คอลัมนิสต์

ทางแพร่งสีส้ม ‘ปิยบุตร’ ฝ่ายค้านทรนง ‘พิธา’ รัฐบาลสถานเดียว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สู้ไม่ถอย พิธา จับมือเพื่อไทย โหวตรอบสอง ปิยบุตร เปิดเกมปิดสวิตช์ สว. สู้ให้ถึงที่สุด แล้วถอยมาเป็นฝ่ายค้าน ส่องลึกก้าวไกล หลังพ่ายยกแรก แยกเป็น 2 แนวทาง

เกมยังไม่จบ พิธา จับมือเพื่อไทย ขอสู้ศึกโหวตรอบสอง ปิยบุตร เปิดเกมปิดสวิตช์ สว. สู้ให้ถึงที่สุด แล้วถอยมาเป็นฝ่ายค้าน 


ส่องลึกก้าวไกล หลังพ่ายยกแรก แยกเป็น 2 แนวทาง ฝ่ายหนึ่งดันเป็นรัฐบาล แม้จะต้องยอมให้คนเพื่อไทย เป็นนายกฯ อีกฝ่ายหนึ่ง ขอเป็นฝ่ายค้านดีกว่า
 

หลังปิดประชุมรัฐสภา พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯพรรคก้าวไกล ออกมาแถลงสั้นๆ กับนักข่าวว่า ผลที่ออกมาเรายอมรับ แต่ไม่ยอมแพ้ และยอมรับว่า เสียงมติไม่ถึง 376 ได้เพียง 324 เสียง ยังจะเดินหน้าสู้ต่อไป


ช่วงเย็นวันที่ 14 ก.ค. 2566 ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล จะได้เข้าร่วมประชุมปรึกษาหารือกับแกนนำพรรคเพื่อไทย เพื่อหาข้อสรุปว่า จะหาเสียงมาหนุนพิธาอย่างไร ให้ครบ 376 เสียง 


วันเดียวกัน พรรคก้าวไกล จะยื่นร่างกฎหมาย แก้ไข ม.272 ยกเลิกอำนาจ สว.ในการเลือกนายกฯ ซึ่งเงื่อนไขการแก้ไข ม.272 นั้น ต้องได้เสียงข้างมากของรัฐสภา 376 ขึ้นไป, ต้องมีเสียง สว.เห็นชอบ 1 ใน 3 หรือ 84 คนขึ้นไป และต้องมีฝ่ายค้านเห็นชอบไม่น้อยกว่า ร้อยละ 20
 

จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ตั้งข้อสังเกตว่า เพื่อไทยเคยเสนอยื่นญัตติแก้ไขมาแล้ว 2 ครั้ง ปรากฏว่าไม่ได้รับความเห็นชอบในรัฐสภา


สถานการณ์ปัจจุบัน องค์ประกอบอำนาจอธิปไตยยังไม่ครบ ไม่มีรัฐบาล ไม่มีฝ่ายค้าน จึงไม่สามารถให้สมาชิกรัฐสภาพิจารณาได้ 


ทำไมก้าวไกล จึงยื่นเสนอกฎหมายปิดสวิตช์ สว.ในช่วงนี้ คำตอบคือ การเดินเกมคู่ขนานเสนอกฎหมายปิดสวิตช์ สว. และหาเสียงสนับสนุนเพิ่ม ในการโหวตรอบที่สอง (ตามแผนเดิมวันพุธที่ 19 ก.ค.นี้)

 

 

ฝ่ายค้านผู้ทรนง
ผู้อยู่เบื้องหลังในการผลักดันแก้ไข ม.272 คือ ปิยบุตร แสงกนกกุล ที่โพสต์เฟซบุ๊กว่า “..นี่คือวิธีการต่อสู้แบบเป็นไปได้ การลงคะแนนเสนอพิธาไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้ทำอะไรอื่นเลย ไม่มีทางที่จะได้คะแนนเพิ่มมากกว่าวันนี้ หากพวกเขายังไม่ยอมยกเลิกมาตรา 272 ให้อีก ก็ให้มันรู้ไป แล้วถอยออกมา ประจานระบบนี้ให้สังคมไทยได้รู้..”

 

 

ปิยบุตร เดินหน้าให้สุด แล้วถอยเป็นฝ่ายค้าน

 


ข้อเสนอให้พรรคก้าวไกล ถอยมาเป็นฝ่ายค้านนั้น เป็นเรื่องที่มีการถกเถียงในพรรคมาตั้งแต่หลังเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566


ปิยบุตร และกลุ่ม สส.รุ่นใหม่ อย่าง รังสิมันต์ โรม เคยเสนอเป็นฝ่ายค้าน ดีกว่าไปร่วมรัฐบาลกับเพื่อไทย และต้องลดเพดานแก้ไข ม.112 ในเอ็มโอยู 8 พรรค แถมต้องเสียตำแหน่งประธานสภาฯ ไปให้พรรคประชาชาติ


ก๊กสีส้มเชื่อว่า เลือกตั้งครั้งหน้า ถ้าพรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน จะสร้างปรากฏการณ์แลนด์สไลด์ของจริง จะได้ สส.มากกว่า 250 เสียงบวก และได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ 20-25 ล้านเสียง 

 

 

ต้องเป็นรัฐบาล
ขณะที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เห็นด้วยที่จะต้องเป็นฝ่ายรัฐบาล ไม่ว่า พิธาจะได้เป็นนายกฯ หรือต้องร่วมกับเพื่อไทย หนุนอุ๊งอิ๊งหรือเศรษฐา เป็นนายกฯ


ก๊กสีส้มที่ต้องการเป็นรัฐบาล ก็เพื่อนำนโยบายดีๆ มาแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาชน พร้อมผลักดันการปฏิรูปเชิงโครงสร้างได้ระดับหนึ่ง 


หากปล่อยให้พรรคเพื่อไทย เป็นนายกฯ และจัดตั้งรัฐบาลกับขั้ว 188 ในระยะสั้น เพื่อไทยอาจสูญเสียมวลชนไปส่วนหนึ่ง แต่ระยะยาว ถ้ารัฐบาลเพื่อไทย สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาพื้นฐานต่างๆ ให้กับประชาชนได้จริง คะแนนนิยมก็จะไหลกลับมาเหมือนเดิม


ตรงกันข้าม ผู้ที่เคยเลือกก้าวไกลในปี 2566 อาจเปลี่ยนใจไปเลือกเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งหน้า เพราะก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน ไม่มีผลงานเป็นรูปธรรม


เหนืออื่นใด การที่ก้าวไกลเข้าร่วมเป็นรัฐบาลนั้น ยังมีอำนาจในการเจรจาต่อรองกับชนชั้นนำได้ ยกเว้นก้าวไกล เจอตุลาการภิวัฒน์ จนถูกยุบพรรคแบบเดียวกับพรรคอนาคตใหม่ 


ในเวลานั้น อะไรก็เกิดขึ้นได้ในสังคมไทย นักรัฐศาสตร์หลายคน ก็ยังไม่พยากรณ์ฉากทัศน์หลังการยุบพรรคก้าวไกล ว่า ความขัดแย้งแบบแตกหักในสังคมไทย จะจบลงแบบใด 


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ