แผ่นดินแยกบนภูเขา 2 อำเภอที่น่าน เฝ้าระวังน้ำท่วมใกล้ชิด 12-18 ส.ค. 66
เกิดเหตุแผ่นดินแยกบนภูเขาเป็นทางยาว ที่ อ.บ่อเกลือ-อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน เพราะฝนตกหนัก เสี่ยงก้อนหินขนาดใหญ่หล่นทับบ้านประชาชน จับตาฝนตกหนักต่อเนื่องถึงวันที่ 18 ส.ค. 66 น้ำโขงยังเพิ่มสูงเรื่อยๆ
"รายงานสถานการณ์น้ำ" "สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย" จ.น่าน (ปภ.จ.น่าน) เมื่อวานนี้ (12 ส.ค. 2566) สำรวจพบแผ่นดินแยกบนภูเขาใน ที่ บ.ห้วยขวาก อ.บ่อเกลือ และ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน มีดินสไลด์และทรุดตัวเป็นรอยแยกห่างจากตัวหมู่บ้าน ไม่มีทรัพย์สินได้รับความเสียหาย และไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
แต่ถ้าหลังจากนี้มีการทรุดตัวเพิ่มขึ้นอาจทำให้เกิดดินสไลด์ลงไปลำห้วยขวาก ปิดเส้นทางน้ำและน้ำจะไหลทะลักไปยัง บ.เวร หมูที่ 1 ต.บ่อเกลือเหนือ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน จนเกิดความเสียหายได้
นอกจากนี้ ยังมีก้อนหินขนาดใหญ่พร้อมที่จะสไลด์หล่นทับตัวบ้านเรือนของประชาชน หากปล่อยให้สไลด์ลงเองจะก่อให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง ชาวบ้านเสนอให้นำก้อนหินดังกล่าวออกก่อนที่จะสไลด์ลงมาเอง
เบื้องต้น ทางอำเภอบ่อเกลือ ได้ประชุมประเมินสถานการณ์ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหา โดยได้ข้อสรุปว่า ให้คณะกรรมการหมู่บ้านจัดเวรยามเฝ้าระวังสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งรายงานข้อมูลว่า มีดินทรุด รอยแยกเพิ่มขึ้นอีกเท่าใด
ทำการแจ้งเตือนให้ประชาชน บ.ห้วยขวากหมูที่ 11, บ.เวร หมู่ที่ 1 ต.บ่อเกลือเหนือ อ.บ่อเกลือ ที่มีความเสี่ยงเฝ้าติดตามสถานการณ์ตลอดอย่างใกล้ชิด และเตรียมความพร้อมที่จะอพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัย
อำเภอบ่อเกลือจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สนง.ป่าไม้, การไฟฟ้า, อบต.บ่อเกลือเหนือ, ปภ.จ.น่าน เป็นต้น เพื่อประเมินหาวิธีการนำหินก้อนใหญ่ลงมาก่อนที่จะสไลด์ลงมาเอง
สำหรับปฏิบัติการสำรวจแผ่นดินแยกครั้งนี้ เป็นความร่วมมือของ ปภ.จ.น่าน ร่วมกับอำเภอบ่อเกลือ ทหารพรานที่ 3204 อบต.บ่อเกลือเหนือ ผู้นำท้องที่/ท้องถิ่น และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง
รายงาน "สถานการณ์น้ำแม่น้ำโขง" โดยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ระบุว่า ยังต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากอย่างใกล้ชิดในช่วงวันที่ 12 - 18 ส.ค. 2566 จากร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านตอนบนของประเทศไทย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น
พื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทัน จากระดับแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ได่แก่ จ.เชียงราย เชียงใหม่ น่าน หนองคาย บึงกาฬ นครพนม และ จ.สกลนคร