กฐิน-ผ้าป่า
กฐิน-ผ้าป่า : คำวัด โดย พระธรรมกิตติวงศ์
ประเพณีการทอดกฐินของพุทธศาสนิกชนไทยมีมาช้านาน โดยมีทั้งพิธีหลวงและพิธีราษฎร์ โดยการถวายผ้าพระกฐินของพระมหากษัตริย์ จัดเป็นพระราชพิธีที่สำคัญประจำปี ในปัจจุบันถวายผ้ากฐินในแง่การสนับสนุนผ้าไตรจีวรเพื่อใช้ในสังฆกรรมสำคัญของคณะสงฆ์ได้ถูกลดความสำคัญลงไป แต่กลับให้ความสำคัญกับบริวารของกฐินทานแทน เช่น เงิน หรือวัตถุสิ่งของ เพื่อนำสิ่งเหล่านี้มาพัฒนาถาวรวัตถุและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ซึ่งจัดเป็นสังฆทานอย่างหนึ่งเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙) ราชบัณฑิต และเจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม ได้ใหความหมายของคำว่า "กฐิน" ไว้ว่า เป็นภาษาพระวินัย เป็นชื่อเรียกผ้าพิเศษ ที่พระพุทธเจ้าอนุญาตให้ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือน แล้วรับมานุ่งห่มได้
กฐิน แปลตามศัพท์ว่า ไม้สะดึง คือ กรอบไม้ หรือแบบไม้สำหรับขึงผ้าที่จะเย็บทำเป็นจีวร ผ้าที่เย็บสำเร็จจากกฐิน หรือไม่สะดึง แบบนี้เรียกว่า ผ้ากฐิน
กฐินมีกำหนดระยะเวลาถวาย จะถวายตลอดไปเหมือนผ้าชนิดอื่นมิได้ ระยะเวลานั้นมีเพียง ๑ เดือน คือตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ไปจนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ (วันเพ็ญเดือน ๑๒ หรือวันลอยกระทง) ระยะเวลานี้เรียกว่า กฐินกาล คือระยะเวลา ทอดกฐิน หรือ เทศกาลทอดกฐิน
นอกจากนี้ยังมีคำที่เกี่ยวขกับเรื่องกฐินหลายคำ เช่น จองกฐิน ทอดกฐิน องค์กฐิน เครื่องกฐิน บริวารกฐิน กฐินต้น กฐินตกค้าง กฐินโจร กฐินทาน กฐินราษฎร์ และกฐินหลวง เป็นต้น
ส่วนคำว่า "ผ้าป่า" เจ้าคุณทองดีได้ให้ความหมายไวว่า เป็นผ้าที่ผู้ถวายนำไปวางพาดไว้บนกิ่งไม้เพื่อให้พระชักเอาไปเอง โดยไม่กล่าวคำถวายหรือประเคนเหมือนถวายของทั่วไป
ผ้าป่า เรียกดังนี้เพราะถือคติโบราณ คือสมัยพุทธกาลผ้าหายาก ภิกษุต้องแสวงหาผ้าที่เขาทิ้งไว้ตามป่าช้าบ้าง ตามทางเดินในป่าบ้างมาทำจีวรนุ่งห่ม คนใจบุญสมัยนั้นจึงนำผ้าไปแขวนไว้ตามต้นไม้ข้างทางที่พระเดินผ่าน ทำนองว่าทิ้งแล้วพระไปพบเข้าจึงหยิบไปทำจีวร โดยถือว่าเป็นผ้าไม่มีเจ้าของ ผ้าชนิดนั้นเลยเรียกว่า ผ้าป่า
กริยาที่พระหยิบผ้าไปใช้แบบนั้น เรียกว่า ชักผ้าป่า
ทอดผ้าป่า คือกริยาที่ถวายผ้าแบบนั้น และนิยมจัดของใช้เป็นบริวารผ้าป่าเหมือนบริวารกฐินด้วย