คอลัมนิสต์

"อนุสรณ์" ค้านมาตรการแบงก์ชาติ

"อนุสรณ์" ค้านมาตรการแบงก์ชาติ

22 มิ.ย. 2563

"อนุสรณ์" ค้านมาตรการแบงก์ชาติ โดย...  อนุสรณ์ ธรรมใจ 

 

          แม้นเห็นด้วยมาตรการแบงก์ชาติแต่ห่วงความตื่นตระหนก และอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุด หากปล่อยให้สมาคมธนาคารไทยหรือธนาคารพาณิชย์ตัดสินใจเองจะดีกว่า สนับสนุนมาตรการงดจ่ายเงินปันผลและการซื้อหุ้นคืนของสถาบันการเงินเพื่อความเข้มแข็งของฐานเงินทุนและสภาพคล่องเตรียมพร้อมรับมือวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและปัญหาหนี้เสียภาคการเงินในอนาคต ผู้ถือหุ้นจำเป็นต้องเสียสละผลประโยชน์เพื่อให้ระบบการเงินและสถาบันการเงินมีความเข้มแข็งฝ่าวิกฤติไปได้ และ จะทำให้ได้รับเงินปันผลและราคาที่ดีขึ้นในอนาคต  เตือน มาตรการอาจไม่เป็นไปตามเป้าหมายจากภาวะตื่นตระหนก นักลงทุนอาจสูญเสียความมั่นใจเทขายหุ้นกลุ่มแบงก์ออกมากแล้วส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินภาพรวม ส่งผลต่อ Wealth Effect ของนักลงทุนในทางลบ ทำให้เศรษฐกิจหดตัวมากกว่าเดิมได้ ประกาศของแบงก์ชาติอาจช่วยลดความไม่พอใจของนักลงทุนต่อผู้บริหารและกรรมการธนาคารพาณิชย์แต่จะทำให้ตลาดการเงินตีความสถานการณ์เศรษฐกิจและภาวะการเงินในทางเลวร้ายซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหา ตลาดหุ้นลงแรงอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจได้ 


          ทางเลือกนโยบายการเงินที่ต้องทำควบคู่การสั่งแบงก์พาณิชย์งดจ่ายเงินปันผล คือ ลดอัตราดอกเบี้ยให้เหลือ 0% หรือใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบหากจำเป็น และ ทำ unsterilized FX open market intervention ต้องเน้นไปดูมาตรการมหภาค มากกว่า มาตรการจุลภาค ซึ่งส่งผลบวกในการดูแลเศรษฐกิจมากกว่า 
ฝากแก้ปัญหาผู้ขอสินเชื่อรายย่อยที่ฐานะทางการเงินไม่ดีถูกปฏิเสธเงินกู้จากธนาคารเนื่องจากมีการกำหนดเพดานดอกเบี้ยทำให้ไม่สามารถคิดอัตราดอกเบี้ยได้ตามความเสี่ยงของลูกค้า คนจำนวนหนึ่งต้องหันไปหาเงินกู้นอกระบบซึ่งอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าสินเชื่อในระบบอย่างมาก นำไปสู่กับดักความเป็นหนี้สิน ถูกเอาเปรียบ และ ไม่สามารถตรวจสอบและกำกับดูแลได้เท่ากับสินเชื่อในระบบ   

          ที่ บ้านพิทักษ์ธรรม เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ 
          11.30 น. วันที่ 21มิถุนายน พ.ศ. 2563 
          นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการและกรรมการตรวจสอบ ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า แม้นจะสนับสนุนมาตรการธนาคารแห่งประเทศไทยในการให้สถาบันการเงินงดจ่ายเงินปันผลและห้ามไม่ให้ซื้อหุ้นคืน มาตรการดังกล่าวควรทำให้ความเข้มแข็งของฐานเงินทุนและสภาพคล่องดีขึ้นเตรียมพร้อมรับมือวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและปัญหาหนี้เสียภาคการเงินในอนาคต ผู้ถือหุ้นจำเป็นต้องเสียสละผลประโยชน์เพื่อให้ระบบการเงินและสถาบันการเงินมีความเข้มแข็งฝ่าวิกฤติไปได้ และ จะทำให้ได้รับเงินปันผลและราคาที่ดีขึ้นในอนาคต  อย่างไรก็ตาม ขอสนับสนุนอย่างมีเงื่อนไข และ ขอเตือนด้วยความเคารพว่า มาตรการดังกล่าวอาจไม่เป็นไปตามเป้าหมายและกลายเป็นปฏิกิริยาทางลบต่อตลาดการเงินมากเกินคาดการณ์ได้ เกิดภาวะตื่นตระหนก เพราะทำให้เกิดข้อสงสัยว่า หนี้เสียในระบบอาจมีมากกว่าที่ประกาศกันไว้มากและอาจเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดหลังจากมาตรการการไม่นับรวมการยืดการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นหนี้เสียในขณะนี้สิ้นสุดลง นักลงทุนอาจสูญเสียความมั่นใจเทขายหุ้นกลุ่มแบงก์ออกมากแล้วส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินในภาพรวม ส่งผลต่อ Wealth Effect ของนักลงทุนในทางลบ ทำให้เศรษฐกิจหดตัวมากกว่าเดิมได้ มาตรการงดจ่ายเงินปันผลก็ดี มาตรการห้ามไม่ให้ซื้อหุ้นคืนก็ดี หรือ การตั้งอัตราเงินสดสำรองไว้ในอัตราที่สูงก็ดี มีเป้าหมายเพื่อให้ระบบสถาบันการเงินมีความมั่นคงรองรับหนี้เสียและปัญหาการชะลอตัวเศรษฐกิจอย่างรุนแรงได้ แต่ประเมินได้ว่า การดำเนินนโยบายหรือมาตรการดังกล่าวอยู่ภายใต้กรอบคิดอนุรักษ์นิยมทางการเงินที่อาจไม่สอดรับกับสถานการณ์ที่หดตัวอย่างหนัก มาตรการเหล่านี้จะสร้างภาวะที่ทำให้มีการปล่อยสินเชื่อน้อยลงเพราะกลัว NPL 

 

          นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวอีกว่า ตามข้อมูลงานวิจัยของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เมื่อปีที่แล้ว ธนาคารขนาดใหญ่ระดับโลกประมาณ 30 แห่งจ่ายเงินปันผลและใช้เงินซื้อหุ้นคืนไม่ต่ำกว่า 250,000 ล้านดอลลาร์หรือคิดเป็นเงินไทย 7.752 ล้านล้านบาท ขนาดของเม็ดเงินประมาณครึ่งหนึ่งของจีดีพีของไทยทั้งประเทศ ในปีนี้ บางประเทศมีมาตรการไม่ให้จ่ายเงินปันผลและซื้อหุ้นคืน เงินจะหายไปจากระบบอยู่พอสมควร ธนาคารกลางของหลายประเทศคงมีการทำ Stress Test สถาบันการเงินในประเทศตัวเอง แล้วจึงตัดสินใจไม่ให้จ่ายเงินปันผล การทดสอบฐานะทางการเงินของแบงก์จะช่วยวิเคราะห์เชิงปริมาณได้ว่า หากจ่ายเงินปันผลหรือซื้อหุ้นคืนไปแล้ว ธนาคารแห่งใดยังคงมีฐานะของเงินทุนในการรับมือกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจได้หรือไม่ และ หวังว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ทำ Stress Test แล้ว ก่อนตัดสินใจออกมาตรการงดจ่ายปันผลและซื้อหุ้นคืน   


          นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการตรวจสอบ ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวอีกว่า ประกาศของแบงก์ชาติอาจช่วยลดความไม่พอใจของนักลงทุนต่อผู้บริหารและกรรมการธนาคารพาณิชย์แต่จะทำให้ตลาดการเงินตีความสถานการณ์เศรษฐกิจและภาวะการเงินในทางเลวร้ายซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาความตื่นตระหนกเกินควร ตลาดหุ้นจะปรับตัวลงแรงโดยเฉพาะหุ้นกลุ่มธนาคารอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจได้ จึงเป็นเรื่องที่แบงก์ชาติและผู้ที่เกี่ยวข้องในตลาดทุนต้องบริหารความตื่นตระหนกนี้ให้ได้ ความจริงแล้ว มีอีกทางเลือกหนึ่งมีเป้าหมายเดียวกัน เพื่อให้สถาบันการเงินมีฐานทุนเข้มแข็งรองรับการพุ่งขึ้นของหนี้เสียในอนาคต คือ การปล่อยให้คณะกรรมการธนาคารพาณิชย์ ที่ประชุมผู้ถือหุ้น ตัดสินใจกันเอง หรือ ให้สมาคมธนาคารไทยหารือแล้วออกมาตรการแบบสมัครใจ (ไม่ต้องบังคับ) ว่า ทุกธนาคารจะงดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในปีนี้ ธนาคารควรจ่ายเงินปันผลหรือรับซื้อหุ้นคืนหรือไม่ก็เป็นเรื่องความสมัครใจเอง ภาวะตื่นตระหนกจะน้อยกว่ามาก แบงก์ชาติทำหน้าที่เพียงปล่อยปริมาณเงินเข้ามาในระบบให้มากพอ แล้วไม่ต้องเข้าไปแทรกแซงการตัดสินใจของธนาคารพาณิชย์ บางประเทศใช้มาตรการแบบที่ ธปท ประกาศเพราะเห็นว่า ฐานเงินทุนที่เข้มแข็ง สภาพคล่องที่เพียงพอ มีความจำเป็นต่อการปล่อยสินเชื่อใหม่ในอนาคตรวมทั้งเพื่อรองรับหนี้เสียในอนาคต แต่การตัดสินในระดับจุลภาค จะจ่ายเงินปันผลหรือไม่จ่ายเงินปันผล จะซื้อหุ้นคืนหรือไม่ ควรเป็นเรื่องที่เอกชนตัดสินใจเองได้ แต่สิ่งที่แบงก์ชาติต้องทำคือการเพิ่มปริมาณเงินเข้ามาในระบบให้มากเป็นพิเศษ การแทรกแซงเงินบาทไม่ให้แข็งค่าโดยไม่ต้องดูดซับเงินบาทกลับ  ทางเลือกทางนโยบายการเงินที่ต้องทำควบคู่กันไปกับมาตรการสั่งแบงก์พาณิชย์งดจ่ายเงินปันผล คือ ลดอัตราดอกเบี้ยให้เหลือ 0% หรือใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบหากจำเป็น และ ทำ unsterilized FX open market intervention ต้องเน้นไปดูมาตรการมหภาค มากกว่า มาตรการจุลภาค ซึ่งส่งผลบวกในการดูแลเศรษฐกิจมากกว่า


          นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการและกรรมการตรวจสอบ ธนาคารแห่งประเทศไทย ฝากแก้ปัญหาผู้ขอสินเชื่อรายย่อยที่มีฐานะทางการเงินไม่ดีถูกปฏิเสธเงินกู้จากธนาคารเนื่องจากมีการกำหนดเพดานดอกเบี้ยทำให้ไม่สามารถคิดอัตราดอกเบี้ยได้ตามความเสี่ยงของลูกค้า คนจำนวนหนึ่งต้องหันไปหาเงินกู้นอกระบบซึ่งอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าสินเชื่อในระบบอย่างมาก นำไปสู่กับดักความเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว ถูกเอาเปรียบ และ ไม่สามารถตรวจสอบและกำกับดูแลได้เท่ากับสินเชื่อในระบบ การปล่อยให้สถาบันการเงินคิดอัตราดอกเบี้ยลอยตัวตามความเสี่ยงจึงเป็นเรื่องที่ดีกว่า โดยธนาคารแห่งประเทศไทยต้องเปิดเสรีทางการเงินเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดการแข่งขันในระบบสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นอีก จะช่วยให้สถาบันการเงินไม่สามารถคิดดอกเบี้ยสูงเกินไปอันเป็นการเอาเปรียบลูกค้าได้ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ธปท ก็ประสบความสำเร็จในการลดอำนาจผูกขาดในระบบสถาบันการเงินได้ระดับหนึ่งอยู่แล้วแต่ต้องเพิ่มขึ้นอีกเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนและภาคธุรกิจ ขณะเดียวกันก็ต้องดำเนินการให้เกิดความสมดุลไม่นำไปสู่การแข่งขันมากเกินพอดีจนทำให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินโดยรวมได้ 

.