'เปี๊ยก จิตรลดา'พระพลังแผ่นดินเข้มขลังทุกอณู
'เปี๊ยก จิตรลดา'พระพลังแผ่นดินเข้มขลังทุกอณู : สรณะคนดัง โดย เรื่อง / ภาพ ไตรเทพ ไกรงู
"พระสมเด็จจิตรลดา" หรือ "พระกำลังแผ่นดิน" นั้น เข้าใจว่า ท่าน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช จะเป็นผู้ขนานพระนามตามพระนามของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช คำว่า "ภูมิ" แปลว่า "แผ่นดิน" ส่วนคำว่า "พล" แปลว่า "กำลัง" จึงเป็นที่มาของพระนาม "พระสมเด็จจิตรลดา" ว่า "พระกำลังแผ่นดิน"
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงอธิษฐานพระบุญญาบารมีของพระองค์ท่าน ความมีพระราชศรัทธาสาทะอย่างสุดซึ้ง ในพระบวรพุทธศาสนา และผลบุญกุศลที่พระองค์ทรงตั้งมั่นอยู่ในการประกอบแต่กรรมดี ทั้งในอดีตชาติ และปัจจุบันชาติ ช่วยดลบันดาลให้พระพุทธรูปพิมพ์ที่พระองค์ทรงสร้างขึ้นนั้นสูงสุดด้วยพระพุทธานุภาพ และกฤตยานุภาพ คุ้มครองให้คลาดแคล้วผองภัยพิบัติ และอำนวยความเป็นสิริมงคลให้แก่ผู้นำไปบูชา ด้วยความเลื่อมใสศรัทธา และประกอบแต่กรรมดี
พระกำลังแผ่นดิน ณ เวลานี้ถือเป็นสุดยอดปรารถนาของคนในวงการพระเครื่อง แต่ต้องแลกมาด้วยเงินไม่ต่ำกว่า ๑.๕ ล้านบาท ซึ่งนับวันตัวเลขดังกล่าวจะขยับสูงขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดค่านิยมขยับขึ้นไปที่ ๒ ล้านบาทแล้ว
“มีพระสมเด็จจิตรลดาถือว่ามีพระบารมีในหลวงคุ้มครองตัว มีความเข้มขลังทุกอณู โดดเด่นทางด้านแคล้วคลาด และค้าขาย ไม่ต้องแขวนเต็มองค์เพียงแค่ชิ้นส่วน หรือฝุ่นผงที่กะเทาะจากองค์พระใครมีไว้ครอบครองก็ถือว่าสุดยอดแห่งความเป็นมหามงคล นอกจากมวลสารที่รวบรวมจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทั่วประเทศแล้ว ไม่บ่อยครั้งนักของการจัดสร้างวัตถุมงคลที่เส้นพระเกศาของในหลวงเป็นมวลสารศักดิ์สิทธิ์”
ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นคำยืนยันของ ส.อ.สุเมธีก์ อาริยะ ผู้เชี่ยวชาญพระสมเด็จจิตรลดา หรือที่รู้จักกันในนาม "เปี๊ยก จิตรลดา" ทายาท ผู้พันสกุล อาริยะ ผู้ชำนาญการพระเครื่องสายตรง ชุด ร.๙ ผู้เชี่ยวชาญพระสมเด็จจิตรลดาของสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย ซึ่งเป็นเซียนพระเพียงหนึ่งเดียวที่มีฉายาพ่วงท้ายเป็นชื่อรุ่นของพระ โดยผู้ใหญ่ในวงการพระเครื่องได้ตั้งฉายามาตั้งแต่ช่วง พ.ศ.๒๕๓๘ ด้วยเหตุที่เป็นผู้ที่ชำนาญและเช่าชื้อพระสมเด็จจิตรลดามากเป็นอันดับต้นๆ ของวงการพระเครื่อง
เปี๊ยก จิตรลดา บอกว่า นับวันพระสมเด็จจิตรลดาจะเป็นพระที่หายากและราคาแพง เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๕ ราคาประมาณ ๕-๖ หมื่นบาท แต่ปัจจุบันราคาขยับขึ้นหลักล้าน ทั้งนี้ในรอบปี ๒๕๕๔ นี้ มีพระผ่านเข้ามาในมือเพียง ๒ องค์เท่านั้น ส่วนใหญ่จะเป็นของปลอมซึ่งผ่านตาไม่ต่ำกว่า ๕๐ องค์ ฝีมือการทำปลอมนับวันจะดีขึ้น โดยเฉพาะพระที่ทรงสร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๒ และ พ.ศ.๒๕๑๓ รวมทั้งในกำกับพระที่พระราชทานมากับองค์พระก็มีการทำปลอมด้วย เรียกว่า “ปลอมทั้งองค์พระ ปลอมทั้งใบกำกับพระ"
สำหรับความพิเศษของการส่องพระสมเด็จจิตรลดา หากพิจารณาดีๆ นอกจากเห็นมวลสารศักดิ์สิทธิ์แล้ว ยังเห็นพระราชกรณียกิจที่พระองค์เสด็จไปเยี่ยมเยียนราษฎรในจังหวัดต่างๆ ตั้งแต่เหนือจรดใต้ ยิ่งเห็นมวลสารที่มาจากจังหวัดต่างๆ ทั้งประเทศ ทำให้คิดถึงพื้นที่ทรงเสด็จ พระสมเด็จจิตรลดาที่สร้างในปีต้นๆ จะเห็นมวลสารชัดเจนทุกด้าน ในส่วนในช่วงปีหลังๆ จะเห็นเฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง ทั้งนี้เพราะความหนาบางขององค์พระที่ทรงสร้างแต่ละปีมีความหนาบางไม่เท่ากัน
ส่วนที่มาของพระสมเด็จจิตรลดานั้น เปี๊ยก จิตรลดา บอกว่า มีทั้งที่ได้มาจากผู้ที่ได้รับพระราชทานจากพระหัตถ์ในหลวง ลูกหลาน รวมทั้งคนในวงการพระเครื่อง แต่ส่วนใหญ่จะได้มาจากผู้ที่ได้รับพระราชทานจากพระหัตถ์ใหลวง ซึ่งส่วนใหญ่ไม่อยากขาย แต่ด้วยเหตุที่พระมีเพียงองค์เดียวแต่มีลูกมากกว่า ๑ คน การแบ่งครึ่งองค์พระป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ จึงนำพระมาขายแล้วเอาเงินไปแบ่งให้ลูกหลาน ทั้งนี้ จะเก็บใบกำกับพระไว้ แต่ภายหลังก็เอาใบกำกับพระมาขาย เพราะเก็บไว้ไม่รู้ว่าจะแบ่งกันอย่างไรอีก ทั้งนี้ หากขายพระสมเด็จจิตรลดาพร้อมๆ กับใบกำกับพระ จะได้ราคาสูงกว่า
ทั้งนี้ เปี๊ยก จิตรลดา พูดทิ้งท้ายไว้อย่างน่าคิดว่า "ชีวิตและครอบครัวที่มีอยู่ มีกินทุกวันนี้ เพราะพระในหลวงทั้งหมด เงินที่ได้มาทุกบาททุกสตางค์ผมจะใช้ไปอย่างคุ้มค่าเงินมากที่สุด เงินที่มีรูปในหลวงทุกบาททุกสตางค์จะไม่ถูกไปใช้ในทางที่ผิดและไร้ศีลธรรม ผมอยากให้คนไทยทุกคนฉุกคิดสักนิดก่อนที่จะใช้เงินที่มีรูปในหลวงว่าได้ใช้ในทางที่ถูกและสิ่งที่ควรหรือไม่"
ค่านิยมพระในหลวง
เปี๊ยก จิตรลดา บอกว่า พระเครื่องที่เกี่ยวกับในหลวง เช่น พระสมเด็จจิตรลดา เหรียญทรงผนวช เหรียญ ๓ รอบ เนื้อทองคำ เป็นที่แสวงหาของผู้สะสมอย่างยิ่ง นอกจากนี้แล้ว ผู้สะสมหลายรายได้ขอจอง และขอให้แสวงหาพระที่เกี่ยวกับในหลวงเกือบทุกรุ่น ซึ่งนับว่าเป็นความโชคดีที่มีผู้นำเหรียญ ๓ รอบ เนื้อทองคำมาให้เช่าเกือบ ๒๐ เหรียญ ซึ่งไม่ต่ำกว่า ๑.๕ แสนบาท และล่าสุดได้เช่าเหรียญที่ระลึกเสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรป และทวีปยุโรป เนื้อทองคำ ปี ๒๕๐๓ ในราคา ๕ แสนบาท
เหรียญที่มีพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวง อันเป็นที่นิยมสูงสุด คือ เหรียญทรงผนวช ค่านิยมไม่ต่ำกว่า ๑.๕ ล้านบาท ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้วัดบวรนิเวศวิหารสร้างเหรียญทรงผนวชเป็นที่ระลึก เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๘ โดยมีข้อความด้านหลังเหรียญว่า "เสด็จฯ สมโภชพระเจดีย์ทองบวรนิเวศ ๒๙ สิงห์ ๒๕๐๘ ในมงคลสมัยพระชนมายุเสมอสมเด็จพระราชบิดา"
ในการจัดสร้างเหรียญทรงผนวชได้มีการสร้างแผ่นปั้มทรงผนวชออกมาด้วย มี ๓ เนื้อ คือ เนื้อทองแดงกะไหล่ทองค่านิยมอยู่ที่ ๓-๔ หมื่นบาท เนื้อเงินค่านิยมอยู่ในหลักหมื่นปลายๆ ส่วนเนื้อตะกั่วอยู่ที่ประมาณ ๒ หมื่นบาท ซึ่งเท่าที่พบยังไม่มีการทำปลอม ส่วนเหรียญทรงผนวช พ.ศ.๒๕๐๘ มีการทำปลอมมาก จึงอยากแนะให้ผู้อยากมีไว้ครอบครองให้เช่าเหรียญทรงผนวช พ.ศ.๒๕๕๐ และ พ.ศ.๒๕๕๑
นอกจากนี้แล้ว ยังมีเหรียญที่ได้รับความนิยมรองลงมา คือ ๑.เหรียญที่ระลึกเสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรปและทวีปยุโรป ถ้าเป็นเนื้อทองคำค่านิยม ๖-๗ แสนบาท เนื้อเงิน ๕-๖ แสนบาท ๒.เหรียญพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ.๒๔๙๓ ซึ่งถือว่าเป็นเหรียญที่ระลึกเหรียญแรกที่มีการจำลองรูปเหมือนของในหลวงลงบน เหรียญ พบเฉพาะเนื้อเงิน ค่านิยมประมาณ ๔-๕ แสนบาท
และ ๓.เหรียญพระชนมพรรษาครบ ๓ รอบ สร้างเมื่อปี ๒๕๐๖ หรือ เหรียญ ๓ รอบ มีด้วยกัน ๔ เนื้อ คือ ทองคำ เงิน ทองแดง และอัลปาก้า ซึ่งเป็นเรื่องแปลกมาก สำหรับเหรียญรุ่นนี้ ที่เนื้อเงินและทองแดงมีค่านิยมเท่ากัน หรือสูงกว่าเนื้อทองคำ คือ มีค่านิยมประมาณ ๒-๓ แสนบาท ส่วนเนื้ออัลปาก้านั้นค่านิยมเพียง ๕๐๐ บาทเท่านั้น ส่วนเหรียญอื่นๆ ที่ไม่ได้กล่าวนั้น ต่างได้รับความนิยม แต่ค่านิยมจะอยู่ในหลักพันเท่านั้น