ไลฟ์สไตล์

โรงน้ำแข็งเสียงดัง

โรงน้ำแข็งเสียงดัง

10 ธ.ค. 2553

โรงน้ำแข็งใน ซ.พูลศรีช่วงที่ 2 ต.บางศรีเมือง อ.เมือง จ.นนทบุรี สร้างมลภาวะทางเสียงกับอากาศมาก ชาวบ้านละแวกนี้เริ่มรวมตัวกันแล้ว เนื่องจากพักผ่อนไม่เพียงพอ

 ก่อนตั้งโรงน้ำแข็ง มีการทำประชาพิจารณ์ออกมาก่อน ผลสรุป คือ ไม่ผ่านการทำประชาพิจารณ์จากประชาชนในชุมชน เจ้าของโรงน้ำแข็งก็ออกมาอธิบายว่า เสียงไม่ดัง ไม่มีกลิ่นเหม็น แต่ถึงอย่างไรประชาชนก็ไม่ยอมรับ ยิ่งคนที่อยู่ใกล้โรงน้ำแข็งด้วยแล้ว ยื่นคำขาดว่า ไม่ยอมรับเด็ดขาด
  ไปๆ มาๆ โรงน้ำแข็งก็ถูกสร้างขึ้นมาจนได้ ทำให้ประชาชนในพื้นที่หมดศรัทธากับเจ้าหน้าที่รัฐ ช่วงแรกที่โรงน้ำแข็งเปิดเครื่อง เสียงเงียบครับ กลางคืนก็ปิดเครื่องไม่ทำงาน ยอมรับกับโชคชะตานี้ได้ แต่เงียบอยู่ได้ไม่นานจนถึงปัจจุบัน โรงน้ำแข็งเดินเครื่อง 24 ชม. เสียงดังเกินข้อบังคับตามกฎหมายของโรงงานแน่นอนครับ
 มิหนำซ้ำ วันดีคืนดี มีกลิ่นฟอร์มาลินที่รั่วไหลออกมาจากการผลิตน้ำแข็ง กลิ่นฉุนกระจายไปทั่วชุมชน ชาวบ้านต้องเดินออกไปยืนนอกบ้าน กว่าช่างจะมาแก้ไขปัญหาเสร็จใช้เวลาพอประมาณ เจ้าของโรงน้ำแข็งก็ไม่เดือดร้อน ถึงเวลานอนก็ไม่ได้นอนที่โรงน้ำแข็ง ไปนอนที่อื่น คนที่รับกรรมก็คือ ชาวบ้านที่ใกล้เคียง เด็กเล็กๆ อีกหลายชีวิต
 ทำอะไรไม่คิดถึงคนอื่นบ้างเลย ผมเคยแจ้งไปยังเทศบาลเมืองนนทบุรีหลายครั้งแล้ว ยังไม่มีอะไรดีขึ้น ได้แต่รับเรื่องไว้แล้วบอกว่า จะรีบดำเนินการให้ เรื่องนี้ใครควรพิจารณาแก้ไข ช่วยมาแก้ไขให้จริงจังด้วย ชุมชนจะได้กลับมาอยู่กันอย่างสงบเหมือนเดิม
ชาวซอยพูลศรีช่วงที่ 2 / นนทบุรี
ตอบ
 นางสิรินทร นิลพันธ์ นักวิชาการสุขาภิบาล ฝ่ายสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลบางศรีเมือง จ.นนทบุรี ชี้แจงว่า เจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากประชาชนที่พักอาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงโรงน้ำแข็ง ตามแบบบันทึก ดังนี้
 1. ผลกระทบทางด้านเสียง แบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ 
  1.1 เสียงดังจากเครื่องจักรของโรงงาน ซึ่งประชาชนได้รับผลกระทบระดับพอประมาณ
  1.2 เสียงดังจากการขนส่งน้ำแข็ง จากคนงานโยนกระสอบน้ำแข็ง ทำให้กระทบกับพื้นและกำแพงก่อให้เกิดเสียงดังเป็นบางเวลา
  1.3 เสียงดังจากคนงาน จากการขนส่งน้ำแข็งและคนงานที่พักอาศัยอยู่ด้านหลังโรงงาน ที่ทางโรงงานได้จัดสวัสดิการห้องพักไว้ให้นั้น ได้รับผลกระทบเป็นบางเวลา
 ผลกระทบทางด้านกลิ่นเหม็นนั้น จะเกิดขึ้นในขณะที่ทางโรงงานมีการเปลี่ยนถ่ายแอมโมเนีย มิใช่ฟอร์มาลีน ซึ่งจะมีการเปลี่ยนถ่ายประมาณเดือนละครั้ง จากการตรวจสอบภายในโรงงาน พบว่า ทางโรงงานได้กั้นห้องตรงบริเวณเครื่องจักร เพื่อลดระดับเสียงของเครื่องจักร พร้อมทั้งมีการติดอุปกรณ์ดูดซับเสียงที่กำแพงของโรงงาน เพื่อลดปริมาณเสียงที่จะออกสู่ภายนอกโรงงาน ในกรณีการจัดตั้งโรงงานแห่งนี้ ได้ขออนุญาตจัดตั้งเมื่อปี พ.ศ.2542 ก่อนการบังคับใช้พ.ร.บ.ผังเมือง พ.ศ.2548
 ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน เห็นควรแจ้งให้ผู้ประกอบการโรงงานน้ำแข็ง ดำเนินการ ดังนี้
 1. ซ่อมแซมกำแพงด้านข้างของโรงงานที่แตกหักให้อยู่ในสภาพที่ใช้การได้ดี
 2. จัดให้มีมาตรการในการขนส่งน้ำแข็งที่ไม่ใช้การโยน เพื่อลดผลกระทบด้านเสียงที่เกิดขึ้น
 3. ตักเตือนและเข้มงวดในกฎระเบียบของโรงงานกับพนักงานที่ปฏิบัติงาน และที่พักอาศัยอยู่ในโรงงาน เพื่อลดผลกระทบด้านเสียงที่เกิดขึ้น
 4. ในการเปลี่ยนถ่ายแอมโมเนียให้ปฏิบัติด้วยความระมัดระวัง และมีการควบคุมด้วยวิศวกรทุกครั้ง
 5. หมั่นควบคุม ดูแล ตรวจสอบ แก้ไข ปรับปรุง อุปกรณ์ และส่วนต่างๆ ของโรงงาน รวมถึงคนงาน เพื่อมิให้เกิดเหตุรำคาญต่อผู้ที่พักอาศัยในบริเวณใกล้เคียงอย่างเคร่งครัด
ลุงแจ่ม