Lifestyle

Happy Family Awards คำตอบของสมดุลความสุขระหว่าง “งาน” และ “ครอบครัว”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ว่ากันว่า “บ้าน” หรือ “ครอบครัว” คือขุมพลังสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของมนุษย์ทำงานทุกคน โดยเฉพาะบ้านหรือครอบครัวที่อบอุ่นมีความสุข มักจะส่งผลต่อการประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานในแต่ละองค์ร และยังส่งต่อไปถึงความสงบสุขและคุณภาพสังคมที่แท้จริง

แนวคิดดังกล่าวได้กำลังเป็นอีกโจทย์ทำงานสำคัญ ของการตั้งเป้าหมายที่จะสร้างสมดุลชีวิตการทำงานและชีวิตครอบครัว ผ่านแนวคิด “ครอบครัวมีสุข” โดยสองภาคีที่เห็นความสำคัญของพลังครอบครัว อย่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ที่กำลังเดินหน้าผลักดันให้หลายองค์กร Happy Work Place หันมาส่งเสริมการสร้าง Happy Family หรือครอบครัวมีสุขมากขึ้น เพื่อลดปัญหาต่างๆในครอบครัวและเพิ่มพูนผลิตภาพของผลงานในองค์กรให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในประเทศไทย

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. ทำงานด้านสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว ตามนโยบาย “การพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต” ของรัฐบาล เสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ และสถาบันครอบครัวให้มีความเข้มแข็ง โดยกลยุทธสำคัญประการหนึ่งคือการสนับสนุนให้คนวัยทำงาน สามารถสร้างสมดุลชีวิตการทำงานและชีวิตครอบครัว เพื่อลดปัญหาต่างๆในครอบครัวและเพิ่มพูนผลิตภาพของผลงาน

“เนื่องจากยุคสมัยนี้คนส่วนใหญ่ใช้เวลาครึ่งหนึ่งของชีวิตตนเองอยู่ในที่ทำงาน บางคนให้ความสำคัญกับเรื่องงานมากกว่าการคำนึงถึงสุขภาพที่ดีของตนเอง แต่เรามองว่าสิ่งที่จะเชื่อมตรงกลางระหว่างสองเรื่องนี้ได้คือ ครอบครัว เพราะพนักงานในองค์กรเอง ทุกคนยังมีอีกบทบาทของการเป็นสมาชิกหรือผู้นำในครอบครัว

เมื่อเด็กเยาวชนต้องพึ่งครอบครัวที่ดีเพื่อเติบโตอย่างมีสุขภาวะ ขณะเดียวกันพนักงานในองค์กรต่างๆ ก็มีครอบครัวที่ต้องดูแล ในการทำให้ครอบครัวอบอุ่นได้ต้องอาศัยพลังทุกฝ่าย รวมถึงองค์กรหรือที่ทำงาน ที่สำคัญการขับเคลื่อนดังกล่าวยังส่งผลต่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพ สุดท้ายคือการสร้างรากฐานครอบครัวที่มีสุขภาวะดีในประเทศไทยดังนั้น สสส. จึงมีเป้าหมายที่จะช่วยเพิ่มดัชนีครอบครัวอบอุ่นให้อยู่ในระดับดีขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 70 ภายในปี 2563”

โดยก้าวแรกที่จะเดินไปถึงเป้าหมายดังกล่าว จึงเริ่มต้นด้วยการจัดงานสัมมนาและมอบรางวัลองค์กรต้นแบบครอบครัวมีสุข ประจำปี 2561 (Happy Family Award 2018) “ครอบครัวอบอุ่น องค์กรมั่นคง ชีวิตมั่งคั่ง” ขึ้น เพื่อจุดประกายแนวคิดดังกล่าวไปยัง “องค์กร” ที่ล้วนมีชีวิตของคนวัยทำงานที่เป็นกำลังของหลายครอบครัว โดยมีทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ ทั้งวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ถึง 20 องค์กรที่นับจากนี้จะกลายเป็นองค์กรนำร่องต้นแบบให้กับองค์กรอื่นๆ ทั่วไทย

ณัฐยา บุญภักดี  ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า สสส. ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนากระบวนการสร้างเสริมครอบครัวอบอุ่นให้แก่คนทำงานองค์กรในประเทศไทยโดยยึดตามแนวคิดสังคมที่ดีควรเริ่มต้นจากครอบครัวอบอุ่นและเข้มแข็ง ซึ่งผลการดำเนินงานหนึ่งปีที่ผ่านมาทำให้เกิดต้นแบบองค์กรสร้างสุขภาวะครอบครัวจำนวน 20 แห่ง ที่มีรูปธรรมผลสำเร็จชัดเจน และเครื่องมือวัด “ครอบครัวอบอุ่นต้นแบบ” ที่มี 3 องค์ประกอบ ได้แก่ สัมพันธภาพที่ดีภายในครอบครัว สมาชิกในครอบครัวมีบทบาทหน้าที่ที่ดีต่อกัน และครอบครัวมีความเข้มแข็งพึ่งตนเองได้ นอกจากนี้ ยังทำให้เกิด หลักสูตร “การสร้างนักสร้างเสริมครอบครัวอบอุ่น: Happy Family Agent” ซึ่งเป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการระยะสั้นเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และฝึกทักษะแบบพี่เลี้ยง ให้แก่ บุคลากรที่องค์กรเลือกสรรมา

สำหรับในการจัดงานครั้งนี้ มีการประกาศมองรางวัลองค์กรดีเด่น ดีมาก และดี โดยแบ่งรางวัลออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่ รัฐบาล เอกชน รัฐวิสาหกิจ วิสาหกิจชุมชน และเอสเอ็มอี

หนึ่งในผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัล ซึ่งเกิดจากการคำนึงถึงการสร้างคุณค่าทางสังคมควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจ โรงแรมศิวาเทล จำกัด (Sivatel) ที่มีการดำเนินการโครงการ ขยะทองคำ ซีวาเทลหัวใจสีเขียว โครงการอบรมให้ความรู้การคัดแยกขยะแบบละเอียดอย่างถูกวิธีแก่พนักงาน อลิสา ศิวยาธร CEO ขององค์กรบอกเล่าว่า Happy Family เป็นส่วนต่อของ Happy Work Placeสำหรับโครงการธนาคารขยะทองคำ เป็นเรื่องการคัดแยกขยะให้ถูกวิธี ซึ่งปีที่แล้วมีการจัดทำในโรงแรม มาปีนี้ได้ต่อยอดเข้าไปในครอบครัวพนักงาน เพื่อให้ทุกคนสามารถจัดการขยะได้ถูกวิธีและมีรายได้จากการขยะ

“เราจะอธิบายว่า ขยะบางประเภทสามารถรีไซเคิลได้มันมีมูลค่าสามารถนำไปขายกลับมาเป็นรายได้ครัวเรือนได้ โดยเราได้เปิดเป็นธนาคารขยะ ให้พนักงานมาเปิดบัญชีนี้ไว้ และมี Price List บอกเรทราคารับซื้อขยะแต่ละประเภทจากกลุ่มพนักงานกิโลกรัมละกี่บาทในทุกวันศุกร์ ซึ่งมูลค่าเงินที่เขาขายได้จะถูกสะสมไปจนถึงสิ้นปี ปัจจุบันมีพนักงาน 95 คนจาก 165 คน ก็ถือเป็นร้อยละ 60 ที่สนใจโครงการดังกล่าว”

อีกหนึ่งองค์กรภาครัฐที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความสุขของ “คน” ในองค์กร อุดม อรุณรุ่งศรี รองผู้อำนวยการสำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 7 ขอนแก่น เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวเป็นนโยบายจากท่านผู้อำนวยการสำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 7 ขอนแก่น ที่เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ เพราะสอดคล้องกับวิสัยทัศน์องค์กรที่ว่าคน สปสช. ต้องเป็นทั้งคนเก่ง คนดี มีความสุขและทันต่อการเปลี่ยนแปลง

“เรามองว่าโครงการนี้มีประโยชน์ จึงเริ่มกิจกรรมในปีนี้อย่างเป็นรูปธรรม เพราะเห็นว่าทั้งชีวิตส่วนตัวและการงานควรจะไปด้วยกัน หลังจากที่เราวได้วัดคะแนนในมิติความสุข8 ด้านของ Happy Work Place ทำให้เราพบว่าจุดอ่อนของเราคือในเรื่อง Happy Money และ Happy Relax จึงนำมาพัฒนากิจกรรม อาทิ การซื้อเมล็ดพันธุ์มาปลูกผักปลอดสาร การส่งเสริมการออกกำลังกาย เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ตอนนี้ ยังเกิดการขยายผล โดยทาง สปสช. มีการทำข้อตกลงกับทางมหาวิทยาลัยมหิดลว่าจะทำเรื่องนี้กับหน่วย สปสช. ทั้ง 13 เขตทั่วประเทศ”

ด้าน รศ.ดร.ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนากิจการเพื่อสังคมและสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เอ่ยถึงโครงการ “การสร้างเสริมครอบครัวอบอุ่นไปสู่ครอบครัวสุขภาพของคนทำงานองค์กรในประเทศ” ว่าจากการประเมินครอบครัวอบอุ่นต้นแบบ: คนทำงาน 100 องค์กร พบว่า ครอบครัวส่วนใหญ่ร้อยละ 63 อาศัยอยู่ร่วมกันทุกวัน/เกือบทุกวัน ในกลุ่มนี้พบว่า มีเวลาเพียงพอมากถึงมากที่สุดในการอยู่กับครอบครัว  โดยดัชนีครอบครัวอบอุ่น (ต้นแบบ) ได้คะแนนรวม 72.83 คะแนน ซึ่งคณะทำงานได้คัดเลือก 20 องค์กร ที่มีความโดดเด่น และได้คะแนนค่อนข้างสูง เพื่อต่อยอดนำไปสู่การเป็นครอบครัวมีสุขขยายผลสู่องค์กรต่างๆ ต่อไป

“เราพบว่าครอบครัวเป็นส่วนเป็นฐานสำคัญของผลิตภาพ เรามีการเก็บข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ พอเขามีประเด็นปัญหาด้านครอบครัว การทำงานก็ประสิทธิภาพลดลง องค์กรคือผู้ได้รับผลกระทบ ยิ่งตอนทำ Happy Work Place พบว่า Happy Family มีความสำคัญไม่น้อยกว่า Happy Money ทำให้เรามองว่าเรื่องเงินอาจไม่ใช่ตัวหลักก็ได้ รางวัลนี้เราอยากให้การสร้างเสริมตรงนี้มีความสากล ทำให้เขารู้สึกภาคภูมิใจ และเป็นการกระจายต้นแบบ ที่สำคัญเรามุ่งหวังในมิติการแลกเปลี่ยนระหว่างกัน ได้ภาคีที่มาร่วมมือขับเคลื่อน”

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ