
งานองค์พระปฐมเจดีย์ ในวันที่..."แปรตามกาลเปลี่ยนตามคน"
งานองค์พระปฐมเจดีย์ ในวันที่..."แปรตามกาลเปลี่ยนตามคน" : ท่องไปในแดนธรรม เรื่อง / ภาพ ไตรเทพ ไกรงู
"เทศกาลนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์" หรือชาวบ้านเรียกว่า "กลางเดือนสิบสอง" และ "งานองค์พระ" เป็นงานที่จัดขึ้นทุกๆ ปี ระหว่างวันขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๒ ถึง วันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๑๒ รวม ๙ วัน ๙ คืน โดยในปี ๒๕๕๔ นี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๗-๑๕ พฤศจิกายน แต่ทางวัดจัดให้มีงานล่วงหน้า ๒ วัน และหลัง ๑๕ ค่ำ ๒ วัน
"งานองค์พระ" เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ หลังจากที่โปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์องค์พระปฐมเจดีย์ครั้งใหญ่แล้ว ยังให้ขุด "คลองเจดีย์บูชา" ตั้งแต่บ้านท่านามาจนถึงกลางเมืองนครปฐม เพื่อใช้เป็นเส้นทางมานมัสการองค์พระปฐมเจดีย์อีกด้วย
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้โปรดเกล้า ให้ดำเนินการปฏิสังขรณ์องค์พระปฐมเจดีย์สืบต่อมา และงานนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ก็จัดขึ้นเป็นประจำ เพื่อจะได้บูชาพระบรมสารีริกธาตุ ประหนึ่งมาเฝ้าอยู่เบื้องพระยุคลบาทแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงนับว่าเป็นบุญลาภอันประเสริฐสุด และอีกประการหนึ่งก็เพื่อจะได้ช่วยกันบริจาคเงินสมทบทุนไว้บูรณปฏิสังขรณ์องค์พระปฐมเจดีย์ให้ยืนยงคงอยู่ตลอดไป
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้บูรณะองค์พระปฐมเจดีย์ทรงลังกากลมครอบเจดี?ย์เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๐๐ เป็นต้นมาจนเสร็จสมบูรณ์เป็นองค์พระเจดีย์ทรงลังกากลมเจดีย์ดั้งเดิมไว้ดังที่เห็นในปัจจุบ?ันนี้แล้ว ความศรัทธาได้เกิดขึ้นกับชาวเมืองนครปฐมและจังหวัดใกล้เคียงทั่วไปทั้งประเทศ มีผู้คนทุกสารทิศมาทำการบูชาองค์พระปฐมเจดีย์ใหญ่ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ดอกไม้ธูปเทียนและผ้าห่มองค์พระปฐมเจดีย์ ซึ่งมีความเชื่อกันว่า ได้บุญกุศล ส่งให้มีชีวิตที่ดีในอนาคต
ในขณะที่การมานมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ของพระสงฆ์วัดต่างๆ บางวัดจะนำผ้าเหลืองพระแห่มาถวายเพื่อห่มองค์พระปฐมเจดีย์ เช่น หลวงปู่บุญ ขันธโชติ เจ้าอาวาสวัดกลางบางแก้ว ริมแม่น้ำนครชัยศรี ห่างจากองค์พระปฐมเจดีย์ ๑๒ กิโลเมตร แห่ผ้ามาตามคลองเจดีย์บูชาสมัยเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๖ เป็นต้น
พระมหาสุวิทย์ ปวิชฺชญฺญู เลขานุการเจ้าคณะภาค ๑๕ และผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ บอกว่า งานองค์พระมิใช่เพียงแค่งานนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์อย่างเดียว หากเป็นงานนมัสการพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ในวิหารต่างๆ รอบองค์พระปฐมเจดีย์ เช่น พระร่วงโรจนฤทธิ์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองนครปฐมพระพุทธรูปคันธราษฎร์ พระนอน พระพุทธรูปปางต่างๆ ครบทุกปาง โดยเฉาะก่อนงาน ๕ วัน หรือวันที่ ๒ พฤศจิกายน เป็นงานวันพระร่วงโรจนฤทธิ์
เมื่อทางรถยนต์ยังไม่เจริญ การเดินทางมาของคนต่างถิ่นต้องเดินเท้า ทั้งจากราชบุรี สมุทรสงคราม รวมทั้งสุพรรณบุรี พายเรือมาตามแม่น้ำลำคลอง และใช้เกวียนลากจูงด้วยควายและวัว ดังสถานที่ที่มีชื่อดั้งเดิมปรากฏอยู่ เช่น สะพานเกวียน คลองเจดีย์บูชา ธรรมศาลา ปัจจุบัน คือ วัดธรรมศาลา อ.นครชัยศรี เป็นต้น มีการนอนค้างคืนรอบๆ ระเบียงคตบนองค์พระเจดีย์ ๑-๒ คืน เพื่อเที่ยวงานก่อนจะกลับบ้าน
ส่วนเหตุที่เลือกการจัดงานช่วงระยะเวลาดังกล่าวนั้น พระมหาสุวิทย์ บอกว่า ในอดีตเป็นฤดูน้ำหลาก เป็นช่วงที่เกษตรกรหยุดทำนา ก็จะใช้เวลาช่วงดังกล่าวเที่ยวหาความบันเทิงซึ่งไม่บ่อยครั้งนักที่จะมีให้ชมครบทุกอย่างในงานเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น หนัง ลิเก ดนตรี ลำตัด หมอลำ รวมทั้งความบันเทิงอื่นๆ ในอดีตก่อนที่วัดจะจัดงานเอง เคยมีการใช้ผ้าใบล้อมรั้วองค์พระทั้งหมด แล้วจำหน่ายบัตรผ่านประตูครั้งเดียวจาก ๑ บาท จนถึง ๕ บาท โดยสามารถชมมหรสพได้ทุกประเภท เพราะมีค่าใช้จ่ายในการจ้างหามหรสพ เมื่อวัดมาจัดงานในยุคแรกๆ ก็มีการล้อมรั้วเฉพาะกิจ ๒ อย่างคือ วงดนตรี และภาพยนตร์ นอกนั้นให้ชมฟรี ปัจจุบันกลับกลายเป็นว่ามหรสพทุกอย่างให้ชมฟรี เพราะคนไม่ได้มางานองค์พระเพื่อดูมหรสพเหมือนเช่นในอดีต ทุกวันนี้ถ้าเป็นวงดนตรีดังคนดูอยู่ในหลักร้อยถ้าดังจริงอาจจะอยู่ในหลักพันคน ส่วนภาพยนตร์นั้นจะดี จอใหญ่ รวมทั้งเครื่องเสียงดีแค่ไหน คนดูอยู่ในหลักสิบคนเท่านั้น
งานองค์พระงานแสดงสรรพสินค้า
“๔๐ ล้านบาท” เป็นรายได้จากการเปิดให้ประมูลร้านค้าในงานองค์พระตลอด ๗ วัน ๗ คืน ซึ่งมีร้านค้ามาร่วมจำหน่ายสินค้ากว่า ๗๐๐ ร้าน
พระมหาสุวิทย์ บอกว่า การขายสินค้าเป็นสิ่งที่คู่กับงานวัดมาโดนตลอด เพราะที่ไหนมีคนที่นั่นย่อมมีความต้องการ คนหัวการค้าที่รู้ว่าคนต้องการอะไรก็หาสิ่งนั้นมาสนองความต้องการ เมื่อมีคนมารวมกันมากๆ ก็เกิดอาชีพการซื้อขาย เริ่มจากน้ำหวาน อาหารการกิน สินค้าในชุมชนจากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ก็กลายเป็นเครื่องใช้ไม้สอย เสื้อผ้า อุปกรณ์การเกษตร ต้นไม้ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด รวมทั้งรถยนต์จากทุบริษัท จนปัจจุบันนี้งานองค์พระกลายเป็นมหกรรมขายสินค้าขนาดใหญ่และน่าจะเก่าแก่ที่สุด
ในอดีตนั้นจำนวนร้านค้า หรือค่าประมูลร้านที่สูงขึ้นนั้นขึ้นอยู่กับมหรสพที่นำมาจัดแสดง นักร้องเด่น หนังดัง ลิเกดี คนก็มาเที่ยวงานมาก เมื่อคนมามากโอกาสที่จะขายของก็มากตามไปด้วย พ่อค้าแม่ขายจึงแย่งกันมาขายของในงานวัด ส่วนใหญ่จะแย่งประมูลเพื่อขายจุดเดิม ในจำนวนร้านค้าทั้งหมดกว่าครึ่งหนึ่งเป็นร้านค้าที่ขายคู่กับงานองค์พระมาไม่ต่ำกว่า ๕๐ ปี เพียงแต่เปลี่ยนจากรุ่นพ่อมาเป็นรุ่นลูก หรือ จากรุ่นลูกกลายเป็นรุ่นหลาน เช่น ข้าวหลาม ข้าวโพดคั่ว และไก่ย่าง เป็นต้น
"เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป ความบันเทิงเข้าถึงบ้าน หาชมได้ทุกเวลาไม่จำเป็นต้องรอเทศกาลงานวัด มหรสพจึงไม่ใช่สิ่งดึงคนมาเที่ยวงานองค์พระ แต่สิ่งที่ดึงคนมาเที่ยวงานองค์พระคือ ร้านจำหน่ายสินค้าที่หลากหลายตั้งแต่ไม่จิ้มฟันจนถึงรถยนต์" พระมหาสุวิทย์ กล่าวทิ้งท้าย