พระแม่คงคาเทพแห่งสายน้ำ'วัดปราโมทย์'
พระแม่คงคาเทพแห่งสายน้ำของ..."วัดปราโมทย์" : ท่องไปในแดนธรรม โดย เรื่อง ไตรเทพ ไกรงู / ภาพ กุลพันธ์ ศิริพิมพ์อัมพร
วัดปราโมทย์ ต.บ้านปราโมทย์ อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม ถือว่าเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านอีกแห่งหนึ่ง ปัจจุบันมีพระครูปราโมทย์ปัญญาวัฒน์ หรือหลวงพ่อเลิศ เจ้าคณะตำบลบางนกแขวก เป็นเจ้าอาวาส ซึ่งเป็นพระผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างสรรค์ความเจริญให้วัดจัดระเบียบได้สวยงามลงตัว สะอาดสะอ้าน มีความสมบูรณ์ด้วยการศึกษา มีทั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรม และโรงเรียนประถมศึกษา และสำนักอุบาสิกา นอกจากนี้แล้วท่านยังเป็นเกจิอาจารย์ที่เชี่ยวชาญในพิธีกรรมโบราณ เช่น พิธีตัดผมลอยเคราะห์ดอกบัว, ดับพิษไฟ พิษน้ำกรด และสัตว์มีพิษ โดยได้รับการถ่ายทอดวิชาจากหลวงปู่หยอด วัดแก้วเจริญ เจ้าตำรับไหม ๕ สี
ในวัดปราโมทย์มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์หลายอย่าง และสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างหนึ่งที่สร้างปาฏิหาริย์ให้ผู้เดินทางไปกราบไหว้ขอพรอย่างต่อเนื่อง คือ พระแม่คงคา ที่แกะสลักจากไม้ตะเคียนทั้งต้น ขนาดความสูงประมาณ ๖ เมตร ทั้งนี้ คุณสมจิตร บุญประเสริฐ เจ้าของร้านขายขนมและของฝากแม่กิมไล้ ได้ถวายให้หลวงพ่อเลิศ พร้อมกับถวายเงินอีก ๑ ล้านบาท เพื่อสร้างวิหารที่ประดิษฐานพระแม่คงคา
พระแม่คงคา มีประวัติดังนี้ พระองค์เป็นพระธิดาของท้าวหิมวัตและพระนางเมนกา มีน้องสาวนามว่า พระอุมาภควตี พระองค์ทรงเป็นพระชายาของพระศิวะ ตามคติความเชื่อของอินเดีย ว่ากันว่าพระองค์ทรงปลาใหญ่หรือจระเข้เป็นพาหนะ พระองค์เป็นเทวีผู้ให้กำเนิดสายน้ำคงคาตามความเชื่อของชาวอินเดีย
อีกตำนานว่า เดิมทีโลกมนุษย์นั้นบังเกิดความแห้งแล้งอย่างหนัก ซึ่งเกิดจากการที่พระแม่คงคาไม่ยอมปล่อยน้ำลงมาสู่โลกมนุษย์แล้วเสด็จหนีไป จึงทำให้มนุษย์และสัตว์ล้มตายมากมาย บรรดาเทวะเห็นดังนั้นจึงไปกราบทูลเชิญพระศิวะเจ้าให้ทรงจัดการเรื่องนี้ พระองค์จึงทรงออกตามหาพระแม่คงคากลับมา แล้วให้พระแม่คืนสายน้ำให้มนุษย์ แต่พระแม่ไม่ยอม พระองค์จึงทรงใช้พระเกศรัดพระแม่คงคาจนพระนางยอมปล่อยสายน้ำออกมา
บางตำนานก็ว่า พระศิวะเจ้าทรงได้พระแม่เป็นภรรยาลับๆ ด้วยความกลัวพระแม่อุมารู้แล้วจะทรงพิโรธ จึงซ่อนพระแม่ไว้ในมวยพระเกศ ให้พระแม่ปล่อยน้ำออกมาจากพระเกศของพระองค์ เพื่อล้างบาปที่พระองค์ได้ทรงทำด้วย
สำหรับเครื่องบูชาแม่คงคานั้น อ.ลักษณ์ เรขานิเทศ เลขาธิการสถาบันพยากรณ์ศาสตร์ หรือเจ้าของฉายา "โหรฟันธง" แนะนำว่า การบูชาแม่คงคา โดยทั่วไปในอินเดียการบูชาแม่คงคาจะกระทำการเหมือนเทพองค์อื่นๆ คือ จะบูชาด้วยการอารตี และสวดมนต์พระเวทย์ ซึ่งเครื่องบูชาในถาดอารตีจะประกอบด้วย ๑.ดอกไม้สีส้มหรือสีเหลืองและดอกบัว ๒.ผลไม้ที่มีรสหวานเท่านั้น ๕ ชนิด ๓.น้ำนม ๔.ตะเกียงน้ำมัน ๕.กำยาน และ ๖.ขนมหวาน
การบูชาแม่คงคาในเมืองไทย อาจจะทำการบูชาต่อหน้ารูปแม่คงคา หรือที่แม่น้ำใหญ่ และลอยเครื่องบูชาบางส่วนไปกับสายน้ำ เว้นไว้แต่ตะเกียงกับกำยาน เครื่องบูชาที่เหลือจะนำมาเก็บไว้รับประทาน เพื่อเป็นสิริมงคล หรือแจกจ่ายเพื่อทำทานต่อไป
เครื่องบูชาประกอบด้วย ๑.ผ้าแพร ๓ สี ๒.ข้าวตอก ๓.น้ำนม ๔.ดอกไม้สีเหลืองหรือส้ม ๕.พวงมาลัยดอกดาวเรือง ๖.ขนมหวาน ๗ ชนิด ๗.ผลไม้รสหวาน ๕ ชนิด และ ๘.รูปปั้นพระแม่คงคา (เทวรูป)
ส่วนคำขอขมาพระแม่คงคา นั้น พระราชวิจิตรปฏิภาณ หรือเจ้าคุณพิพิธ พระนักเทศน์ชื่อดังแห่งวัดสุทัศนเทพวราราม กทม.บอกว่า คนไทยมักจะขอขมาพระแม่คงคาในวันเดือน ๑๒ หรือวันลอยกระทง ถ้าเป็นภาษาบาลีใช้ว่า "สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต อุกาสะ ขะมามิ ภันเต" แต่ถ้าจะขอขมาแบบภาษาไทยให้ใช้ว่า "วันนี้วันเพ็ญ พระจันทร์ลอยเด่น เป็นศุภสมัย ลูกจัดกระทง ประสงค์จงใจ นำมากราบไหว้ พระแม่คงคา เทวาทรงฤทธิ์ ซึ่งสิงสถิต ทุกสายธารา ทั้งผีพรายน้ำ อย่าซ้ำโกรธา ลูกขอขมา อโหสิกรรม ทำกิจใดใด อุทกภัย อย่าได้เติมซ้ำ อย่าพบวิบัติ ข้องขัดระกำ อย่าให้ชอกช้ำ น้ำท่วมพสุธา อย่าให้สินทรัพย์ ต้องพลันย่อยยับ เพราะสายธารา อย่าให้ชีวิต ต้องปลิดชีวา พระแม่คงคา รับขมาลูก เทอญ"
อย่างไรก็ตาม ในวันพฤหัสบดีที่ ๑๐ พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ หรือวันลอยกระทง หลวงพ่อเลิศจะจัดพิธีพิธีอาบน้ำเพ็ญ คือ พิธีอาบน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ในคืนพระจันทร์เพ็ญ ต่อหน้าพระแม่คงคาเป็นปีแรก โดยพิธีจะเริ่มประมาณ ๑๙.๑๙ น. เป็นต้นไป เพื่อความเป็นสิริมงคล พุทธศาสนกชนร่วมบุญสอบถามข้อมูลได้ที่วัดปราโมทย์ โทร.๐-๓๒๓๙-๙๓๒๒, ๐๘-๑๒๖๘-๘๙๐๓
สิ่งศักดิ์สิทธิ์วัดปราโมทย์
"หลวงพ่อโต" หรือซำปอกง พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของวัดมีอายุเก่าแก่ถึง ๑๖๐ ปี เป็นพระปูนปั้น ปางพระศรีอาริย์ ขนาดหน้าตักกว้าง ๔.๑๒ เมตร สูงจากฐานถึงพระเศียร ๔.๓๒ เมตร สร้างโดย หลวงพ่อตุ๊ย อดีตเจ้าอาวาสองค์ที่ ๓ ซึ่งชาวบ้านนับถือมากว่าศักดิ์สิทธิ์และจะแก้บนด้วยประทัดและดอกไม้รูปเทียน
"พระอินทรประเสริฐ" เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่เนื้อศิลาแดง ปางสมาธิ เป็นพระที่ได้มาจากวัดอินทร์ประเสริฐปากง่าม ซึ่งเป็นวัดที่ร้างไปแล้ว อาราธนามาประดิษฐานไว้เป็นพระประธานในอุโบสถหลังใหม่ สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๕
นอกจากนี้ ยังมีพลับพลาจตุรมุขประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.๕ มีทั้งหมด ๕ แบบ คือ ๑.ร.๕ ฉลองพระองค์ชุดครองราชย์ ทั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.๖) เสด็จมาทรงเททองหล่อ เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๑๓ ในสมัยที่หลวงพ่อสุ เป็นเจ้าอาวาส ๒.ฉลองพระองค์ในชุดจอมทัพเรือประทับพระเก้าอี้ ๓.พระบรมรูปทรงยืนฉลองพระองค์ทหารมหาดเล็กเต็มยศ ๔.ฉลองพระองค์ราชปะแตน หรือ ทรงพระภูษาโจงกระเบน และ ๕.พระบรมรูปทรงม้า