วัดใจกัปตันเรือเหล็กเดินหน้ารถไฟ3สนามบินเอื้อคนไทยหรือนายทุน
วัดใจกัปตันเรือเหล็กเดินหน้ารถไฟสามสนามบินเอื้อคนไทยหรือนายทุน โดย... ทีมข่าวการเมือง เครือเนชั่น
ลุ้นกันว่าวันที่ 15 ตุลาคม 2562 กลุ่มกิจการร่วมค้าเจริญโภคภัณฑ์ จะลงนามในสัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) กับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ตามเส้นตายที่อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงคมนาคมวางไว้หรือไม่?
เพราะเสี่ยหนูไล่บี้กลุ่มกิจการร่วมค้าเจริญโภคภันฑ์โฮลดิ้ง และพันธมิตรให้มาลงนามในสัญญานี้หลังชนะประมูลและเด้งเชือกมาระยะหนึ่งเพื่อมิให้เกิดข้อครหา....
ล่าสุดเสี่ยหนูระบุถึงการขันนอตโครงการนี้ว่า "มันมีการสื่อสารว่าผมหักกับกลุ่มซีพี แต่ความเป็นจริงไม่ได้เป็นเป็นเช่นนั้นเลย ขอให้เข้าใจว่าในฐานะรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลเรื่องนี้อยู่ มันจำเป็นต้องทำงาน หากอยู่เฉยๆ จะจ้างผมทำไม และกลุ่มซีพีเอช ก็ชนะการประมูลมาจะครบปีแล้ว จำเป็นต้องเดินหน้ากันเสียที
ทั้งนี้เมื่อทางเอกชนเสนอราคาต่ำสุดถูกกว่าคู่แข่งประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ก็ต้องยอมรับว่าภาครัฐเองยังตะลึงกับราคานี้และพอใจมาก แน่นอนว่าพร้อมจะช่วยเหลือฝ่ายเอกชนแต่ก็ขอให้เป็นไปตามสัญญาที่ให้ไว้ อีกอย่างคือที่เราทำเพราะว่าเรามองถึงอนาคต เนื่องจากหากเซ็นรับงานไปทำแล้ว รู้ราคาแน่นอน ทางเอกชนจะได้ไปคุยกับซัพพลายเออร์ได้ งานจะได้เดินหน้าเสียที"
และย้อนไปดูสิ่งที่ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เคยยํ้าข้อมูลคณะกรรมการคัดเลือกที่แจ้งว่ากลุ่มซีพีสามารถทำตามข้อกำหนดหนังสือแนบท้ายสัญญา ดังนั้นน่าจะลงนามในสัญญาได้ “ในแง่การก่อสร้างที่มีปัญหาก็มีข้อกำหนดชัดเจน หากพื้นที่ใดมีปัญหาก็สามารถขยายเวลาในการก่อสร้างออกไปได้”
ดังนั้นโครงการนี้ต้องลุยเพราะวันที่ 30 กันยายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 9/2562 เพื่อติดตามความคืบหน้าการเจรจาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินวงเงิน 2.2 แสนล้านบาท
กพอ.รับทราบ การวางกำหนดการส่งมอบที่ดินให้แล้วเสร็จโดยเร็ว คือ ส่งมอบที่ดิน 72% ภายใน 1 ปี หลังลงนามในสัญญาร่วมลงทุนเพื่อให้เอกชนเริ่มก่อสร้างโครงการและเห็นชอบให้กระทรวงพลังงานเร่งรัดการรื้อย้ายท่อก๊าซยาว 12 กม. ยกเสาส่งไฟฟ้าแรงสูง 16 จุด กระทรวงมหาดไทย เร่งรัด ย้ายท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ 4 จุด ย้ายเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงยาว 14 กม. ยกเสาส่งไฟฟ้าแรงสูง 39 จุด ย้ายท่อประปาขนาดใหญ่ยาว 2 กม. และกระทรวงคมนาคม โดย รฟท. ใช้สิทธิ์เร่งรัดให้ย้ายท่อน้ำมันของบริษัทเอกชน ระยะทาง 44 กม. รวมทั้งเร่งรัด พรฎ. เวนคืนที่ดิน พ.ศ. ... ซึ่งจะทำให้การส่งมอบพื้นที่โครงการเป็นไปตามแผนงาน และโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จได้ตามเป้าหมาย
น่าพินิจว่ารัฐบาลลุงตู่ต้องการให้โครงการนี้บรรลุตามไทม์ไลน์เพื่อเดินหน้าไทยแลนด์ 4.0 ให้บรรลุตามหวัง และเสี่ยหนูซึ่งเป็นรองนายกฯ ที่ดูแลกระทรวงหูกวางก็เร่งดันเรื่องนี้ให้ยุติมิให้เกิดข้อพิพาทในวันข้างหน้า และน่ามองว่าทำไมขั้วฝ่ายค้านและบางองค์กรเอกชนที่ต่อสู้เพื่อดูแลผลประโยชน์ชาติกลับนิ่งในเรื่องนี้แบบฉงนใจ?
แต่สิ่งที่น่าชมเชยคือครม.ชุดนี้มิได้โอนอ่อนตามข้อเรียกร้องของเอกชนไปเสียหมดเพราะหากไล่ช่วงเวลาที่ผ่านมาพบว่าปมปัญหาความล่าช้าคือกลุ่มซีพีต้องการให้รฟท.เคลียร์พื้นที่ก่อนส่งมอบให้เสร็จสมบูรณ์ 100% พร้อมแจงเหตุผลเกรงก่อสร้างเสร็จไม่ทันตามสัญญา 5 ปี มีภาระดอกเบี้ยผูกพันจากการส่งมอบพื้นที่แต่ละช่วงแต่ละตอนต้องเริ่มนับหนึ่งในสัญญา เชื่อว่าต้องเกินเวลาทั้งเวนคืน ไล่รื้อ
ขณะที่ รฟท.ยืนยันในฐานะผู้ร่วมลงทุนมองว่าคงไม่สร้างปัญหาลุกลามบานปลายในลักษณะนั้น ถัดมากลุ่มซีพียังตั้งเงื่อนไขคือโยนภาระทุบเสาตอม่อโฮปเวลล์ให้เป็นหน้าที่ของรฟท. กระทั่งอนุทินออกมาประชดจะขอควักเงินส่วนตัว 200 ล้านบาทให้เป็นค่ารื้อถอนซึ่งมองว่าเรื่องแค่นี้ไม่น่าจะนำมาเป็นข้ออ้างเลื่อนลงนาม
ปมลึกที่คนในแวดวง ครม.ลุงตู่ 2 ประเมินไว้คือกลุ่มซีพีต้องการขอให้กระทรวงการคลังคํ้าประกันเงินลงทุนดอกเบี้ยตํ่าวงเงิน 2 แสนล้านบาทจากธนาคารต่างชาติในฐานะพันธมิตรซึ่งข้อนี้ถูกคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินตัดออกเป็นข้อแรกๆ
และทราบจากมุมคิดของผู้รับเหมาที่มองว่าหากกลุ่มซีพีตั้งใจจริงไม่น่าตื่นกลัวล่วงหน้า ทุกโครงการย่อมมีผลกระทบด้านการเวนคืนไล่รื้อแทบทั้งสิ้น แต่ที่น่าจับตาการดัมพ์ราคาตํ่าๆ ไร้เงื่อนไขพิเศษทำให้กลุ่มซีพีตกที่นั่งขาดทุน อีกประเด็นใหญ่ที่เพลี่ยงพลํ้าสะดุดขาตัวเองคือสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน 2.9 แสนล้านบาท ที่เสมือนเป็นขุมทรัพย์ทำกำไรต่อยอดไฮสปีดซึ่งยังลุ้นต่อว่าในที่สุดแล้วศาลปกครองสูงสุดจะพลิกคำพิพากษาจากศาลปกครองกลางหรือไม่
อย่างไรก็ตามวันที่ 7 พฤศจิกายน 2562 จะหมดเวลาการยื่นราคาไฮสปีดที่กลุ่มซีพีเสนอ หากวันที่ 15 ตุลาคม ถูกถ่างเวลาเซ็นสัญญาออกไปนั้น รอดูว่าลุงตู่, เสี่ยหนู, รมต.โอ๋ จะเคาะระฆังและตีธงไปมุมใด เพราะหากล้มประมูลผู้ชนะประมูลต้องจ่ายค่าปรับและโดนขึ้นบัญชีดำห้ามเกี่ยวข้องกับการประมูลโครงการรัฐ หากจะให้ผู้ชนะอันดับที่สองในการยื่นซองรับงานนี้ไปก็อาจโดนผู้ร่วมประมูลรายอื่นฟ้องร้องได้
ตรงนี้มันคือข้อพิสูจน์ความกล้าของลุงตู่และรมต.จากภท.ว่าจะผลักดันให้เมกะโปรเจกท์ชิ้นนี้โปร่งใสไร้ข้อครหาและสร้างประโยชน์ให้บ้านเมือง
หรือหากไม่เป็นเช่นนั้น..น่ากลัวว่าขั้วตรงข้ามจะจัดหนักประเคนเรือเหล็กว่าเอื้อนายทุนและเป็นปมปัญหาที่ต้องตามแก้ไขเหมือนค่าโง่หลายโครงการที่คนไทยต้องเจ็บใจมามากแล้ว
หากเอกชนที่ชนะการประมูลงานแล้วไม่มาเซ็นสัญญาผลจะเป็นอย่างไร
รฟท.จะใช้สิทธิตามที่กำหนดไว้ในข้อ 56 ตามเอกสาร RFP คือ ดำเนินการริบหลักประกันซองวงเงิน 2 พันล้านบาท หรือเรียกร้องจากผู้ออกหลักประกันซอง และเรียกร้องค่าเสียหายจากกลุ่มซีพีถ้ามี รวมทั้งจะพิจารณาให้ผู้ทิ้งงานตามระเบียบของทางราชการต่อไป
สำหรับข้อกำหนดที่ถูกระบุไว้ในเอกสาร RFP ในประเด็นหลักประกันซองจะถูกริบได้ แบ่งออกเป็นกรณี 1.ผู้ยื่นข้อเสนอขอถอนเอกสารข้อเสนอของตนในช่วงเวลาที่เอกสารข้อเสนอยังไม่หมดอายุ
2.ผู้ยื่นข้อเสนอไม่ยอมรับการแก้ไขข้อมูลที่เสนอไป
3.ในกรณีที่ผู้ยื่นข้อเสนอเป็นผู้ที่ได้รับคัดเลือกแต่ไม่ดำเนินการตามข้อกำหนด คือ ก. ไม่ลงนามสัญญาร่วมลงทุน หรือ ข. ไม่ยื่นหลักประกันสัญญาซึ่งผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการประเมินจะต้องวางหลักประกันสัญญาที่ออกโดยธนาคารให้แก่รฟท.ในวันที่เข้าทำสัญญาร่วมทุนเป็นมูลค่า 4.5 พันล้านบาท
ส่วนกรณีการพิจารณาให้ผู้ทิ้งงานตามระเบียบของทางราชการตามกฎหมายของกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังระบุไว้ว่าเมื่อส่วนราชการดำเนินการจัดจ้างและมีเหตุแห่งการทิ้งงาน คือผู้ที่ได้รับการคัดเลือกแล้วไม่มาทำสัญญา หรือข้อตกลงภายในเวลาที่ทางราชการกำหนด
ส่วนราชการประกาศจัดจ้างดำเนินการจนกระทั่งได้ตัวผู้จะมาลงนามในสัญญากับทางราชการแล้ว และส่วนราชการผู้ว่าจ้างให้มาทำสัญญาหรือข้อตกลงแต่ปรากฏว่าผู้ประกอบการรายนั้นไม่มาทำสัญญาหรือข้อตกลง ก็เข้าข่ายว่าผู้ประกอบการรายนั้นเป็นผู้ทิ้งงาน
โดยการลงโทษผู้ทิ้งงานตามกฎหมายระบุว่าห้ามส่วนราชการก่อนิติสัมพันธ์กับผู้ทิ้งงานที่กระทรวงการคลังได้ระบุชื่อไว้ในบัญชีรายชื่อผู้ทิ้งงาน และได้แจ้งเวียนชื่อแล้ว ทั้งในส่วนของเป็นผู้ทิ้งงานด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล โดยการพิจารณาลงโทษผู้ทิ้งงาน นอกจากจะเป็นผู้ทิ้งงานของส่วนราชการแล้วยังหมายรวมถึงผู้ทิ้งงานของรัฐวิสาหกิจ และองค์ปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย