พระเครื่อง

พระพรหมของ...พุทธ-พราหมณ์-ฮินดู

พระพรหมของ...พุทธ-พราหมณ์-ฮินดู

28 พ.ย. 2554

พระพรหมของ...พุทธ-พราหมณ์-ฮินดู : ชั่วโมงเซียน โดย อ.ยุทธ โตอดิเทพ

        เมื่อวันอังคารที่๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ เวลา ๑๔.๒๙ น. ที่วัดช่อแสมสาร ต.แสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ซึ่งมีพระครูวิสารทสุตาการ เป็นเจ้าอาวาส ได้จัดพิธีอัญเชิญท้าวสหัมบดีพรหม ขนาดหน้าตักกว้าง ๗ เมตร สูง ๘.๙ เมตร ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก ขึ้นประดิษฐานบนแท่นศิลา พร้อมกับถวายพวงมาลัยยาว ๑๑๙ เมตร โดยได้นิมนต์ พระพรหมสุธี รองสมเด็จพระราชาคณะ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะภาค ๑๒ วัดสระเกศ ได้เป็นองค์ประธานในพิธีอัญเชิญและเบิกพระเนตร มีนายสนธยา คุณปลื้ม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ร่วมกับพี่น้องประชาชนที่มีความเลื่อมใสศรัทธานับพันคน พร้อมใจตั้งจิตอธิษฐานน้อมอัญเชิญท้าวสหัมบดีบดีพรหมลงประดิษฐาน เพื่อให้เป็นที่กราบไหว้สักการะแก่ผู้เลื่อมใส อันนำไปสู่ความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต


         มีคนจำนวนไม่น้อยคิดว่าพระพรหมเป็นเทพของศาสนาพราหมณ์ แต่ความจริงแล้วในศาสนาพุทธก็มีเช่นกัน กล่าวคือ พระพรหมของพุทธ คือ คนที่ทำความดี ตั้งมั่นอยู่ใน พรหมวิหาร ๔ และไปเกิดเป็นพรหม ซึ่งมนุษย์ทุกคนสามารถเป็นพรหมได้ หากตั้งมั่นอยู่บนความมีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา บนสวรรค์จึงมีพระพรหมเป็นล้านๆ องค์ พระพรหมที่ชาวไทยรู้จักกันดีได้แก่ ท้าวมหาพรหม หรือพระพรหมเอราวัณ ณ สี่แยกราชประสงค์


         การกำเนิดพระพรหมของพระพุทธศาสนาสืบเนื่องมาจากพระสงฆ์สาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทพยดา พระราชา พราหมณ์ปุโรหิต พระโยคี พระฤาษี ชีพราหมณ์ พระภิกษุสามเณรผู้มีจิตบริสุทธิ์และมีความเพียรกล้าศรัทธาปรารถนา ซึ่งการหลุดพ้นจากกิเลส คือ หลุดพ้นจากความโลภ ความโกรธและความหลงให้หมดสิ้นไป จึงตั้งใจบำเพ็ญภาวนาวิปัสสนากรรมฐาน อย่างสม่ำเสมอจนสำเร็จฌานในขั้นต่างๆ


         โดยการปฏิบัติตามหลักและวิธีการของศาสนาพุทธหรือศาสนาพราหมณ์ตามอำนาจแห่งฌานชั้นต่างๆ ที่ได้บรรลุนั้น จะนำตนเมื่อตายไปจากโลกมนุษย์แล้วไปเกิดยังเทวโลกและพรหมโลก ครั้นเมื่อไปเกิดยังพรหมโลกแล้วไม่มีความเดือดร้อนใดๆ ไม่ต้องต่อสู้ดิ้นรนกับโลกภายนอก ไม่ต้องขับถ่ายอุจจาระปัสสาวะอันลามกเหม็นร้าย มีแต่ความสุขสบาย เสวยพรหมสมบัติ วิมานทิพย์ ปราสาททิพย์ กายทิพย์ หูทิพย์ ตาทิพย์ อาหารทิพย์ เป็นเวลานานแสนนานตราบจนกว่าจะสิ้นอายุขัยของพระพรหม


         ในพรหมโลกสรีระร่างกายของพระพรหมเป็นรูปทิพย์ที่งามสง่า อวัยวะร่างกาย ข้อศอก แขน ขา เข่า ไหล่ ไม่มีรอยต่อ มีลักษณะกลมเกลี้ยงสวยงาม มีรัศมีกายรุ่งโรจน์ประภัสสร เจิดจ้างดงามยิ่งกว่าแสงพระอาทิตย์และแสงพระจันทร์


         การสร้างเทวรูปของพระพรหมในศาสนาพุทธสมัยทวารวดีนิยมสร้างหน้าเดียวมีสองมือส่วนศาสนาพราหมณ์นิยมสร้างสี่หน้าสี่มือ หรือสี่หน้าแปดมือถือของต่างๆ กัน เช่น ช้อนตักไขเนยลงในไฟ หม้อน้ำสำหรับใส่น้ำจากแม่น้ำพระคงคา คัมภีร์พระเวท เทพศาสตรา คทาอาญาสิทธิ์ ศรและลูกธนู พระศอคล้องประคำ พระกายสีแดงหรือสีขาว ปัจจุบันนิยมสร้างพระพรหมมีกายสีทอง มีม้าหรือหงส์เป็นพาหนะ 


         ทั้งนี้ได้สร้างขึ้นตามความเชื่อถือศรัทธาหรือตามความนิยมในแต่ละยุคสมัยสืบมา การกำหนดอายุพระพรหมในพรหมโลกแต่ละชั้นไม่เท่ากัน มีอายุยืนยาวนานเป็นกัลป์ อสงไขยกัลป์ อันตรกัลป์ ภัทรกัลป์ และมหากัลป์ แต่ได้ประมาณเอาไว้ว่า ๑ กัลป์เท่ากับ ๑๒,๐๐๐,๐๐๐ ปีสวรรค์ และ ๑ ปีสวรรค์เท่ากับ ๓๖๐ ปีมนุษยโลก


         พระพรหมของพราหมณ์-ฮินดูคือ พระเจ้าผู้สร้าง ผู้ลิขิตความเป็นไปของทุกสรรพสิ่ง เป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตของมนุษย์ทุกคน พระพรหมจึงเป็นผู้รู้ความเคลื่อนไหวของสรรพชีวิต เหตุการณ์สำคัญของโลกล้วนอยู่ในสายตาของพระพรหม พระพรหมคือมหาเทพผู้ยิ่งใหญ่หนึ่งในสามตรีมูรติ ทรงรับฟังคำอธิษฐานของผู้ศรัทธาเสมอ ผู้บูชาพระพรหมและทำความดี จะได้รับการบันดาลพรให้สมหวังในสิ่งที่ปรารถนา พระพรหม มีพระนามหลากหลาย เช่น พระพรหมมา พระพรหมา พระพรหมธาดา ท้าวมหาพรหม ปชาบดี อาทิกวี อาตมภู โลกาธิปดี ฯลฯ


         กำเนิดของพระพรหมมีมากมายหลายตำราถ้าเป็นคัมภีร์ปุราณะของพราหมณ์ฝ่ายพระวิษณุเป็นใหญ่ (ไวษณพนิกาย) จะกล่าวถึง กำเนิดพระพรหม ว่าพระพรหมถือกำเนิดในดอกบัว ซึ่งดอกบัวนี้ผุดขึ้นมาจากพระนาภี (สะดือ) ของพระวิษณุ นั่นหมายถึง พระวิษณุมีมาก่อนทุกสรรพสิ่ง พระองค์ต้องการสร้างโลก จึงให้กำเนิดพระพรหมขึ้นมาเพื่อภารกิจนี้ ถ้าเป็นคัมภีร์ปุราณะของพราหมณ์ฝ่ายพระศิวะเป็นใหญ่ (ไศวะนิกาย) จะกล่าวถึงกำเนิดพระพรหมว่า พระศิวะใช้พระหัตถ์ข้างหนึ่งลูบพระหัตถ์อีกข้างหนึ่ง บังเกิดแสงขึ้นมาในพระหัตถ์ พระพรหมก็ออกมาจากแสงนั้นเอง ด้วยเหตุผลที่พระศิวะต้องการสร้างโลก จึงให้กำเนิดพระพรหมขึ้นมาเพื่อภารกิจนี้ ตำนานนี้พระศิวะจึงเป็นผู้มีมาก่อนทุกสรรพสิ่ง


         พระพรหมทั้ง๒ ศาสนานี้ มีลักษณะรูปกายเหมือนกัน นั่นคือ เป็นเทพเจ้าที่มี ๔ พระพักต์ มีหลายพระกร แต่ละพระกรทรงศาสตราวุธต่างๆ กัน ต่างกันก็เพียงพระนาม ผู้ศรัทธาจึงสามารถไหว้พระพรหม โดยสมมติให้รูปเคารพนั้นๆ เป็นพระพรหมของศาสนาที่ตนนับถือได้ทั้งพุทธและพราหมณ์


พรหมวิหาร๔



         ในทางพุทธศาสนามีหลักธรรมหนึ่งสำหรับทุกคนคือ "พรหมวิหาร" แปลว่า ธรรมของพรหมหรือของท่านผู้เป็นใหญ่ เป็นหลักธรรมประจำใจที่จะช่วยให้เราดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างประเสริฐและบริสุทธิ์ หลักธรรมนี้ได้แก่


         ๑.เมตตาหมายถึง ความปราถนาให้ผู้อื่นได้รับความสุข ความสุขเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา ความสุขเกิดขึ้นได้ทั้งกายและใจ ความสุขของคฤหัสถ์ ๔ อันได้แก่ ความสุขเกิดการมีทรัพย์ ความสุขเกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์ ความสุขเกิดจากการไม่เป็นหนี้ และความสุขเกิดจากการทำงานที่ปราศจากโทษ เป็นต้น


         ๒.กรุณาหมายถึง ความปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ ความทุกข์ คือ สิ่งที่เข้ามาเบียดเบียนให้เกิดความไม่สบายกายไม่สบายใจ และเกิดขึ้นจากปัจจัยหลายประการด้วยกัน


         ๓.มุทิตาหมายถึง ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี คำว่า "ดี" ในที่นี้ หมายถึง การมีความสุขหรือมีความเจริญก้าวหน้า ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดีจึงหมายถึง ความปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุขความเจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้น ไม่มีจิตใจอิจฉาริษยา


         ๔.อุเบกขาหมายถึง การรู้จักวางเฉย หมายถึง การวางใจเป็นกลางเพราะพิจารณาเห็นว่า ใครทำดีย่อมได้ดี ตามกฎแห่งกรรม ใครทำสิ่งใดไว้สิ่งนั้นย่อมตอบสนองคืนบุคคลผู้กระทำ เมื่อเราเห็นใครได้รับผลกรรมในทางที่เป็นโทษเราก็ไม่ควรดีใจหรือคิดซ้ำเติมเขาในเรื่องที่เกิดขึ้น เราควรมีความปรารถนาดี คือพยายามช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์ในลักษณะที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม