พรรษา - เทียนพรรษา
เมื่อ พ.ศ.๒๕๕๑ รัฐบาลไทยได้ประกาศให้วันเข้าพรรษาเป็น "วันงดดื่มสุราแห่งชาติ" โดยในปีถัดมา ยังประกาศให้วันเข้าพรรษาเป็นวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วราชอาณาจักร ทั้งนี้ เพื่อรณรงค์ให้ชาวไทยตั้งสัจจะอธิษฐาน งดการดื่มสุราในวันเข้าพรรษา และในช่วง ๓ เดือนร
สำหรับในพ.ศ.๒๕๕๔ วันเข้าพรรษา ตรงกับวันเสาร์ที่ ๑๖ กรกฎาคม ตามปฏิทินสุริยคติ การเข้าพรรษาตามปกติเริ่มนับตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ของทุกปี (หรือเดือน ๘ หลัง ถ้ามีเดือน ๘ สองหน) และสิ้นสุดลงในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ หรือวันออกพรรษา
ทั้งนี้ พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต) เจ้าอาวาสวัดราชโอสาราม ได้อธิบายความหมายของคำว่า “พรรษา” แปลว่า ฤดูฝน ปี คือ ครบรอบฤดูฝนครั้งหนึ่ง เป็นปีหนึ่ง หรือ พรรษาหนึ่ง
พรรษา ในคำวัด หมายถึง จำนวนการจำพรรษาของพระสงฆ์ ซึ่งมีปีละหนึ่งครั้ง หากจำพรรษามาแล้ว ๕ ครั้ง ก็เท่ากับ ๕ ปี นั่นเอง เช่น “พระน้อยบวชมาแล้ว ๕ พรรษา” แสดงว่า พระน้อยผ่านการจำพรรษามาแล้ว ๕ ครั้ง หรือบวชมาแล้ว ๕ ปี เขียนตามสำนวนวัดว่า มีพรรษา ๕
พรรษา ในคำวัดใช้นับจำนวนการจำพรรษาอย่างเดียว ไม่นิยมนับเป็นอายุปี ตามแบบราชาศัพท์ อย่างเช่น “ทรงมีพระชนมายุได้ ๖๐ พรรษา” หมายความว่า “มีอายุได้ ๖๐ ปี”
ส่วนคำว่า “พรรษากาล” หมายถึง ฤดูฝน เวลาเข้าพรรษาใช้ว่า พรรษากาล ก็มี
พรรษา ในคำวัดนิยมใช้กล่าวถึง กาลเวลาจำพรรษา หรือ ระยะเวลาเข้าพรรษา ๓ เดือน ของพระสงฆ์ เช่น ในแบบการอปโลกน์กฐินของพระสงฆ์จะระบุคำนี้ไว้ด้วย คือ “ผ้ากฐินทานกับทั้งผ้าอานิสังสบริวารทั้งปวงนี้เป็นของ... กอปรด้วยจิตศรัทธาน้อมนำถวายแต่พระสงฆ์ผู้อยู่จำพรรษากาลถ้วนไตรมาสในอาวาสนี้...”
ในขณะที่คำว่า “เทียนพรรษา” เจ้าคุณทองดีได้ให้ความหมายไว้ว่า เทียนขนาดใหญ่บูชาพระประธานในโบสถ์ตอนทำวัตรเช้าและทำวัตรเย็น ตั้งแต่วันเข้าพรรษาจนถึงวันออกพรรษา
เทียนพรรษา นิยมถวายในก่อนเทศกาลเข้าพรรษา จะถวายเป็นเล่มเดียวหรือถวายเป็นคู่ก็ได้ บางแห่งจัดแต่งเทียนพรรษาอย่างสวยงาม และมีพิธีแห่อย่างเอิกเริกก่อนนำไปถวายวัด โดยถือว่าเป็นงานบุญใหญ่
เทียนพรรษา สำหรับพระอารามหลวงสำคัญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะพระราชทานไว้สำหรับบูชาพระประธาน พระอารามละ ๑ เล่ม ทุกปีมิได้ขาด ถือเป็นพระราชประเพณีมาแต่โบราณ และในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ก่อนวันเข้าพรรษา ๑ วัน จะพระราชทานไฟเพื่อจุดเทียนนั้นด้วย
"พระธรรมกิตติวงศ์"