
‘ชื่นชอบ พระปิดตาเมืองคอน ที่มีมากกว่า ๓๐ องค์’ .... ติ่ง ทุ่งสง (ระพีพันธ์ รักษาพงษ์)
‘ชื่นชอบ พระปิดตาเมืองคอน ที่มีมากกว่า ๓๐ องค์’ .... ติ่ง ทุ่งสง (ระพีพันธ์ รักษาพงษ์) : เส้นทาง นักพระเครื่อง โดย...ตาล ตันหยง
นครศรีธรรมราช เป็นเมืองโบราณที่มีความสําคัญทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง และศาสนา มากที่สุดเมืองหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลักฐานทางโบราณคดีและเอกสารที่มีอยู่ยืนยันว่า นครศรีธรรมราชมีกําเนิดมาแล้วตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๗ เป็นอย่างน้อย จึงมีร่องรอยโบราณสถานและโบราณวัตถุ เกี่ยวเนื่องในศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ ซึ่งมีอายุเก่าแก่ในเมืองนี้ อาทิ พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ ศิลปะแบบอมราวดี และเศียรพระพุทธรูป ศิลปะแบบคุปตะ ของอินเดีย เป็นต้น
และด้วยเหตุที่เมืองนครศรีธรรมราช มีประวัติอันยาวนานมาก่อนกรุงสุโขทัย ซึ่งเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย จึงมีหลักฐานบ่งบอกว่า เมืองนครศรีธรรมราชมีความเจริญรุ่งเรืองทางพุทธศาสนา และศาสนาพราหมณ์ มาก่อนกรุงสุโขทัย ไม่ว่าจะเป็นศิลปวัฒนธรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม จิตรกรรม ช่างฝีมือพื้นบ้าน การละเล่น และขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ที่มีอยู่อย่างมากมาย ซึ่งชาวเมืองคอนยังยึดถือปฏิบัติกันมาจนถึงทุกวันนี้
สำหรับ วงการพระเครื่องพระบูชา นครศรีธรรมราชเป็นเมืองที่มีการขุดพบ พระกรุ มากกว่าเมืองอื่นใดในภาคใต้ เช่น พระบูชาขนมต้ม พระกรุกำแพงถม กรุวัดนาสน กรุวัดท่าเรือ กรุวัดนางตรา กรุนาคคาม กรุเขาขุนพนม กรุวัดท้าวโคตร ฯลฯ และที่มีการกล่าวถึงกันบ่อยๆ คือ พระปิดตาพังพกาฬ พระปิดตาดอกจัน พระพิฆเนศ ฤาษี นางกวัก ฯลฯ พระกรุเหล่านี้สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย ติดต่อกันมาจนถึงสมัยอยุธยา
นอกจากนี้ เมืองนครศรีธรรมราช ยังมีพระเกจิอาจารย์ผู้เคร่งครัดในพระธรรมวินัย มีวิชาอาคมสูง มีความรู้ความสามารถในทางไสยศาสตร์ มากมาย ทำให้เมืองคอนแห่งนี้มีพระเครื่องที่สร้างขึ้นโดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดังสมัยก่อน ให้คนรุ่นหลังได้เก็บสะสมเอาไว้สักการบูชา และเป็นมรดกอันล้ำค่า อีกด้วย
ผู้ที่มีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับ พระเครื่องเมืองคอน ได้อย่างถ่องแท้คนหนึ่งที่กำลังเป็นดาวรุ่งอยู่ในวงการพระเครื่องทุกวันนี้ คือ ระพีพันธ์ รักษาพงษ์ หรือ ติ่ง ทุ่งสง ผู้มีความชื่นชอบใน พระปิดตาศิลปะนครศรีธรรมราช มากเป็นพิเศษ จึงได้สะสมพระสายนี้มากกว่า ๓๐ องค์
ติ่ง เป็นชาวทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช โดยกำเนิด สมัยที่เรียนหนังสือชั้นมัธยม จะต้องเดินผ่านแผงพระเสมอ จึงแวะเข้าไปดูผู้ใหญ่ซื้อขายพระในบางวัน จนเกิดความสนใจขึ้นมาบ้าง ด้วยความอยากรู้อยากเห็นให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ทำให้คุณติ่งได้ขอทำงานเป็นเด็กเช็ดตู้พระบ้าง คอยรับใช้ให้ไปซื้อน้ำชากาแฟและอาหารให้บรรดาเซียนพระบ้าง พอมีเวลาว่างก็ขอดูพระที่เขาซื้อขายกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพระท้องถิ่นเมืองคอน รวมทั้งพระสายใต้อื่นๆ เช่น หลวงพ่อทวด พ่อท่านคล้าย หลวงพ่อแช่ม วัดฉลอง ฯลฯ
“ช่วงที่ผมเข้าเรียนต่อในระดับ ปวช.ที่ทุ่งสง ความสนใจพระเครื่องก็เพิ่มมากขึ้นไปด้วยตามวัย จึงหัดซื้อหัดขายพระพื้นๆ ไปก่อน ทำให้มีรายได้เป็นของตัวเอง ทั้งนี้ ผมต้องขอกราบขอบพระคุณ น้าคณิต ณ นคร ชาวพัทลุง ซึ่งทำงานอยู่ที่ทุ่งสง เป็นคนแรกที่จุดประกายให้ผมสนใจเรื่องพระ และสอนให้ผมดูพระต่างๆ โดยเน้นว่าพระมีความศักดิ์สิทธิ์ และมีปาฏิหาริย์ ทำตัวให้ดีคุณพระจะช่วยคุ้มครอง จนทำให้ผมรักชอบเส้นทางสายนี้มาก เมื่อเรียนจบ ปวช.แล้วผมก็มุ่งหน้าเอาดีทางพระเครื่องทันที โดยไม่สนใจที่จะหางานอื่นใดทำ ผมคิดว่าอาชีพซื้อขายพระ หากทำให้ดี มีความรู้ความสามารถสูง และมีความซื่อสัตย์จริงใจกับลูกค้า มั่นใจได้เลยว่า เอาตัวรอดได้แน่นอน” คุณติ่ง กล่าวถึงความมุ่งมั่นของตัวเอง
คุณติ่ง กล่าวด้วยว่า เมื่อตั้งใจซื้อขายพระอย่างจริงจัง สิ่งหนึ่งที่ต้องเรียนรู้ คือ ข้อมูลต่างๆ ขององค์พระ โดยเฉพาะในเรื่องประวัติความเป็นมาของพระแต่ละองค์ ถ้าเป็นพระกรุก็ต้องรู้ว่าชื่อพระอะไร เป็นพระกรุไหน เมืองไหน สร้างในสมัยไหน พุทธศิลป์เป็นแบบไหน ฯลฯ ถ้าเป็นพระของเกจิอาจารย์ก็ต้องรู้ว่า เป็นพระหลวงพ่ออะไร อยู่วัดไหน จังหวัดอะไร สร้างปีไหน หลวงพ่อมีความสามารถด้านใด เป็นศิษย์ของใคร ฯลฯ สิ่งต่างๆ เหล่านี้สามารถศึกษาได้จากตำราพระเครื่อง หรือนิตยสารพระเครื่อง ที่มีอยู่มากมายบนแผงหนังสือทุกวันนี้ เมื่อได้เรียนรู้ดูภาพพระแต่ละองค์จนเรียกได้ถูกต้องแล้ว ก็ต้องหาพระองค์จริงมาศึกษาต่อไป สิ่งต่างๆ เหล่านี้ คือ แนวทางที่คุณติ่งได้ยึดถือปฏิบัติตลอดมา
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมัยก่อนพระปลอมยังมีน้อย ถึงจะมีบ้างก็เป็นพระปลอมแบบพื้นๆ ถ้าหากได้เห็นพระแท้มาก่อน จะบอกได้ทันทีว่าเป็นพระปลอม เพราะรายละเอียดบนองค์พระจะผิดเพี้ยนจากพระแท้อย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากเป็นพระที่ขึ้นแม่พิมพ์ใหม่ ไม่ได้ถอดพิมพ์มาจากพระแท้องค์จริงแต่อย่างใด
แต่ถ้าเป็นพระปลอมแบบถอดพิมพ์ ต้องดูที่ธรรมชาติความเก่าของเนื้อพระหรือมวลสาร ตลอดจนตำหนิพิมพ์ที่ต้องส่องดูด้วยแว่นขยาย จะพบข้อบกพร่องของพระปลอมที่เก็บรายละเอียดจากพระแท้ไม่หมด ทั้งนี้ต้องใช้ประสบการณ์ผ่านสายตามามากๆ ถ้าทำได้ก็จะชำนาญขึ้นเอง
การสอนดูพระ ผู้ใหญ่มักจะไม่บอกกันตรงๆ ว่า ให้ดูจุดตำหนิตรงนั้นตรงนี้ แต่จะบอกว่า พระองค์นี้แท้ ให้ส่องดูเอาเอง แล้วจดจำส่วนต่างๆ ขององค์พระให้ได้ การทำเช่นนี้ผู้เรียนรู้ด้วยตนเองจะสามารถจดจำได้แม่นยำ ดีกว่าการบอกกันตรงๆ หรือจดจำจากตำราพระ เพราะบางครั้งพระปลอมก็ทำได้
เมื่อวันเวลาผ่านไป ความชำนาญในการดูพระท้องถิ่นมีมากขึ้น ทำให้คุณติ่งขยายแวดวงซื้อขายพระออกไปให้กว้างไกลกว่าเดิม จาก อ.ทุ่งสง สู่ตัวเมืองนครศรีฯ สุราษฎร์ฯ ภูเก็ต หาดใหญ่ ฯลฯ
คุณติ่ง กล่าวว่า “การเดินสายไปตามจังหวัดต่างๆ ทำให้
ผมได้รู้จักกับบรรดานักพระเครื่องชาวใต้ด้วยกันหลายคน วันหนึ่ง พี่ฮ่าว จันดี ได้ชักชวนให้ผมเข้าสนามพระในกรุงเทพฯ โดยครั้งแรกได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในทีมงานของ คุณสมศักดิ์ ศรีวุฒิชาญ เจ้าของ นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ซึ่งช่วงนั้นท่านให้ความสนใจพระเครื่องมาก ถึงกับตกแต่งสำนักงานให้เป็นที่พบปะสังสรรค์ของนักสะสมพระเครื่อง รวมทั้งได้จัดประกวดพระเครื่องหลายครั้ง นอกจากนี้ พี่แมว ทุ่งสง คนบ้านเดียวกันซึ่งรู้จักกันมาก่อนก็ได้สนับสนุนผมตลอดมา ทำให้ผมมีทางเดินบนสนามพระใหญ่บนชมรมพระเครื่องมรดกไทย จนถึงทุกวันนี้”
เพราะเป็นผู้รู้จริงในเรื่องพระเครื่องเมืองใต้ ทำให้ คุณติ่ง ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการตัดสินพระสายใต้ และรองประธานกรรมการบริหารภาคใต้ เขต ๑ (ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง) ของ สมาคมพระเครื่องพระบูชาไทย อันมี คุณพยัพ คำพันธุ์ เป็นนายกสมาคม ตรงจุดนี้ทำให้คุณติ่งได้ขยายแวดวงการเล่นพระกว้างออกไปอีก จากพระสายใต้คราวนี้ได้มีโอกาสซื้อ พระหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขาม หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง และพระหลักยอดนิยมอื่นๆ โดยมี “ป๋ายัพ” เป็นผู้แนะแนวทางให้
เมื่อได้พระแท้องค์จริงมาจากผู้ใหญ่และผู้ชำนาญในพระสายนั้นๆ ทำให้คุณติ่งได้เรียนรู้การดูพระหลักยอดนิยมต่างๆ อย่างชำนาญขึ้นตามลำดับ จนกล้าซื้อขายพระราคาหลักแสนไปจนถึงพระหลักล้านได้อย่างมั่นใจ
ทุกวันนี้ คุณติ่ง ได้ร่วมกับนักพระเครื่องชาวใต้ด้วยกัน เปิดร้านพระในชมรมพระเครื่องมรดกไทย ชั้น ๓ ห้างพันธุ์ทิพย์ งามวงศ์วาน โดยใช้ชื่อร้าน “วิจิตรบรรจง” อันเป็นชื่อประตูทางทิศใต้ของพระบรมมหาราชวัง (วัดพระแก้ว) พร้อมทั้งเปิดร้านในเว็บไซต์ท่าพระจันทร์ (www.thaprachan.com) และร้านพระที่บ้าน อ.ทุ่งสง อีกด้วย โดยใช้เวลาอยู่ที่บ้าน อ.ทุ่งสง ๑๕ วัน และบ้านที่กรุงเทพฯ ๑๕ วัน
“ผมยินดีที่รับใช้ในการพิจารณาพระสายใต้ให้กับท่านผู้ที่สนใจทุกท่าน เท่าที่ความรู้ความสามารถของผมมีอยู่” คุณติ่ง กล่าวในตอนท้าย