พระเครื่อง

อาถรรพณ์พระลีลาสุโขทัยต้องคำสาป!..."มันผู้ใดครอบครองมันผู้นั้นวิบัติ!"

อาถรรพณ์พระลีลาสุโขทัยต้องคำสาป!..."มันผู้ใดครอบครองมันผู้นั้นวิบัติ!"

17 ต.ค. 2554

อาถรรพณ์พระลีลาสุโขทัยต้องคำสาป!..."มันผู้ใดครอบครองมันผู้นั้นวิบัติ!" : เรื่อง ไตรเทพ ไกรงู ภาพ ประเสริฐ เทพศรี 0

            "พระพุทธลีลาสุโขทัยไตรมิตร" เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๓.๑๐ เมตร สูง ๓.๗๗ เมตร หล่อด้วยทองคำ ที่เรียกว่า ทองเนื้อเจ็ดน้ำสองขา จัดเป็นเนื้อทองค่อนข้างบริสุทธิ์ ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารวัดไตรมิตรวิทยาราม (หลังหลวงพ่อทองคำ) เขตสัมพันธวงศ์ กทม.ทั้งนี้ นายวิชัย รักศรีอักษร แห่งคิงส์เพาเวอร์ ได้ซื้อเพื่อนำไปถวายวัดไตรมิตรวิทยาราม เพื่อให้เป็นสมบัติของวัดและของแผ่นดินต่อไปในราคา ๑๕ ล้านบาท

             อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้พระลีลาสุโขทัยไตรมิตรมีเรื่องราวเล่าขานกันมากถึงความอาถรรพณ์ ถ้าใครครอบครองไว้จะมีเรื่องราวเดือดร้อนเกิดขึ้นกับตัวเองคนในครอบครัว รวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้อง

             นายพิศาล เตชะวิภาค อุปนายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย หรือที่รู้จักกันในนาม ต้อย เมืองนนท์ บอกว่า พระองค์นี้เป็นศิลปะสุโขทัยบริสุทธิ์ เดิมทีประดิษฐานอยู่ในวัดแห่งหนึ่งของ จ.สุโขทัย โดยในสมัยรัชกาลที่ ๓ ได้มีการชะลอพระขนาดใหญ่ และอัญเชิญพระพุทธรูปจากหัวเมืองต่างๆ โดยเฉพาะจากวัดร้างของเมืองหลวงในอดีต เช่น สุโขทัย กำแพงเพชร พิษณุโลก และอยุธยา  มาประดิษฐานยังวัดในกรุงเทพฯ โดยเจ้าพระยาเสือ ต้นตระกูล "สิงหเสนี" เป็นหัวแรงสำคัญในการชะลอพระ เพื่อประดิษฐานยังวัดสร้างใหม่ในกรุงเทพฯ ด้วยจำนวนพระที่มากมายมหาศาล รัชกาลที่ ๓ ได้พระราชทานพระบางส่วนมอบให้ข้าราชการ ขุนนางชั้นผู้ใหญ่เพื่อบูชา เท่าที่ทราบมีการพระราชทานพระลีลาสุโขทัย ลักษณะเดียวกันครั้งนั้น ๔ องค์ โดย ๑ องค์ ให้เจ้าพระยาเสือ ส่วนอีก ๓ องค์ ไม่ทราบว่าพระราชทานให้ใคร 

             พระองค์นี้จุดประสงค์ของผู้ครอบครองคนแรกต้องการสร้างเพื่อเป็นสมบัติของแผ่นดิน จากที่เคยเป็นของเจ้าพระยาเสือ ก็มีการเปลี่ยนมือไปอยู่ในผู้มีอันจะกินหลายคน ประมาณ ๕๐-๖๐ ปี แต่ก็มีอันเป็นไปทุกคน โดยส่วนตัวเชื่อว่าในการสร้างพระพุทธลีลาสุโขทัยไตรมิตรมีการสาปแช่งไว้ เพราะที่ผ่านมาไม่น่าเชื่อว่าจะมีเหตุบังเอิญที่เกิดขึ้นกับผู้ครอบครองคล้ายๆ กัน ต่างได้รับความวิบัติหายนะทุกคน บางคนล้มละลายชนิดที่ไม่เหลืออะไรเลย พระองค์นี้เคยอยู่ในมือของเจ้าของทรัสท์รายใหญ่ อยู่ในมือของผู้ดูแลผลประโยชน์เกี่ยวกับฮวงซุ้ยใหญ่ที่สุดในประเทศไทยแถวชลบุรี

             “วันที่ติดต่อเจรจาเพื่อให้เสี่ยวิชัยช่วยคืนมอบเป็นสมบัติของแผ่นดิน เพียง ๑๕ นาที ที่พระตั้งอยู่หน้าร้าน ลูกน้องคนหนึ่งอยู่ๆ ก็ขับรถยนต์ไปชนคนตาย ทั้งที่เป็นเหตุที่ไม่ควรเกิดขึ้นเลย เสี่ยวิชัยได้เช่าพระองค์นี้ด้วยเงินหลายสิบล้านมอบให้เป็นสมบัติของประเทศชาติ เป็นการหยุดอาถรรพณ์ ไม่ให้เกิดขึ้นกับผู้ครอบครองอีกต่อไป” ต้อย เมืองนนท์ กล่าว

             ในขณะที่นายสมพร ทันตะเวช หรือ เล็ก รูปหล่อ ผู้เชี่ยวชาญพระเครื่องของสมาคมผู้นิยมพระเครื่อง บอกว่า จากประสบการณ์ที่อยู่ในวงการพระเครื่องมากกว่า ๓๐ ปี เห็นพระที่ต้องคำสาปมีอาถรรพณ์หลายองค์ แต่ไม่แรงเท่ากับพระองค์นี้ คนที่ครอบครองพระองค์นี้มีอันเป็นไปทุกคน เท่าที่ทราบผู้ครอบครองในยุคแรกเริ่มนั้นไม่ใช่บุคคลธรรมดา ที่สำคัญคือพระองค์นี้ไม่ใช้พระที่สร้างขึ้นเพื่อให้คนใดคนหนึ่งเก็บไว้บูชาเป็นการส่วนตัว เป็นพระที่สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นสมบัติของประเทศชาติ

             การที่จะไปสืบว่าพระองค์นี้อยู่ในมือของใครบ้างนั้น อาจจะทำได้ แต่ผู้ที่ครอบครองเหล่านั้นล้วนต้องคำสาปต้องอาถรรพณ์ ชีวิตตนเอง ชีวิตครอบครัว รวมทั้งธุรกิจ ล้วนวิบัติซึ่งเท่ากับว่าเขาได้รับการลงโทษแล้ว จากธุรกิจที่เคยรุ่งเรืองรวยระดับร้อยล้านหวังเช่าพระไปประดับบารมี  แต่ที่ไหนได้ หลังจากได้พระไปไม่นานธุรกิจก็ล้มลงอย่างไม่มีเหตุผล บางคนถึงกับชีวิต ในขณะที่หลายคนสติไม่สมประกอบ ทั้งที่ก่อนครอบครองพระก็เป็นคนปกติ

             ทั้งนี้ เล็ก รูปหล่อ พูดทิ้งท้ายไว้อย่างน่าคิดว่า “พระบางองค์สามารถเช่าไปบูชาได้ แต่พระหลายองค์สร้างขึ้นมาเพื่อให้คนทั้งประเทศได้บูชา พระบางองค์สร้างมาเพื่อพระเจ้าแผ่นดิน เจ้านายชั้นผู้ใหญ่ คนธรรมดาหากบารมีไม่ถึงมีเงินเช่าไว้ได้แต่ก็ต้องมีอันเป็นไป พระองค์นี้ถือว่าเป็นพระที่ไม่ธรรมดา จะแก้เคล็ดอย่างไรก็ไม่สามารถนำไปบูชาเป็นสมบัติส่วนตัวได้ เพราะพระองค์นี้มีเทพเทวดาดูแลอยู่”


พระพุทธรูปศิลปสุโขทัย ๔ ยุค

             อ.ราม วัชรประดิษฐ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี อธิบายให้ฟังว่า พระพุทธรูปศิลปะสุโขไทย แบ่งออกเป็ ๔ ยุค ประกอบด้วย สุโขทัยยุคที่ ๑ การสร้างพระพุทธรูปในยุคนี้มีแบบเฉพาะเป็นของตนเองที่เรียกกันว่า "แบบวัดตะกวน" เป็นพระพุทธรูปแบบเชียงแสน ลังกา และสุโขทัย ผสมผสานกัน มีพระพักตร์กลม พระรัศมีเป็นแบบลังกา พระวรกายและชายสังฆาฏิสั้นแบบเชียงแสน

             สุโขทัยยุคที่ ๒ รูปแบบการสร้างพระพุทธรูปจนก่อรูปพุทธลักษณะอันงดงามของสกุลช่างสุโขทัยเอง นับเป็นศิลปะสุโขทัยแบบบริสุทธิ์ ในยุคนี้มีการสร้างพระพุทธรูปไว้มากมายตั้งแต่พระพุทธรูปขนาดใหญ่ เช่น พระอัฏ-ฐารส พระอัจนะ จนถึงพระบูชาขนาดเล็ก และพระพิมพ์ นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปนูนต่ำนูนสูงประดับภายในซุ้มมณฑป หรือพระเจดีย์เป็นจำนวนมาก เช่น กันสมดัง ศิลาจารึกหลักที่ ๑ กล่าวไว้ว่า "กลางเมืองสุโขทัยนี้มีพิหาร มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฏฐารส มีพระพุทธรูปอันใหญ่ มีพระพุทธรูปอันราม"

             พระพุทธรูปสุโขทัยไม่นิยมสลักหินแม้จะเป็นพระพุทธรูปขนาดใดก็ตามจะปั้นด้วยปูนหรือหล่อด้วยโลหะมีค่าต่างๆ รวมทั้งทองคำบริสุทธิ์ ลักษณะพระพุทธรูปสุโขทัยยุคนี้คือพระพักตร์รูปไข่ พระขนงโก่ง พระนาสิกงุ้มพระโอษฐ์อมยิ้มเล็กน้อย พระเศียรสมส่วนกับพระศอและพระอังสา หมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นเปลว พระอุระผายสง่า พระอังสาใหญ่กว้าง พระถันโปน บั้นพระองค์เล็ก ครองจีวรห่มเฉียง ชายจีวรยาวจรดมาถึงพระนาภี ปลายเป็นลายเขี้ยวตะขาบ พระกรเรียวดุจงาช้าง นิ้วพระหัตถ์และนิ้วพระบาททำแบบธรรมชาติ ดุจมีชีวิต ฐานเป็นหน้ากระดานเกลี้ยง ปางที่นิยมคือ ปางมารวิชัย
 
             สุโขทัยยุคที่ ๓ พระพุทธรูปในยุคนี้พัฒนาไปจากศิลปะสุโขทัยแบบบริสุทธิ์ มีความประณีต ดูเสมือนมีระเบียบและกฎเกณฑ์มากขึ้นพระรัศมีเป็นเปลวมีขนาดใหญ่ขึ้น พระพักตร์รูปไข่สั้น พระอุณาโลมเป็นตัวอุหงายระหว่างหัวพระขนง พระวรกายมีความอ่อนไหวน้อยลงพระอาการสงบเสงี่ยมแลดูนิ่งสงบขึ้น พระกรยาวนิ้วพระหัตถ์ทั้ง ๔ เสมอกัน ฝ่าพระบาทเรียบสั้น พระบาทยาว พระพุทธรูปที่สำคัญๆ ในยุคนี้คือ พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ พระศรีศาสดา และพระศรีศากยมุนี เป็นต้น

             และสุโขทัยยุคที่ ๔ เมื่อราชวงศ์พระร่วงสิ้นสุดลงใน พ.ศ.๑๙๘๑ นับเป็นสุโขทัยยุคเสื่อม แม้มีการสร้างศิลปะในชั้นหลังก็เป็นสกุลศิลปะเล็กๆ พระพุทธรูปมีความกระด้างขึ้น ทั้งท่าทาง ทรวดทรง มักสร้างพระพุทธรูปยืน พระสำคัญในยุคนี้ เช่น พระอัฏฐารส วัดสระเกศ