถอย่างสุดพระกำลังในการรักษาประเทศชาติให้รอดพ้นจากวิกฤติการณ์ ถึงแม้ว่าจะต้องสูญเสียดินแดนบางส่วนไปก็ตาม ดินแดนที่ต้องเสียให้กับต่างชาติ ได้แก่ พ.ศ.2431 เสียดินแดนในแคว้นสิบสอบจุไทย, พ.ศ.2436 เสียดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง, พ.ศ.2447 เสียดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง

 

อย่างไรก็ตามในบั้นปลายพระชนมชีพทรงพระประชวร เนื่องจากทรงพระชราภาพจนกระทั่งในเวลา 2.45 นาฬิกา ของวันที่ 23 ตุลาคม 2453 เป็นอีกวันที่ชาวไทยทั่วประเทศเหมือนโดนฟ้าผ่าลงกลางใจ เพราะเป็นวันสวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ด้วยโรคพระวักกะ (ไต) ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต สิริพระชนมายุได้ 57 พรรษา

 

และที่ต้องบอกว่าสร้างความทุกข์โศกให้กับคนไทยเป็นอันมาก เพราะพระองค์ทรงเป็นที่รักใคร่อย่างล้นเหลือของพสกนิกรทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ สมดังที่พระองค์ได้รับการถวายพระราชสมัญญานามว่า “สมเด็จพระปิยมหาราช” ซึ่งมีความหมาย ว่า “พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน”

 

 

 

ล้นเกล้ารัชกาลที่ 8 

 

 สำหรับ พระราชประวัติของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร หรือ ล้นเกล้า ร.8 นั้นพระองค์เป็นพระโอรสในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ (ภายหลังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) และหม่อมสังวาลย์ (ภายหลังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี)

 

พระองค์มีพระเชษฐภคินี และพระอนุชาร่วมพระชนกชนนีอีก 2 พระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช (ภายหลังทรงขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร)

 

 

20 กันยายน  วันพระราชสมภพ  สองภูมิบดี จักรีวงศ์

 

พระองค์เสด็จขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2477 ขณะที่มีพระชนมายุเพียง 8 พรรษา และทรงประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ดังนั้น จึงมีการแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพื่อทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินจนกว่าพระองค์จะทรงบรรลุนิติภาวะ

 

พระองค์เสด็จนิวัตพระนครครั้งแรกภายหลังทรงราชย์เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2481 และครั้งที่สองเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2488

 

แต่ก่อนถึงกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพียง 4 วัน พระองค์ก็ได้เสด็จสวรรคตด้วยทรงต้องพระแสงปืนเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2489 ณ ห้องพระบรรทม พระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง รวมระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติทั้งสิ้น 12 ปี

 

ทั้งนี้ พระองค์ทรงประกอบ พระราชกรณียกิจสุดท้ายในแผ่นดิน! คือการเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระอนุชา ทอดพระเนตรการทำนาและกิจการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้งได้ทรงหว่านข้าวด้วยพระองค์เองในแปลงนาหลังตึกขาว(ปัจจุบันคือตึกพืชพรรณของกรมวิชาการเกษตร)ณ เกษตรกลางบางเขน

 

 

20 กันยายน  วันพระราชสมภพ  สองภูมิบดี จักรีวงศ์

 

ครั้งนั้น นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ได้พระราชทานต่อชาวสยามและข้าวไทยซึ่งเป็นวาระสำคัญต่อกิจกรรมข้าวไทย และเป็นพระราชกรณียกิจสุดท้ายในแผ่นดิน!

 

และยังมีความหมายอันทรงคุณค่าแก่ชาวมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ได้เคยถือเอาวันที่ 5 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันต้อนรับน้องใหม่ (เริ่มปีใดไม่ปรากฏหลักฐาน) 

 

โดยไม่ว่าวันที่ 5 มิถุนายนจะตรงกับวันใดก็ตาม ถ้าตรงกับวันธรรมดามหาวิทยาลัยต้องหยุดเรียน 3 วัน คือ วันที่ 4 มิถุนายน เป็นวันเตรียมงาน วันที่ 5 เป็นวันพิธี และวันที่ 6 เป็นวันเก็บงาน ถือเป็นประเพณีต้อนรับน้องใหม่ในยุคนั้นและได้ถือปฏิบัติกันสืบเนื่องต่อมาจนถึงปี พ.ศ. 2502 ก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงไปเพื่อความเหมาะสม

 

 

20 กันยายน  วันพระราชสมภพ  สองภูมิบดี จักรีวงศ์

 

 

อย่างไรก็ดี ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชมรม มก.อาวุโส และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังคงร่วมกันจัดงานทำบุญถวายเป็นพระราชกุศล ในวันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปีต่อไป

 

 โดยใช้ชื่องานว่า “งานวันรำลึกพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ทรงหว่านข้าว ณ เกษตรกลางบางเขน เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2489" จัดครั้งแรกในปี พ.ศ. 2546

 

 เช่นเดียวกับที่คณะรัฐมนตรี ได้มีมติกำหนดให้วันที่5มิถุนายนของทุกปี เป็น "วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ"

 

************************

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก
วิกิพีเดีย
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ