อมตะภาพถ่ายแดนสยามสุดยอด๑๐๘พระคณาจารย์ในตำนาน
อมตะภาพถ่ายแดนสยามสุดยอด๑๐๘พระคณาจารย์ในตำนาน : ชั่วโมงเซียน โดย ป๋อง สุพรรณ
เมื่อก่อนนี้ผมไม่เข้าใจความหมายของประโยคที่ว่า "ภาพถ่าย ๑ ภาพ แทนคำบอกเล่าได้เป็นล้านๆ คำ" จนกระทั้งผมได้ร่วมทำหนังสือ “ตามรอยตำนานสุดยอดอมตะภาพถ่าย ๑๐๘ พระคณาจารย์ แดนสยาม” กับ ป๋าพยัพ คำพันธุ์ นายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย รวมทั้งเพื่อนพ้องน้องพี่ในวงการพระเครื่องอีกหลายสิบท่าน ถึงเข้าใจความหมายของประโยคดังกล่าว และอยากจะเพิ่มเติมต่ออีกว่า "ภาพถ่าย ๑ ภาพ นอกจากแทนคำบอกเล่าได้เป็นล้านๆ คำแล้ว คุณค่าและราคาของภาพถ่ายยังประเมินค่ามิได้ โดยเฉพาะภาพถ่ายพระคณาจารย์หลายภาพมีราคาหลักหมื่น หลายภาพมีราคาหลักหลายๆ แสนบาท"
ป๋าพยัพ นับเป็นอีกคนหนึ่งที่นิยมสะสมภาพพระเกจิอาจารย์ยุคเก่า มานานกว่า ๓๐ ปี จนทุกวันนี้มีภาพพระเกจิอาจารย์ต่างๆ นับร้อยภาพ จึงได้เกิดความคิดที่จะรวบรวมภาพถ่ายเก่าเหล่านี้ จัดพิมพ์ขึ้นเป็นหนังสือชื่อว่า "หนังสือสุดยอดอมตะภาพถ่าย ๑๐๘ พระคณาจารย์แดนสยาม" ซึ่งนับเป็นหนังสือประวัติศาสตร์เล่มแรกของวงการพระเครื่องเมืองไทย ที่ได้รวมภาพถ่ายเก่าของสุดยอดพระคณาจารย์ยุคก่อนที่หาชมได้ยากยิ่ง พร้อมทั้งประวัติ ความสำคัญ ความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์-ลูกศิษย์ และสหธรรมิก รวมทั้งภาพวัตถุมงคลของแต่ละพระคณาจารย์ ที่ท่านได้สร้างไว้ในยุคของท่านทุกรุ่น นับตั้งแต่ยุคแรกที่มีการถ่ายภาพในเมืองไทย
หนังสือ “ตามรอยตำนานสุดยอดอมตะภาพถ่าย ๑๐๘ พระคณาจารย์ แดนสยาม” ไม่ได้นำเสนอเฉพาะภาพถ่ายพระคณาจารย์ และวัตถุมงคลเท่านั้น หากยังรวบรวมประวัติศาสตร์การถ่ายภาพของโลกตั้งแต่มนุษย์เริ่มรู้จักใช้กล้องบันทึกภาพ เช่น ภาพถ่ายภาพแรกของโลก คือ ภาพถ่ายเมืองซาลอง เชอร์ ชอง เมื่อ พ.ศ.๒๓๖๙ ภาพถ่ายมนุษย์คนแรกของโลก ที่ถูกถ่ายภาพติด ณ มุมถนนแห่งหนึ่งในกรุงปารีส เมื่อ พ.ศ.๒๓๘๒ รวมทั้งยังรวบรวมประวัติศาสตร์การถ่ายภาพในเมืองไทยตั้งแต่กล้องตัวแรก ช่างภาพคนแรก ร้านถ่ายภาพแห่งแรก คนไทยคนแรกๆ ที่ถูกถ่ายภาพ ก่อนจะมาถึงการถ่ายภาพพระคณาจารย์
สำหรับผู้สนใจเรื่องการประกวดการถ่ายภาพนั้น ช่างภาพยุคปัจจุบันอาจจะไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า การจัดประกวดภาพถ่ายนั้น ครั้งแรกจัดที่วัดเบญจมบพิตร เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๘ เป็นงานใหญ่เรียกว่ามโหฬารมาก มีร้านขายของนานาชนิดมากถึง ๖๓ ร้าน และมีร้านขายรูปของหลวงรวมอยู่ด้วย จุดเด่นของการออกร้านในปีนี้คือ มีการประกวดถ่ายรูป ดังรายละเอียดที่ระบุไว้ในหนังสือ “รายการพระราชกุศลในการสถาปนาวัดเบญจมบพิตรตุสิตวนาราม รัตนโกสินทร์ ศก ๑๒๕”
ในจำนวนอมตะภาพถ่าย ๑๐๘ พระคณาจารย์ ภาพที่เราคุ้นตากันเป็นอย่างดี เช่น ภาพสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆัง นั่งบนโต๊ะ แล้วมีพัดรองด้านขวามือ ลูกศิษย์นั่งซ้ายขวา ๒ คน และภาพในท่าแสดงธรรม ถ่ายโดย หลวงอัคนีนฤมิตร (จิตร จิตราคณี) ถ่ายไว้ในช่วงเจ้าประคุณสมเด็จมีอายุประมาณ ๗๕-๘๐ ปี ภาพถ่ายครูบาศรีวิชัย สิริวิชโย วัดศรีทรายมูลบุญเรือง (วัดบ้านปาง) ต.ศรีวิชัย อ.ลี้ จ.ลำพู ถ่ายโดยห้องภาพ M.TANAKA และห้องภาพ ยากี
นอกจากนี้ยังมีภาพพระคณาจารย์ต้นฉบับของเดิมที่วัดทำแจกลูกศิษย์ ซึ่งปัจจุบันนี้กลายเป็นของหายาก บางพระคณาจารย์ของเก่าหากยากกว่าวัตถุมงคลของท่านหลายเท่า ปัจจุบันมีการเช่าหาในราคาหลักหมื่นปลายๆ ถึงหลักหลายแสนบาท เช่น หลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง หลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า หลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ หลวงพ่อคง วัดบางกระพร้อม หลวงพ่อดิ่ง วัดบางวัว สมเด็จพระสังฆราช (แพ) หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว
หนังสือ “ตามรอยตำนานสุดยอดอมตะภาพถ่าย ๑๐๘ พระคณาจารย์ แดนสยาม” ถือว่าเป็นหนังสือครูเล่มหนึ่ง ที่รวบรวมภาพถ่ายองค์จริงของพระคณาจารย์ตัวจริงในอดีต พร้อมกับภาพถ่ายวัตถุมงคลของท่าน เหมาะสำหรับใช้เป็นคู่มือในการศึกษาและสะสมพระเครื่องเป็นอย่างยิ่ง แม้ว่าราคาหน้าปกจะอยู่ที่เล่มละ ๒,๕๐๐ บาท ซึ่งอาจจะแพงสำหรับบางคน แต่ภาพถ่ายพระคณาจารย์แต่ละรูปต้นฉบับจริงราคาอยู่ในหลักหมื่นกลางๆ ทุกบาน ปีใหม่ที่จะถึงนี้หากใครคิดไม่ออกว่าจะซื้ออะไรไปเป็นของขวัญของกำนัลผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือก็น่าจะพิจารณาหนังสือ “ตามรอยตำนานสุดยอดอมตะภาพถ่าย ๑๐๘ พระคณาจารย์ แดนสยาม” ไว้สักเล่ม
หลวงพ่อเนียมถ่ายภาพติดเมื่อมรณะ
การถ่ายรูป หลวงพ่อเนียม วัดน้อย บ้านสามหมื่น อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี เล่ากันว่าถ่ายไม่ติด ครั้งหนึ่งมีช่างแผนที่มาทำการออกโฉนดที่ดินที่ จ.สุพรรณบุรี พระประมาณ เป็นหัวหน้าพร้อมด้วยฝรั่งสองคนเป็นผู้ช่วย ทราบเสียงเล่าลือว่าการถ่ายรูป หลวงพ่อเนียมนั้นถ่ายไม่ติด พระประมาณ กับฝรั่งนั้นต้องการพิสูจน์ความจริง ตามเสียงที่เล่าลือกันจะเป็นความจริงเพียงใด จึงไปที่วัดน้อยแล้วนิมนต์พระทั้งวัดมานั่งถ่ายรูปพร้อมด้วยหลวงพ่อเนียม เมื่อเอาฟิล์มไปล้างปรากฏว่าไม่มีรูปหลวงพ่อเนียมอยู่ในกลุ่มนั้นจริงๆ พระประมาณ กลับมาทดลองถ่ายอีกโดยขอให้หลวงพ่อเนียมเดินไปที่โอ่งน้ำมนต์ ถ่ายขณะที่หลวงพ่อกำลังเดินไปและขณะอยู่ที่โอ่งกำลังทำน้ำมนต์ ก็ไม่ติดอีกเป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก
เมื่ออายุครบบวชทำการอุปสมบทในบวรพุทธศาสนา วัดใกล้บ้านท่านนั่นแหละ คาดว่าคงเป็นวัดป่าพฤกษ์ หรือไม่ก็วัดตะค่า เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๓๙๒-๒๓๙๓ เมื่ออุปสมบทถือเพศบรรพชิตแล้ว ท่านได้ตั้งหน้าตั้งตาศึกษาพระธรรมวินัยและมูลกัจจายน์ในจังหวัดพระนครหรือธนบุรี สืบทราบไม่แน่ชัด มีบางท่านว่าอยู่วัดพระพิเรนทร์ บางท่านว่าอยู่วัดโพธิ์, วัดระฆัง, วัดทองธรรมชาติ ธนบุรี ไม่เป็นที่ยุติ สรุปความว่าท่านไปอยู่วัดในจังหวัดพระนครและธนบุรี ซึ่งอาจจะอยู่วัดในจังหวัดดังได้กล่าวมาแล้วก็ได้
พระเครื่องที่หลวงพ่อเนียมสร้างไว้มีหลายพิมพ์ด้วยกัน มีผู้เล่าว่าตอนต้นท่านสร้างพระเครื่องดินเผา แต่เนื้อที่เผาไม่แกร่งพอ ท่านจึงไม่แจกให้แก่ผู้ใดเลยแม้แต่องค์เดียว ในวงการพระเครื่องจึงไม่รู้จักพระเครื่อง เนื้อดินเผาของท่าน ส่วนมากเท่าที่รู้จักกันคือพระเนื้อชินตะกั่วผสมปรอท ท่านสร้างไว้หลายพิมพ์โดยเอาพระเก่าๆ มาทำแม่พิมพ์ เท่าที่รู้จักกันแพร่หลาย คือ ๑.พระงบน้ำอ้อย ๒.พระพิมพ์ลำพูน เกศยาว ๓.พระพิมพ์ลำพูน เศียรโล้น ๔.พระปรุหนัง ต่อมาปรากฏว่าพบพิมพ์พระเจ้าห้าพระองค์เพิ่มขึ้นอีก บางท่านว่าพระปิดตาก็มี แต่ทว่ามีจำนวนน้อย แทบจะไม่มีใครรู้จักเลย
หลวงพ่อเนียมมีอายุยืนยาวถึง ๔ รัชกาล เกิดเมื่อ พ.ศ.๒๓๗๒ ในรัชกาลที่ ๓ ของกรุงรัตนโกสินทร์ มรณภาพเมื่ออายุ ๘๐ ปี โดยมรณภาพในลักษณะเหมือนพระปางไสยาสน์ นับเป็นพระสงฆ์องค์แรกของเมืองไทยที่มีการมรณภาพเช่นนี้ ผู้เขียนไปวัดน้อย สอบถามผู้ใกล้ชิดแล้วบวกลบคูณหารดู ปรากฏว่าตรงกับ พ.ศ.๒๔๕๒ ประมาณ ๙๕ ปีมาแล้ว หลังจากการฌาปนกิจเสร็จแล้วชาวบ้านแย่งกันเก็บอัฐิของท่านเอาไปไว้บูชากันอย่างอลหม่าน