ข่าว

ฉลองพระองค์ บนความ “พอเพียง”

ฉลองพระองค์ บนความ “พอเพียง”

24 ต.ค. 2559

ทรงโปรดฉลองพระองค์เรียบง่าย ใส่สบายมาจากห้องเสื้อเล็กๆ ธรรมดาของช่างเสื้อคนไทย

ฉลองพระองค์ บนความ “พอเพียง”

     เรามักนึกถึงภาพองค์ราชาในนิยายที่สวมใส่ฉลองพระองค์หรูหรา วิจิตรต่อสายตา แต่สำหรับฉลองพระองค์ของพระมหากษัตริย์ในชีวิตจริงของคนไทย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โปรดเลือกทรงฉลองพระองค์ที่เรียบง่าย ใส่สบาย และมาจากห้องเสื้อเล็กๆ ธรรมดาของช่างเสื้อคนไทยแท้ สุนทร ชนะศรีโยธิน เจ้าของร้านสูท “วินสัน เทเลอร์” ที่มีโอกาสถวายงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท ตัดฉลองพระองค์ทูลเกล้าฯ ถวาย ตั้งแต่ปี 2513

ฉลองพระองค์ บนความ “พอเพียง”

         ปัจจุบันร้านสูทวินสันฯ ยังคงตั้งอยู่ที่เดิม บริเวณสี่แยกเกษตรศาสตร์ แม้บรรยากาศจะยังเต็มไปด้วยความโศกเศร้า แต่ “สุนทร” ก็พร้อมเล่าเรื่องราวความภาคภูมิใจ ข้อคิดดีๆ ที่ได้ถวายงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 บอกเล่าพระราชจริยวัตรอีกมุมหนึ่งให้คนไทยได้ซาบซึ้งใน “ความพอเพียง” ที่พระองค์ท่านทรงปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง

ฉลองพระองค์ บนความ “พอเพียง”

                “ที่นายตำรวจท่านนั้นนำมาให้ผมซ่อม เป็นผ้ารัดอกสำหรับเล่นเรือใบสภาพเก่ามากแล้ว นายตำรวจท่านนั้นบอกว่า ไม่มีร้านไหนยอมซ่อมให้เลย ผมเห็นว่ายังแก้ไขได้ก็รับมาซ่อมแซมให้ไม่คิดเงิน เพราะแค่นึกอยากบริการแก้ไขให้ดีให้ลูกค้าประทับใจ แต่ไม่รู้มาก่อนว่า เขาเป็นเจ้าหน้าที่ในพระราชสำนัก...” ช่างเสื้อสุนทรเล่าย้อนให้ฟังถึงวันแรกที่ได้สัมผัสฉลองพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เขายอมรับว่า ตอนแรกไม่รู้จักนายตำรวจที่เข้ามาที่ร้านในวันนั้น แต่ก็รับปากจะซ่อมแซมผ้าเก่าที่ลูกค้านำมาแก้ไขให้ดีที่สุด 
         “ตอนนั้นผมบอกไม่คิดค่าตัด บอกเขาว่าไม่รับเงิน แก้ไขแค่นี้ ผมมีน้ำใจ ผมเปิดร้านเสื้อเพราะต้องการให้มีชื่อเสียงด้านคุณภาพและบริการลูกค้ามากกว่า แก้ไขนิดเดียวก็อยากทำให้เขาดีๆ ไม่ต้องเสียเงิน ตอนนั้นเขาถามผมอีกว่า แล้วจะเอามาให้ทำอีกได้ไหม เราก็บอกได้เลยผมบริการให้ จากนั้นเราก็รับแก้ชุดให้ให้นายตำรวจท่านนี้เรื่อยๆ เขาขอให้คิดเงินก็ไม่คิดให้ พอครั้งที่ 5 นี่สิ ท่านเอาผ้ามา 4-5 ผืน จะให้ตัดถามผมว่า เท่าไหร่ๆ แล้วก็รีบควักนามบัตรมาให้ผม ท่านชื่อ พล.ต.ต.จรัส สุดเสถียร ตำแหน่งเขียนว่า เป็นนายตำรวจประจำราชสำนัก ท่านบอกว่า “สิ่งที่เถ้าแก่ทำให้เป็นของพระเจ้าอยู่หัวนะ” ผมอึ้งมากรีบยกมือท่วมหัว ดีใจที่ได้รับใช้เบื้องพระยุคลบาทแล้ว” สุนทรเล่าด้วยน้ำเสียงตื้นตันใจ 
          เรื่องนี้จะให้เล่าอีกร้อยครั้งช่างสุนทรก็ยังรู้สึกตื่นเต้นเสมอ เพราะเหมือนเป็นวินาทีที่เขารู้สึกประสบความสำเร็จในอาชีพช่างตัดเสื้อแล้ว เขาเล่าย้อนว่า สมัยเด็กๆ เมื่อเห็นในหลวงรัชกาลที่ 9 ออกทีวีครั้งใดจะคิดตลอดว่า สักวันหนึ่ง จะต้องตัดฉลองพระองค์ให้พระองค์ท่านใช้ทรงงานให้ได้ ความฝันนี้ต้องใช้ประสบการณ์ และความพยายามมากว่า 20 ปี ถึงได้ถวายงานตามฝันจริงๆ

ฉลองพระองค์ บนความ “พอเพียง”

         "แต่ละฉลองพระองค์ที่ได้รับมาให้ซ่อมแซม ถ้าเป็นคนอื่นผ้าเก่าขนาดนั้นเขาไม่ซ่อมกันแล้ว เอาไปทิ้งหรือให้คนอื่นๆ ได้แล้ว แต่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงมีความมัธยัสถ์ แต่ละองค์ที่เอามาเก่ามาก เช่น เสื้อสูทสีฟ้าชัยพัฒนา ผ้าเก่าสีซีดมากแล้ว ตรงตราชัยพัฒนามัวหมอง ตรงดิ้นทองก็หลุดเกือบหมด ผมเอามาแกะหมดเลยให้โรงงานปักใหม่ให้เหมือนแบบเดิม เพราะเข้าใจว่าท่านอยากได้ฉลองพระองค์องค์เดิม แต่เปลี่ยนตราให้ดูใหม่ ถ้าสมมุติวันนี้มีเจ้าหน้าที่มาส่งซ่อม พรุ่งนี้เย็นๆ ผมก็ทำเสร็จส่งคืนเข้าไป เจ้าหน้าที่ที่มารับฉลองพระองค์ชอบถามว่า ทำไมทำไว ผมตอบเลยว่า เพราะตั้งใจถวายงานครับ ผมอยู่ผืนแผ่นดินไทย ใต้ร่มพระบารมีของพระองค์ ผมก็อยากได้รับใช้เบื้องพระยุคลบาทสักเรื่อง ผมเป็นแค่ช่างตัดเสื้อ ได้รับใช้ขนาดนี้ผมก็ปลื้มปีติที่สุดแล้ว" ช่างเสื้อคนเก่งเล่าถึงฉลองพระองค์ที่ทรงใช้งานอย่างคุ้มค่า พอเพียง

ฉลองพระองค์ บนความ “พอเพียง”

          ฉลองพระองค์ที่ “ช่างสุนทร” ตัดทูลเกล้าฯ ถวายครั้งแรก เป็นเครื่องแบบคอแบะ พร้อมพระมาลาของ 3 เหล่าทัพ และเครื่องแบบขาว จากนั้น “ช่างสุนทร” จึงคิดจะตัดฉลองพระองค์ลำลองทูลเกล้าฯ ถวายพระองค์ท่านบ้าง ครั้งแรกจึงทำเรื่องกราบบังคมทูลนำผ้าไปให้ทรงเลือก ทั้งผ้าลายสกอตไหมสีสุภาพชั้นดีสีไม่สดมากนัก พระองค์มีพระบรมราชวินิจฉัยทุกๆ ผืน แล้วรับสั่งแก่ช่างสุนทรว่า “สีไม่สด” 

ฉลองพระองค์ บนความ “พอเพียง”

          "จากนั้นเลยจำได้แม่นยำว่าพระองค์โปรดสีสดๆ กลับมาไม่ได้บอกใคร ผมรู้อยู่คนเดียว มานั่งคิดต่อว่าจะต้องใช้ผ้าสีสดตัดถวาย 7 สี 7 วัน ผมหาผ้าดีที่สุด เบาบางที่สุด เพราะพระองค์ทรงงานหนักแล้ว ไม่อยากให้ทรงใส่เสื้อผ้าหนักๆ ร้อนๆ อยากให้พระองค์สบายพระวรกายที่สุด ก็ทำจนเสร็จ 7 ฉลองพระองค์ นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ในปี พ.ศ. 2540  หลังจากนั้นก็มีโอกาสได้เข้าเฝ้าฯ จำได้ไม่ลืมว่า ตอนนั้นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีรับสั่งถามว่า “7 สี 7 วัน ถ้าอย่างนั้นก็ต้องใส่วันละสีสิ” ผมกราบบังคมทูลว่า 7 สี ที่ทำนั้นเป็นสีมงคลวันละสี  พอในหลวงทรงฉลองพระองค์ของผมก็ทรงเปิดอกเสื้อด้านในออกมาให้ดู รับสั่งถามว่า “เหตุอันใดท่านสุนทรถึงปักตราที่ด้านในเอาไว้ มีความหมายอย่างไร” ตราที่ผมปักนั้นคือคำว่า H.M. The King ตามด้วยวันที่/เดือน/ค.ศ. ที่ทำทูลเกล้าฯ ถวายทุกชุด ผมตอบพระองค์ท่านว่าสีแดงตรงวันที่หมายถึง ชาติ สีขาวที่พื้นตราหมายถึง ศาสนา สีน้ำเงินหมายถึง พระมหากษัตริย์ พระองค์ตรัสชมว่าไอเดียความคิดดีมาก" ประสบการณ์ที่ช่างสุนทรภาคภูมิใจ  

ฉลองพระองค์ บนความ “พอเพียง”

          นอกจากนี้ “ช่างสุนทร” เล่าว่า พระองค์ท่านพอพระราชหฤทัยทุกสีได้ทำทูลเกล้าฯ ถวาย ได้เห็นพระองค์ท่านทรงฉลองพระองค์จากห้องเสื้อตัวเองในโทรทัศน์บ่อยครั้ง และสิ่งที่ภูมิใจมากที่สุดคือ เมื่อมีโอกาสได้เข้าเฝ้าฯ ครั้งใด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ไม่ทรงเคยลืม มีพระราชปฏิสันถารแก่ตนเองว่า “ท่านสุนทร เป็นคนดี มีน้ำใจ ตัดชุดฉลองพระองค์มาถวาย” ย้ำชัดว่าความตั้งใจในการบริการที่ช่างเสื้อคนนี้ปฏิบัติมา 20 ปีนั้นประสบความสำเร็จสูงสุด เพราะได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ช่างสุนทรเทิดทูนที่สุดในชีีวิตแล้ว  

ฉลองพระองค์ บนความ “พอเพียง”

          “ผมถือโอกาสนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ท่านมาใช้ตลอด เสื้อผ้าเก่าๆ ที่ได้รับมาวันแรกทำให้รู้ว่าพระองค์ทรงอยู่อย่างประหยัด มัธยัสถ์ ทรงเป็นแบบอย่างความพอเพียงให้แก่ประชาชน และ เมื่อได้ถวายงานบ่อยครั้งทำให้ผมตระหนักว่าคนเราวันหนึ่งต้องคิดพิจารณาตัวเองว่าสิ่งไหนบกพร่องก็ต้องแก้ไขสิ่งนั้น ทุกคนต้องแก้ไขสิ่งที่บกพร่องก่อน งานถึงจะบรรลุเป้าหมาย และเมื่อประสบความสำเร็จแล้วอย่าลืมตั้งใจทำสิ่งดีๆ ให้ประเทศชาติตลอดไป” ข้อคิดและข้อปฏิบัติดีๆ ที่ได้จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของช่างสุนทร   
                                                                                                                                                   ขอบคุณข้อมูล : สลิตา พรรณลึก