ประชาสัมพันธ์

เครือข่าย ทสม. "ขุนศึกลูกพ่อปู่กอบกู้แม่น้ำพิจิตร" กลุ่มภาคประชาชนจิตอาสาฟื้นฟูลำน้ำแห่งชีวิต

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เครือข่าย ทสม. "ขุนศึกลูกพ่อปู่กอบกู้แม่น้ำพิจิตร" กลุ่มภาคประชาชนจิตอาสาฟื้นฟูลำน้ำแห่งชีวิต ที่เป็นแหล่งอู่ข้าว อู่น้ำ เส้นทางสัญจร แหล่งรวมวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมของคนพิจิตรมาอย่างยาวนาน

ผู้ใหญ่รักกี้ สุขประเสริฐ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่4 ตำบลย่านยาว แกนนำ ทสม.ในตำบลย่านยาว เป็นผู้ที่เกิดและเติบโตมากับสายน้ำพิจิตรที่มีความสำคัญต่อผู้คน ทั้งเป็นแหล่งอู่ข้าว อู่น้ำ เป็นเส้นทางสัญจร แหล่งรวมวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมของคนพิจิตรมาอย่างยาวนาน แต่เมื่อเวลาผ่านไป ชาวบ้านเริ่มรุกล้ำสร้างสิ่งปลูกสร้างลงไปบนทางน้ำ นอกจากนี้ยังมีการก่อสร้างทั้งเขื่อน ประตูกั้นน้ำ ประตูระบายน้ำ และอาคารบังคับน้ำ ทำให้แม่น้ำพิจิตรที่มีสภาพคดเคี้ยวอยู่แล้ว บางช่วงเกิดการตื้นเขิน พอถึงฤดูแล้งก็แห้งขอด หรือที่ผู้ใหญ่รักกี้เรียกสิ่งที่เกิดขึ้นว่า “แม่น้ำตายลง”


         เครือข่าย ทสม. \"ขุนศึกลูกพ่อปู่กอบกู้แม่น้ำพิจิตร\" กลุ่มภาคประชาชนจิตอาสาฟื้นฟูลำน้ำแห่งชีวิต

 

 

ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ตลอดลำน้ำระยะทาง 127กิโลเมตร เริ่มได้รับผลกระทบเมื่อน้ำใต้ดินเริ่มแห้ง ชาวบ้านไม่มีน้ำที่จะสูบขึ้นมาใช้รดพืชผลทางการเกษตร สถานการณ์เริ่มวิกฤตขึ้นทุกวัน เมื่อปลาที่เคยเป็นอาหารของชาวบ้านก็เริ่มหมดไป
      

ผู้ใหญ่รักกี้ สมาชิก ทสม. เริ่มหาวิธีการช่วยชาวบ้าน ด้วยการเติมน้ำผิวดินให้กับแม่น้ำพิจิตร โดยได้รับความช่วยเหลือจากกรมชลประทานที่ช่วยเติมน้ำประมาณ 26 ล้านลูกบาศก์เมตรเข้าสู่แม่น้ำในช่วงฤดูแล้งตั้งแต่เดือนมีนาคม-เมษายน พอเติมน้ำเข้าไปได้สักระยะหนึ่งสถานการณ์ก็เริ่มดีขึ้น น้ำใต้ดินเริ่มมีมากขึ้น

 

เครือข่าย ทสม. \"ขุนศึกลูกพ่อปู่กอบกู้แม่น้ำพิจิตร\" กลุ่มภาคประชาชนจิตอาสาฟื้นฟูลำน้ำแห่งชีวิต


       

หลังจากได้เห็นกระแสน้ำกลับมาไหลอีกครั้ง ผู้ใหญ่รักกี้ได้ขี่มอเตอร์ไซค์ติดตามดูการไหลของน้ำว่าไหลไปทางไหน โดยใช้เวลาตามดูแบบนี้อยู่ถึง 28 วันตั้งแต่หลักกิโลเมตรที่ 0 ไปจนถึง127 จุดที่แม่น้ำพิจิตรไหลไปเชื่อมต่อกับแม่น้ำยม โดยยังพบปัญหาต่างๆเกิดขึ้น อย่างการทำทางข้ามผ่านแม่น้ำโดยไม่วางระบบท่อ การรุกล้ำสร้างสิ่งปลูกสร้างในแม่น้ำ สิ่งที่พบเห็นทำให้ผู้ใหญ่รักกี้มองว่า นี่อาจจะยังไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน
    

 

เครือข่าย ทสม. \"ขุนศึกลูกพ่อปู่กอบกู้แม่น้ำพิจิตร\" กลุ่มภาคประชาชนจิตอาสาฟื้นฟูลำน้ำแห่งชีวิต

 

จุดกำเนิดการสร้างเครือข่ายภาคประชาชน
ผู้ใหญ่รักกี้และแกนนำเครือข่าย ทสม. ประมาณ 7-8คน จึงเริ่มคิดหาทางฟื้นฟูแม่น้ำพิจิตรอย่างจริงจังและยั่งยืน โดยมีการรวบรวมสมาชิกร่วมอุดมการณ์จัดตั้งกลุ่ม “ขุนศึกลูกพ่อปู่กอบกู้แม่น้ำพิจิตร” หรือ “เครือข่าย ทสม. ตำบลย่านยาว” ขึ้นมา ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 340 คน กระจายอยู่ในเขต4 อำเภอที่แม่น้ำไหลผ่าน สมาชิกกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นสมาชิก ทสม. ด้วย
     

 

เครือข่าย ทสม. \"ขุนศึกลูกพ่อปู่กอบกู้แม่น้ำพิจิตร\" กลุ่มภาคประชาชนจิตอาสาฟื้นฟูลำน้ำแห่งชีวิต

 

โดยบทบาทของกลุ่ม “ขุนศึกลูกพ่อปู่กอบกู้แม่น้ำพิจิตร” ที่ผ่านมามีตั้งแต่การฟื้นฟูแม่น้ำที่เน่าเสียจากการที่โรงสีทิ้งขี้เถ้าและแกลบลงแม่น้ำ ตลอดระยะทางเกือบ 1กิโลเมตร เมื่อแม่น้ำเน่าเสียก็ส่งกลิ่นเหม็น ปลาตายลอยเกลื่อน ชาวบ้านและพื้นที่ทำการเกษตรนับพันไร่ได้รับผลกระทบ ทางผู้ใหญ่รักกี้และกลุ่ม “ขุนศึกลูกพ่อปู่กอบกู้แม่น้ำพิจิตร” ได้ร้องเรียนกับศูนย์ดำรงชัยธรรม และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และยังได้ประสานกับกลุ่มเกษตรอินทรีย์ นำปุ๋ยน้ำชีวภาพ  อีเอ็มบอล ไปแก้ไขปัญหาจนเกิดผลสำเร็จ
     

นอกจากนี้ผู้ใหญ่บ้านรักกี้ยังเดินทางไปพูดคุยกับชาวบ้านตลอดลำน้ำ ชี้แจงให้เกิดความเข้าใจ ลดปัญหาการรุกล้ำแม่น้ำลงได้ ขณะเดียวกันก็ทำงานร่วมกับบ้าน วัด โรงเรียน ปลูกสร้างจิตสำนึกให้กับชาวบ้าน และร่วมกันเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ กำจัดผักตบชวาในแม่น้ำเป็นประจำ
   

หลังจากที่ชาวบ้าน หน่วยงานในระดับพื้นที่และระดับประเทศ ร่วมแรงร่วมใจกันฟื้นฟูแม่น้ำพิจิตรให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ระบบการระบายน้ำที่ดียังลดปัญหาน้ำท่วม และระบบนิเวศน์ในแม่น้ำก็กลับคืนมา ชาวบ้านได้กลับมาพึ่งพาสายน้ำเป็นแหล่งโปรตีน เกิดความมั่นคงทางด้านอาหารในชุมชน โดยเฉพาะคนยากจนในพื้นที่ที่ได้มีอาหารเลี้ยงปากท้อง
      

อีกอย่างที่สำคัญคือขนบธรรมเนียมประเพณีเก่าแก่ที่เคยหายไปก็กลับคืนมา เช่น การแข่งขันเรือยาว บรรยากาศที่ชาวบ้านนำเรือออกมาซ้อมเพื่อแข่งขันในช่วงฤดูน้ำหลากก็กลับมาให้เห็นอีกครั้ง ขณะที่ประเพณีลอยกระทงแม่น้ำพิจิตรก็กลับมา และสิ่งที่ตามมาอีกอย่างคือ หิ่งห้อยที่เป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพน้ำ ชาวบ้านเริ่มนำเรือออกมาทำกิจกรรมชมหิ่งห้อย สร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวให้กับชุมชน
     

ผู้ใหญ่รักกี้ เปิดเผยถึงแนวทางการทำงานที่ก่อให้เกิดความสำเร็จของภารกิจฟื้นฟูสายน้ำพิจิตร ว่าเกิดจากความเข้มแข็งของภาคประชาชนอย่างแท้จริง และการสร้างเป้าหมายที่ชัดเจนให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน การสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน และชุมชนเห็นถึงความสำคัญของแม่น้ำ เพื่อให้เกิดความร่วมมือร่วมใจไปในแนวทางเดียวกันและเป็นหนึ่งเดียวกัน ก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง นอกจากนี้ยังเป็นการเล็งเห็นถึงความสำคัญของการเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายเข้ามีส่วนร่วม ทั้งร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตัดสินใจ และร่วมรับผลประโยชน์
     

สิ่งสำคัญอีกอย่างที่ผู้ใหญ่รักกี้บอกคือ การให้ความสำคัญกับการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ทั้งการสื่อสารภายใน ทสม.การสื่อสารกับชุมชน ท้องถิ่น และองค์กรภาคีเครือข่าย นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับกลไกหลักในชุมชน ได้แก่ หลักบวร (บ้าน วัด  และโรงเรียน) ส่วนผสมสำคัญของการทำงานที่ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน.

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ