คอลัมนิสต์

เปิดขั้นตอนแต่งตั้ง "เจ้าอาวาส" กับตำแหน่งที่หอมหวาน เดิมพันร้อนวงการสงฆ์

เปิดขั้นตอนแต่งตั้ง "เจ้าอาวาส" กับตำแหน่งที่หอมหวาน เดิมพันร้อนวงการสงฆ์

03 พ.ย. 2564

เปิดขั้นตอนการแต่งตั้ง "เจ้าอาวาส" กับตำแหน่งที่หอมหวาน กลายเป็นเดิมพันร้อนวงการผ้าเหลือง จากปมปัญหาแต่งตั้งเจ้าอาวาส "วัดสร้อยทอง"

ยังคงเป็นประเด็นร้อนในวงการสงฆ์ สำหรับการแต่งตั้ง "เจ้าอาวาส" ที่เริ่มจุดประกายจากกรณีการไลฟ์ของ "พระมหาไพรวัลย์" ประกาศพร้อมลาสิกขา หาก พระราชปัญญาสุธี (อุทัย ฌาโณทโย) รักษาการเจ้าอาวาส "วัดสร้อยทอง" ไม่ได้ขึ้นตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส ท่ามกลางกระแสวิพากษณ์วิจารณ์ ทั้งติติง และให้กำลังใจ จนกลายเป็นปมร้อนสั่นสะเทือนวงการสงฆ์ "คมชัดลึกออนไลน์" รวบรวมขั้นตอนการแต่งตั้งเจ้าอาวาส คุณสมบัติ และ อำนาจ ที่หอมหวลจนกลายเป็นการเมืองใน "ศาสนจักร"

 

 

คุณสมบัติและอำนาจของตำแหน่ง"เจ้าอาวาส"

 

"เจ้าอาวาส" คือพระภิกษุ ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ปกครองวัด มีหน้าที่ปกครองดูแลอำนวยกิจการทุกอย่างเกี่ยวกับวัด กฎหมายกำหนดให้วัดหนึ่งมีเจ้าอาวาสรูปหนึ่ง แต่จะมีรองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาสได้หลายรูป ตามควรแก่ฐานะของวัด เจ้าอาวาสเป็น พระสังฆาธิการ และเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา เจ้าอาวาสมีหน้าที่ดังนี้

 

  • บำรุงรักษาวัด จัดกิจการ และศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี
  • ปกครอง และสอดส่องให้บรรพชิต และคฤหัสถ์ที่มีอยู่ หรือพำนักอาศัยในวัดนั้น ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งของมหาเถรสมาคม
  • เป็นธุระในการอบรม และสั่งสอนพระธรรมวินัย แก่บรรพชิตและคฤหัสถ์
  • ให้ความสะดวกตามสมควรในการทำบุญทำกุศล

 

เปิดขั้นตอนแต่งตั้ง \"เจ้าอาวาส\" กับตำแหน่งที่หอมหวาน เดิมพันร้อนวงการสงฆ์

อำนาจหน้าที่ของ"เจ้าอาวาส"

 

  • ห้ามบรรพชิต และคฤหัสถ์ ที่มิรับอนุญาตจากเจ้าอาวาสเข้าไปอยู่อาศัยในวัด
  • สั่งให้บรรพชิต และคฤหัสถ์ ที่ไม่อยู่ในโอวาทของเจ้าอาวาสออกไปเสียจากวัด
  • สั่งให้บรรชิต และคฤหัสถ์ที่มีอยู่ หรือพำนักอาศัยอยู่ในวัด ทำงานภายในวัด หรือให้ทำทัณฑ์บนหรือขอขมาโทษ ในกรณีบรรพชิตหรือศิษย์วัดนั้นประพฤติผิดคำสั่งเจ้าอาวาส 
  • ซึ่งได้สั่งโดยชอบด้วยพระธรรมวินัย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบหรือคำสั่งของมหาเถรสมาคม

 

ขั้นตอนการแต่งตั้งเจ้าอาวาส

 

ตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 24 พ.ศ.2541 ว่าด้วยการแต่งตั้ง-ถอดถอนพระสังฆาธิการ ในส่วนที่ 6 เจ้าอาวาส
         

ข้อ 26 พระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ต้องมีคุณสมบัติโดยเฉพาะอีกส่วนหนึ่ง ดังนี้

 

 

  1. มีพรรษาพ้น 5 และ
  2. เป็นผู้ทรงเกียรติคุณเป็นที่เคารพนับถือของบรรพชิตและคฤหัสถ์ในถิ่นนั้น

 

ข้อ 27 ในการแต่งตั้งเจ้าอาวาสนอกจากพระอารามหลวงในตำบลใด ให้เป็นหน้าที่ของเจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล รองเจ้าคณะตำบล เจ้าสังกัด ถ้าไม่มีรองเจ้าคณะอำเภอ ไม่มีรองเจ้าคณะตำบล ให้เจ้าคณะอำเภอเลือกเจ้าอาวาสในตำบลนั้น รวมกันทั้งหมดไม่น้อยกว่า 3 รูป ร่วมกันพิจารณาคัดเลือกพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติตามข้อ 6 และข้อ 26 แล้ว ให้เจ้าคณะอำเภอรายงานเสนอเจ้าคณะจังหวัด เพื่อพิจารณาแต่งตั้ง

 

ถ้าพระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดนั้น ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดอยู่ด้วย ให้เจ้าคณะอำเภอรายงานเสนอเจ้าคณะจังหวัด เพื่อเจ้าคณะภาคพิจารณาแต่งตั้ง


         
ข้อ 29 พระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสพระอารามหลวงในกรุงเทพมหานคร ต้องมีคุณสมบัติโดยเฉพาะอีกส่วนหนึ่ง ดังนี้
              

  1. มีพรรษาพ้น 10
  2. เป็นผู้ทรงเกียรติคุณเป็นที่เคารพนับถือของบรรพชิตและคฤหัสถ์ และ
  3. มีสมณศักดิ์

 

  • ไม่ต่ำกว่าพระราชาคณะขั้นราช สำหรับพระอารามหลวงชั้นเอก
  • ไม่ต่ำกว่าพระราชาคณะชั้นสามัญ สำหรับพระอารามหลวงชั้นโท
  • ไม่ต่ำกว่าพระครูผู้ช่วยเจ้าอาวาสชั้นเอก สำหรับพระอารามหลวงชั้นตรี

 

ข้อ 30 พระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสพระอารามหลวงในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานคร ต้องมีคุณสมบัติโดยเฉพาะอีกส่วนหนึ่ง ดังนี้

 

  1. มีพรรษาพ้น 10
  2. เป็นผู้ทรงเกียรติคุณเป็นที่เคารพนับถือของบรรพชิตและคฤหัสถ์ และ
  3. มีสมณศักดิ์

 

  • ไม่ต่ำกว่าพระราชาคณะขั้นสามัญ สำหรับพระอารามหลวงชั้นเอก
  • ไม่ต่ำกว่าพระครูผู้ช่วยเจ้าอาวาสชั้นเอก สำหรับพระอารามหลวงชั้นโท
  • ไม่ต่ำกว่าพระครูผู้ช่วยเจ้าอาวาสชั้นโท หรือพระครูสัญญาบัตรที่มีนิตยภัต ไม่ต่ำกว่าพระครูผู้ช่วยเจ้าอาวาสชั้นโท สำหรับพระอารามหลวงชั้นตรี

 

ข้อ 31 ในการแต่งตั้งเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ให้เป็นหน้าที่ของเจ้าคณะจังหวัด พิจารณาคัดเลือกพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติตามข้อ 6 และข้อ 29 หรือข้อ 30 แล้วแต่กรณี เสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับ เพื่อมหาเถรสมาคมพิจารณา

 

  • ถ้าพระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ตามข้อ 29 หรือข้อ 30 แล้วแต่กรณี ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดอยู่ด้วย ให้เป็นหน้าที่ของเจ้าคณะภาคดำเนินการ ตามความในวรรคต้น

 

ข้อ 32 ในการแต่งตั้งรองเจ้าอาวาส หรือผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ให้เจ้าอาวาสพระอารามหลวงนั้น พิจารณาคัดเลือกพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติตามข้อ 6 และข้อ 26 และระบุหน้าที่ที่ตนจะมอบหมายให้ปฏิบัติแล้วรายงานเจ้าคณะจังหวัดเพื่อพิจารณาเสนอตามลำดับจนถึงมหาเถรสมาคม

 

ข้อ 33 สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งเจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส และผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ตามมติมหาเถรสมาคม

 

เปิดขั้นตอนแต่งตั้ง \"เจ้าอาวาส\" กับตำแหน่งที่หอมหวาน เดิมพันร้อนวงการสงฆ์

 

ที่มา : วิกิพีเดีย

       : มหาเถรสมาคม

       : http://www.alittlebuddha.com