
พระบูชาสุโขทัยตะกวนต้นแบบแห่งพระศิลปะสุโขทัยทุกยุค
พระบูชาสุโขทัยตะกวนต้นแบบแห่งพระศิลปะสุโขทัยทุกยุค : พระองค์ครุ โดยเรื่อง ไตรเทพ ไกรงู / ภาพ ประเสริฐ เทพศรี
เมืองสุโขทัย และเมืองศรีสัชนาลัย ถือได้ว่า เป็นเมืองที่มีความรุ่งเรืองทางพระพุทธศาสนาสูงสุดเมืองหนึ่ง จึงมีการสร้างพระเครื่อง พระบูชา มากมาย ดังในตอนที่แล้ว ที่กล่าวถึง พระเครื่อง ของเมืองสุโขทัย และเมืองศรีสัชนาลัย
ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช นับเป็นยุคที่บ้านเมืองมีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุด ทั้งในด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม และพระพุทธศาสนา ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้มีการจัดสร้างประติมากรรมรูปเคารพต่างๆ รวมทั้งพระเครื่องรางของขลัง ซึ่งขุดพบจากกรุต่างๆ ใน จ.สุโขทัย อย่างมากมาย ซึ่งล้วนมีความงดงามในรูปแบบศิลปะสุโขทัยบริสุทธิ์ ในส่วนของพระเครื่อง มีการจัดสร้างด้วยเนื้อต่างๆ อาทิ เนื้อดิน เนื้อสัมฤทธิ์ เนื้อชิน ตะกั่วสนิมแดง และเนื้อชินเงิน ที่มีการสร้างมากที่สุด และกรุที่ขุดพบพระมากที่สุด คือ กรุวัดเขาพนมเพลิง เมืองศรีสัชนาลัย อันเป็นเมืองเก่ามาแต่โบราณกาล
ประติมากรรมในยุคนี้ยังแสดงอิทธิพลของศิลปะลพบุรี ที่เห็นได้ชัด คือภาพปูนปั้นลวดลายประดับประตูรั้วทางเข้าองค์พระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุสุโขทัย ลายปูนปั้นประดับเสาไต้หรือเสาประทีป การสร้างพระพุทธรูปในยุคนี้มีแบบเฉพาะเป็นของตนเองที่เรียกกันว่า "แบบวัดตะกวน" เป็นพระพุทธรูปแบบเชียงแสน ลังกา และสุโขทัย ผสมผสานกัน มีพระพักตร์กลม พระรัศมีเป็นแบบลังกา พระวรกายและชายสังฆาฏิสั้นแบบเชียงแสน
ภาพพระองค์ครูวันนี้เป็นภาพพระบูชาสุโขทัย ตะกวน ขนาดหน้าตัก ๙ นิ้ว ค่านิยมที่เช่าหากันในตลาดพระเครื่องไม่ต่ำกว่า ๒ ล้านบาท ทั้งนี้นายสมภพ ไทยธีระเสถียร หรือ อั๊ง เมืองชล อุปนายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย และประธานชมรมอนุรักษ์พุทธศิลป์ไทย อธิบายให้ฟังว่าคำว่า “ตะกวน” มาจากชื่อของ วัดตะกวน ในกรุงสุโขทัย ที่มีการขุดพบพระกรุครั้งแรก ทำให้ทราบว่า ศิลปะยุคแรกๆ ของสมัยสุโขทัยนั้น มีพุทธศิลป์ตามรูปแบบของพระกรุนี้ ซึ่งเป็นการผสมผสานของ ศิลปะอู่ทอง เชียงแสน เข้ามาปะปนกับ ศิลปะสุโขทัย
ยุคนั้นยังไม่มีจุดกำหนดที่แน่นอน วงการพระจึงเรียก พุทธศิลป์ยุคต้นสมัยสุโขทัย ว่า ศิลปะสุโขทัยแบบตะกวน โดยการนำเอาชื่อ วัดตะกวน ที่ขุดพบพระเป็นครั้งแรกมาตั้งเป็นชื่อศิลปะยุคแรก ต่อมาฝีมือช่างสมัยสุโขทัยได้พัฒนาดีขึ้นเรื่อยๆ จนได้ข้อยุติว่า ศิลปะสุโขทัยที่เป็นศิลปะเฉพาะตัวนั้น เป็นอย่างไร? ก็คือ ศิลปะสุโขทัยบริสุทธิ์ อันอ่อนช้อยงดงามยิ่ง ดังที่ปรากฏอยู่ในทุกวันนี้