พระเครื่อง

 ยันต์หลวงปู่หลิว ปณฺณโกวัดไร่แตงทอง อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม

ยันต์หลวงปู่หลิว ปณฺณโกวัดไร่แตงทอง อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม

09 ม.ค. 2555

ยันต์หลวงปู่หลิว ปณฺณโกวัดไร่แตงทอง อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม : ชั่วโมงเซียน โดย อ.โสภณ

                 "เทพเจ้าพญาเต่าเรือน" เป็นสมญาของหลวงปู่หลิว ปณฺณโก อดีตเจ้าอาวาสวัดไร่แตงทอง ต.ทุ่งลูกนก อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม เมื่อครั้งที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านเป็นผู้ทรงอภิญญา และมีพุทธาคมสูงส่ง มีเมตตา พร้อมที่จะช่วยเหลือผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก โดยได้ใช้ความสามารถต่างๆ ที่ท่านมี บูรณปฏิสังขรณ์ สร้างเสนาสนะต่างๆ ภายในวัด เช่น โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ โดยมิได้หยุด
     
              ทั้งนี้ หลวงปู่หลิว เคยตั้งปณิธานด้วยสัจจะ ๒ ประการ คือ ๑.ลดเลิกอบายมุขทุกชนิด ๒.เมื่อมีโอกาสจะสั่งสมบารมี ด้วยการสร้างเสนาสนะภายในวัด เช่น โบสถ์ วิหาร กุฏิ ศาลาการเปรียญ จนกว่าชีวิตจะหาไม่
   
              อย่างไรก็ตาม หลังหลวงปู่หลิวมรณภาพ เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งคุณงามความดีของท่าน พระใบฎีกาสายชล เจ้าอาวาสวัดไร่แตงทอง รูปปัจจุบัน และคณะศิษย์จึงได้ร่วมกันสร้างรูปเคารพหลวงปู่หลิว ประทับพญาเต่าเรือน องค์ใหญ่ สูง ๘.๕๐ เมตร พร้อมกับสร้างวิหารครอบ ทั้งนี้ วัดจะจัดงานสมโภชระหว่างวันที่ ๒๐ มกราคม-๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ โดยมีมหรสพให้ชมฟรีตลอดงาน
   
              สำหรับผู้ไปวัดไร่แตงทองสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ คือ หน้าบันศาลาการเปรียญเป็นหน้าบันที่เป็นอักขระยันต์ ซึ่งหลวงปู่หลิวได้สร้างไว้เมื่อครั้งที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๕ พระใบฎีกาสายชล บอกว่า ยันต์บนหน้าบันเป็นยันต์ที่หลวงปู่หลิวใช้เป็นประจำ หรืออาจจะเรียกว่าเป็นยันต์ประจำตัวของหลวงปู่หลิวก็ว่าได้ นอกจากนี้แล้ว บริเวณประตูศาลายังมียันต์ขนาดใหญ่ อีก ๒ ตัว คือ ยันต์หงส์ทองตัวเมีย (ด้านขวามือหากหันหน้าเข้าศาลา) และยันต์หงส์ทองตัวผู้ (ด้านซ้ายมือหากหันหน้าเข้าศาลา) ซึ่งเป็นยันต์ที่หลวงปู่หลิวใช้เจิมบ้าน เจิมร้านค้า และเจิมบริษัทห้างร้านต่างๆ  
   
              ยันต์บนหน้าบัน ประกอบด้วยยันต์ที่น่าสนใจ ดังนี้
    ๑.เฑาะว์พุทโธนะอุนะ อุปเท่ห์การใช้ดีทางเหนียวและคงกระพันชาตรี
    ๒.อิ ติ มะ อะ อุ ใช้ทางคงกระพัน
    ๓.อิ ติ กร่อนหรือย่อมาจาก อิติปิโสรัตนมาลา
    ๔.มะ อะ อุ กร่อนหรือย่อมาจาก หัวใจพระไตรปิฎก อุปเท่ห์การใช้ดีทางคงกระพันชาตรี ทั้งนี้พระจะบริกรรมระหว่างลงยันต์บนหัว ใช้มาตั้งแต่สมัยโบราณาจารย์จนถึงปัจจุบัน นาสังสิโม ภะวะวานาโถ สุสิโม พุทโธภะคะวา
     
              ในส่วนของยันต์หงส์ทองตัวเมียนั้น ประกอบด้วยยันต์ ๓ ชุด คือ ๑.นะ มะ อะ อุ เป็นคาถาแก้วสี่ดวงที่ช่วยเพิ่มหรือหนุนให้คาถาตัวอื่นๆ มีพุทธคุณเข้มขลัง ๒.ในตาราง “อะ ระ หัง” หัวใจยอดพระนิพพาน และ ๓.ด้านใต้ตาง “พุ โธ” เป็นนามพระพุทธเจ้า แปลว่าผู้รู้ผู้ตื่น ให้มีปัญญา เป็นคาถาใช้ภาวนา ทั้งหมดนี้สามารถนำไปใช้เจิมบ้าน เจิมรถ
   
              ส่วนคาถาหัวใจพญาเต่าเรือน “นา สัง สิ โม” ทั้งนี้การลงยันต์ลงบนหลังพญาเต่าเรือนจะใช้วิธีเขียนควงกัน ๔ บท คือ ๑.นา สัง สิ โม ๒.สัง สิ โม นา ๓.สิ โม นา สัง และ ๔.โม นา สัง สิ 
   
              คาถาพญาเต่าเรือน มีอุปเท่ห์มากมาย แล้วแต่จะใช้ไปในทางใด ทั้งในรูปแบบของคาถาอาคม หัวใจพระคาถา พญาเต่าเรือน โองการ พญาเต่าเรือน อักขระเลขยันต์ พญาเต่าเรือน ได้บันทึกไว้เป็นตำราปรากฏอยู่ในสมุดข่อย สมุดขาว สมุดดำ อายุนับร้อยปี โดยขั้นต้นให้ท่องนะโม ๓ จบ ก่อน
   
              ๑.ท่องหัวพญาเต่าเรือน "นา  สัง  สิ  โม"  วันละ ๙ จบ  หรือ "นะมะพะทะ นาสังสิโม  สังสิโมนา  สิโมนาสัง  โมนาสังสิ  นะอุทะกะ เมมะอะอุอะ"  หรือ "นาสังสิโม  สังสิโมนา  สิโมนาสัง  โมนาสังสิ  สุวัณณะมามา  โภชะนะมามา  วัตถุวัตถา   พะลาพะลังมามา  โภคะมามา  มะหาลาโภมา  สัพเพชะนา  ภะวันตุเม" ๑ จบ แล้วพญาเต่าเรือนจะนำโชค  เสริมบารมีให้สำเร็จในอายุ  บริวาร  เกียรติยศและโภคทรัพย์
   
              ๒.ถ้าใช้ป้องกันตัวทางคงกระพัน ให้ภาวนากลับไปกลับมาว่า "นาสังสิโม  สิโมนาสัง  สังสิโมนา  โมนาสังสิ"
   
              ๓.ตอนเที่ยงวัน ให้วักน้ำที่บูชาเต่าหรือใช้เต่าที่ห้อยคอมาลูบหน้าอก แล้วกล่าวคาถา "นาสังสิโม  สังสิโมนา  สิโมนาสัง โมนาสังสิ" จะเกิดคุณอันประเสริฐดีนักแล
   
              และ ๔.สำหรับด้านคดีความ ในตำรับพุทธสโรของหลวงพ่อเดิมท่านมีคาถาให้สวดก่อนขึ้นศาล ในกรณีที่ถูกกลั่นแกล้ง ถูกใส่ร้ายใส่ความ คือ "นโมพุทธายะ นะผิด โมเฟือน พุทเลื่อนเปื้อน ธาเฟือนหัวใจ  ยะวังเวงสูญเปล่า นะเคลิ้มเคลื้อน สังให้สะเทือนหัวใจ สิหลงใหลมา โมวังเวงสับสน นะเข้าใจดล  สังบังเกิดในใจคน  มีแล้วสูญไป  ชิวหาอย่าได้มาประจักษ์แก่ตา  โมเดชเดชะ  ฤทธาเจ้าพญาเต่าเลือน  สังให้สะเทือนเฟือนสิ้นทุกคน  อิสะวาสุ  นาสังสิโม  มะอะอุ  ภะคะวานาโถ  นะโมพุทธายะ  นะปิดปาก  โมปิดใจ  พุทละลายสูญ  ฆะเตสิก  ฆะเตสิก  กิงกะระนัง  อะหังจิตตัง  พุทธะชานามิ  ธัมมะชานามิ  สังฆะชานามิ  อัตถะอะ  ฉิบหาย  สวาหะ  สวาหาย  สวาสูญ"
   
              ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของพญาเต่าเรือน จึงทำให้พระเกจิอาจารย์หลายสำนักสร้างวัตถุมงคล พญาเต่าเรือน ออกมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เช่น หลวงพ่อโบ้ย วัดมะนาว หลวงพ่อแป๊ะ วัดดอนผิงแดด หลวงปู่เลี้ยง วัดพานิชธรรมิการาม หลวงพ่อสนิท วัดลำบัวลอย หลวงปู่คำ วัดหนองแก หลวงพ่อยิด วัดหนองจอก หลวงพ่อบุญเรือน วัดยาง ฯลฯ แต่ที่โดดเด่นโด่งดังที่สุดในเรื่องวัตถุมงคล พญาเต่าเรือน ก็คือ หลวงปู่หลิว ปณฺณโก วัดไร่แตงทอง


ปาฏิหาริย์หลวงปู่หลิว
   
              ในการก่อสร้างรูปหล่อ หลวงปู่หลิว ประทับพญาเต่าเรือน องค์ใหญ่ พระใบฎีกาสายชล บอกว่ามีเหตุอัศจรรย์เกิดขึ้น ๒ อย่าง คือ ๑.ในการสร้างฐานเพื่อประดิษฐานรูปหล่อ หลวงปู่หลิว ประทับพญาเต่าเรือนนั้น ช่างได้กำหนดขนาดของฐานให้ขาทั้ง ๔ วางอยู่บนแท่นพอดี แต่เมื่อยกหล่อ หลวงปู่หลิว ประทับพญาเต่าเรือน ปรากฏว่า ขาหน้าด้านซ้ายยื่นเลยมาออกจากแทน จนกลายเป็นว่าใครมากราบไหว้จะต้องเอาศีรษะให้สัมผัสกับเท้า เหมือนกับว่าให้เหยียบเพื่อความเป็นสิริมงคล
     
              ๒.เกิดจากงานก่อสร้างที่ไม่คิดมาก่อน กล่าวคือ หลวงปู่หลิว ประทับพญาเต่าเรือน องค์ใหญ่ สูง ๘.๕๐ เมตร ดูในวิหารว่าใหญ่แล้ว แต่จะใหญ่ยิ่งกว่าเมื่อดูผ่านประตูวิหาร และหากเดินถอยหลัง โดยมองผ่านประตูยิ่งเดินถอยหลังยิ่งไกลเท่าไร ขนาดของเต่าจะใหญ่ขึ้น จนหัวของเต่าใหญ่คับประตูวิหารเลยทีเดียว ที่เป็นเช่นนี้เพราะความพอดีของหลวงปู่หลิว ประทับพญาเต่าเรือน กับบานประตูวิหาร 
     
              ทุกวันนี้มีลูกศิษย์และผู้เลื่อมใสศรัทธาจากทั่วสารทิศ เดินทางมากราบไหว้ และลอดใต้รูปเหมือนนั่งเต่ากันเป็นจำนวนมาก บางคนให้เหตุผลว่า เพื่อให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ นอกจากนี้บางคนยังเชื่อว่าลอดแล้วจะอายุยืนเหมือนเต่า ขณะที่คนจำนวนไม่น้อยมาลอดเพื่อขอโชคลาภ เนื่องจากกิตติศัพท์วัตถุมงคลหลวงปู่หลิว มีพุทธคุณเด่นด้านทำมาค้าขาย และเมตตามหานิยม
     
               ส่วนสิ่งที่ใช้แก้บนกัน นอกจากดอกไม้ พวงมาลัย ผลไม้ ขนม แล้วยังมี ผักบุ้ง ซึ่งเดิมทีคนมาแก้บนหลวงปู่หลิวอย่างเดียว ต่อมาหลายคนก็เกิดความคิดว่า น่าจะเอาผักบุ้งมาฝากเต่าของหลวงปู่หลิวด้วย ในที่สุดจึงกลายเป็นว่า นอกจากของแก้บนหลวงปู่หลิวแล้วยังต้องมีผักบุ้งมาฝากเต่าของท่านด้วย