
กฤษฎา บุญราชพระดีผู้แขวนต้องมีดีด้วย
กฤษฎา บุญราชพระดีผู้แขวนต้องมีดีด้วย : สรณะคนดัง โดย เรื่อง / ภาพ สุพิชฌาย์ รัตนะ-/ ศูนย์ข่าวภาคใต้
”สงขลา” เป็นจังหวัดที่ได้ชื่อว่ามีความสำคัญอย่างมากของภาคใต้ ด้วยเพราะพื้นที่แห่งนี้นอกจากจะได้รับการขนานนามให้เป็นหัวเมืองเศรษฐกิจของภูมิภาคแล้ว ยังเป็นสถานที่ตั้งของหน่วยงานราชการอันสำคัญทั้งในส่วนของพลเรือน ตำรวจ และทหาร กอปรกับมีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน จึงมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามายังประเทศไทย ผ่านด่าน อ.สะเดา เฉลี่ยปีละ ๒ ล้านคน
ดังนั้น “นายกฤษฎา บุญราช” ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา คนใหม่ที่เพิ่งย้ายจาก จ.ยะลา มาหมาดๆ จึงน้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” มาประยุกต์ใช้ในการดูแลทุกข์สุขของประชาชน เพื่อขับเคลื่อนการก้าวย่างของจังหวัดแห่งนี้ให้สามารถก้าวย่างไปในทิศทางที่ดีและมั่นคงให้เกิดกับชาว ”สมิหลา” แห่งนี้
จากประสบการณ์การทำงานเป็นข้าราชการที่ปลายด้ามขวานมายาวนาน นายกฤษฎายังมีรางวัลที่การันตีความมุ่งมั่นในฐานะข้าราชการมากมาย อาทิ รางวัลนายอำเภอดีเด่น (นายอำเภอแหวนเพชร) ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี ๒๕๔๒ ได้รับโล่เกียรติคุณ ในฐานะข้าราชการที่มีผลงานด้านการปราบปรามยาเสพติด จากหน่วยปราบปรามยาเสพติด (DEA) สหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ปี ๒๕๔๒ รางวัลพลเมืองคนกล้า ของสถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๒ และโล่ประกาศเกียรติคุณบุคคลที่มีผลงานดีเด่นในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ประจำปี ๒๕๕๒
“ยอมรับว่า การทำหน้าที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาจะต้องปรับตัวจากเดิมค่อนข้างมาก หลังจากช่วงตลอด ๕ ปีที่ต้องอยู่กับวิถีและงานด้านความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ที่ทุกย่างก้าวล้วนต้องเสี่ยงอันตราย ทำให้ทุกครั้งที่ต้องออกปฏิบัติงานในพื้นที่สิ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวันคือ เสื้อเกราะ และพระเครื่อง เพราะนี่คือสิ่งที่คุ้มกายและคุ้มใจของเราทุกครั้งที่ลุยพื้นที่สีแดง ทำให้การทำงานวันนี้ซึ่งมีเรื่องสังคม เศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวเข้ามาเป็นประเด็นหลัก กลายเป็นสิ่งใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม แต่ตั้งใจอย่างแน่วแน่ต้องทำให้ได้ และดีที่สุด ซึ่งแม้รูปแบบการทำงานจะเปลี่ยนไป แต่เรื่องความเชื่อและศรัทธาพระเครื่องยังเต็มเปี่ยมมิเปลี่ยนแปรไปแต่อย่างใด” นายกฤษฎา กล่าว
ในการทำงานที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา สิ่งที่นายกฤษฎายึดถือมาตลอด และมั่นใจว่า จะใช้ได้ในทุกๆ ที่ นั่นคือการ “มีศีล มีธรรม” เพราะนี่คือแนวทางของพระพุทธองค์ที่เป็นทั้งวิทยาศาสตร์ และเป็นวิธีการจรรโลงใจให้การทำงานเป็นไปอย่างถูกต้อง ไม่ขัดต่อหลักของข้าราชการที่ดีอีกด้วย
“หากเราประพฤติในศีลและดำเนินชีวิตภายใต้หลักธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วไซร้ ไม่ว่าจะทำงาน ณ แห่งหนใดก็ตาม จะทำให้ตัวเราและคนรอบข้างจะเต็มไปด้วยความสุข ซึ่งหลักนี้ผมยึดถือมาตั้งแต่เป็นข้าราชการวันแรก จวบจนถึงปัจจุบัน” ผู้ว่าฯ กฤษฎา กล่าว
นอกจากจะยึดหลัก “มีศีล มีธรรม” แล้ว สำหรับ “ผู้ว่าฯ สงขลา” ยังเชื่อว่า “พระเครื่อง” เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่คอยย้ำเตือนให้ชีวิตอยู่ในกรอบของความดี ไม่เฉไฉไปในทางที่ผิด เพราะการสร้างพระเครื่องนอกจากจะเป็นรูปสมมติของพระพุทธองค์ที่เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์การสืบสานพระพุทธศาสนาแล้ว ยังเป็นหนึ่งในกุศโลบายธรรมที่คอยกำชับชีวิตของผู้บูชาศรัทธาให้ดำรงตนอยู่ในลู่ทางที่ถูกต้องอีกด้วย
สำหรับพระเครื่องที่ไม่เคยห่างกาย ประกอบด้วย พระสมเด็จเกศไชโย พระหลวงพ่อโสธร ซึ่งบิดาเป็นผู้มอบให้ นับตั้งแต่เดินเข้าสู่เส้นทางข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และใช้ติดตัวมาโดยตลอด และอีกองค์ที่ขาดไม่ได้ คือ พระหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ เนื้อว่าน พิมพ์ใหญ่ ปี ๒๔๙๗ ซึ่งได้รับมอบจากผู้บังคับบัญชาเมื่อครั้งทำหน้าที่เลขานุการ นายเจริญจิตต์ ณ สงขลา ขณะดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทย และรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ฝ่ายความมั่นคง เป็นผู้มอบให้ไว้ติดตัว
“แขวนพระเครื่องแล้ว ต้องอยู่ในศีลในธรรม เพื่อเสริมสิริมงคลให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คอยปกปักรักษาชีวิตเรา ในทางกลับกัน ต่อให้แขวนพระดีแค่ไหน หากไม่รู้จักตั้งตนในความดีก็คงเป็นเรื่องยากที่จะพบกับความรุ่งเรือง หรือความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่ ผมรักและหวงพระทั้ง ๓ องค์นี้มาก เพราะช่วงตลอด ๕ ปีที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้อาราธนาขึ้นคอทุกวัน ไม่เคยขาด จึงเป็นดั่งเกราะคุ้มภัยให้ชีวิตที่นอกจากช่วยให้แคล้วคลาดอันตรายมานับครั้งไม่ถ้วนแล้ว ยังช่วยให้ชีวิตบังเกิดแต่สิ่งดีงามมาโดยตลอดอีกด้วย” นายกฤษฎา กล่าวทิ้งท้าย
'หลวงพ่อทวด'แห่งวัดพะโคะ
การปฏิบัติหน้าที่ราชการในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา “หลวงพ่อทวด” แห่ง "วัดช้างให้” จ.ปัตตานี คือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ “ผู้ว่าฯ กฤษฎา” ให้ความเคารพศรัทธาอย่างมาก และทุกครั้งที่มีโอกาสจะต้องไปกราบนมัสการเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต และที่สำคัญจะต้องขอพรให้พี่น้องชายแดนภาคใต้ผ่านพ้นวิกฤติที่เกิดจากความไม่สงบ เพื่อก้าวเดินไปสู่ความสันติสุขอีกครั้งให้ได้
โดยล่าสุดการได้ทำหน้าที่พ่อเมืองสงขลา ทำให้มีโอกาสได้สัมผัสกับ "สมเด็จพะโคะ” หรือ "หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด" แห่งวัดราชประดิษฐาน หรือวัดพะโคะ ซึ่งเป็นวัดที่มีความสำคัญต่อคนสงขลามาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยาของเมืองพัทลุง เป็นวัดที่ประดิษฐานพระมาลิกเจดีย์พระพุทธไสยาสน์ หรือพระโคตมะ และอนุสาวรีย์หลวงพ่อทวด (สมเด็จพระราชมุนีสามิราม) ในลักษณะจาริกธุดงค์ ซึ่งเป็นที่ศรัทธาและเคารพบูชาของชาวไทยและชาวต่างประเทศใกล้เคียง มาจนกระทั่งปัจจุบันนี้
"ตลอดเส้นทางราชการในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ชีวิตผ่านพ้นภยันอันตรายมานับครั้งไม่ถ้วน โดยเฉพาะการทำหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของพี่น้องในพื้นที่ ซึ่งสิ่งต้องปฏิบัติอย่างละเว้นไม่ได้ คือเราต้องเข้าหาประชาชนทุกพื้นที่ แม้จะเสี่ยงก็ต้องไป เพื่อให้กำลังใจชาวบ้านที่อยู่อย่างลำบากยิ่งกว่า ดังนั้น เรื่องของความเสี่ยงจึงแทบจะอยู่คู่กับการเดินทางอย่างชนิดแยกกันไม่ออกตลอด ๕ ปี ที่ปฏิบัติงาน ไม่ว่าจะด้วยรูปแบบการเข้าไปเฉียดฉิวกับลูกระเบิดที่ถูกฝังตามเส้นทางขณะเดินทางเข้าพื้นที่ หรือวางตามสถานที่สำคัญ จนกลายเป็นเรื่องที่พยายามข่มใจรับกับคำว่าเคยชิน ซึ่งสามารถรอดพ้นมาได้อย่างปลอดภัย คลาดแคล้วมาแทบทั้งสิ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเชื่อว่าเป็นเพราะผลบุญกุศลที่ยึดมั่นในศีลธรรม รวมทั้งความศักดิ์สิทธิ์จากพระเครื่องที่อาราธนาและบูชาติดตัวมาโดยตลอด นับเป็นมงคลแก่ชีวิตที่ได้มีโอกาสกราบสักการะหลวงพ่อทวดทั้งที่วัดช้างให้ จ.ปัตตานี และหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด ที่วัดพะโคะ จ.สงขลา” นายกฤษฎา กล่าว