"ตักบาตรข้าวหลาม"อิ่มบุญเดือนยี่ที่หนองโนเมืองสระบุรี
"ตักบาตรข้าวหลาม"อิ่มบุญเดือนยี่ที่หนองโน เมืองสระบุรี : วิถีบุญวิถีธรรม โดยไตรเทพ ไกรงู
“บุญประเพณีตักบาตรข้าวหลาม” เป็นบุญประเพณีของพุทธศาสนิกชนชุมชนไทย-ยวน หรือโยนกนครเดิม ต.หนองโน อ.เมือง จ.สระบุรี เพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่แม่โพสพ ให้ช่วยคุ้มครองดูแลข้าวเปลือกในยุ้งฉางหลองข้าวของตน มิให้สิ่งอื่นใดมารบกวน รวมทั้งเพื่อเป็นการแสดงออกถึงความสามัคคีของชุมชนในท้องถิ่น โดยจัดขึ้นในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ เดือนยี่ (ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๒) ของทุกๆ ปี โดยในปีนี้จัดไปแล้วเมื่อวันอาทิตที่ ๙ มกราคม ๒๕๕๕ ณ ลานอเนกประสงค์หน้าที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลหนองโน
ก่อนงานหนึ่งวันซึ่งเป็นวันโกน (วันขึ้นสิบสี่ค่ำ เดือนยี่) ฝ่ายชายของแต่ละหมู่บ้านจะจัดหาไม้ข้าวหลาม (อายุประมาณ ๑ ปี ไม้ไผ่อ่อนมีเตี้ยหรือเยื่อบาง) ติดอยู่ภายในกระบอกไม้ไผ่ ตัดเป็นท่อนๆ กะดูพองาม ฝ่ายหญิงจะจัดเตรียมข้าวเหนียวแช่น้ำ ถั่วดำต้มสุก น้ำตาลทราย เกลือ จากนั้นก็ซาวข้าวเหนียวที่แช่น้ำไว้ใส่ภาชนะผสมกับเครื่องปรุงทั้งหมด ปรุงรสตามความพอใจ แล้วตักใส่กระบอกไม้ไผ่ที่เตรียมไว้ ปิดฝากระบอกด้วยใบตองพับให้แน่น จากนั้นฝ่ายชายจะนำข้าวหลามไปเผากับราวบนพื้นดินจนสุกทั่วทั้งกระบอก ทิ้งไว้จนเย็นนำมาปอกเปลือกด้านนอกออกให้เหลือแต่เปลือกด้านใน พอรุ่งขึ้นก็นำไปทำบุญตักบาตรที่วัด
พระครูมงคลธรรมสุนทร หรือ พระครูน้อง เจ้าคณะตำบลหนองโน และเจ้าอาวาสวัดหนองโนใต้ บอกว่า บุญตักบาตรข้าวหลามบ้านหนองโนมีมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ พื้นเพคนหนองโนอพยพย้ายถิ่นมาจากโยนก และสิ่งหนึ่งที่บ่งบอกได้เป็นอย่างดีคือภาษาถิ่นที่ยังใช้ภาษาญวนเชียงใหม่ อาชีพหลักของคนพื้นนี้ คือ ปลูกข้าว ในอดีตน่าจะมีการปลูกข้าวเหนียวไว้กินเองมากกว่าข้าวเจ้า การปลูกข้าวเจ้าเริ่มมานิยมกันในช่วง ๕๐ ปี หลังนี่เอง
ในอดีตเมื่อถึงฤดูหนาวไม่มีผ้าห่มเช่นปัจจุบัน ชาวบ้านต้องจุดฟืนผิงไฟเพื่อไล่ความหนาว ระหว่างนี้เองก็เริ่มมีการตัดไม้ไผ่มาเผาข้าวหลาม ซึ่งกว่าจะรู้ว่าต้องใช้ไม้ไผ่อายุเท่าไรจึงจะเหมาะสมกับการเผาข้าวหลามคงลองผิดลองถูกกันหลายสิบปี จนกระทั่งมาพบว่าไม้ไผ่ที่เหมาะสมกับการเผาข้าวหลามนั้นต้องมีอายุประมาณ ๑ ปีเท่านั้น หากแก่หรืออ่อนกว่านี้เมื่อข้าวหลามสุกผ่าออกมาจากกระบอกเยื่อไผ่จะไม่ติดออกมา
อย่างไรก็ตาม เมื่อเผากินเองในบ้านแล้ว ด้วยเหตุที่ชาวบ้านเป็นพุทธศาสนิกชน ก็นำข้าวหลามที่เผานั้นมาใส่บาตรในตอนเช้า เพื่อทำบุญให้แม่โพสพ และเป็นสิริมงคลแก่ครอบครัว เดิมทีนั้นพิธีตักบาตรข้าวหลามนั้นมีอยู่ ๓ วัด คือ วัดหนองโนเหนือ วัดหนองโนใต้ และวัดป๊อกแป๊ก แต่ด้วยเหตุที่ชาวหนองโนแต่งงานมีครอบครัวย้ายถิ่นฐานออกไป รวมทั้งมีคนจากถิ่นอื่นย้ายเข้ามา จนกลายเป็นว่า ปัจจุบันนี้เหลือเพียงที่วัดหนองโนใต้เพียงวัดเดียวเท่านั้น
“เมื่อก่อนใครได้มาเที่ยวหนองโนในวันขึ้น ๑๔ ค่ำเดือนยี่ ซึ่งเป็นวันสุกดิบ ทุกบ้านจะต้องเผาข้าวหลามอย่างน้อยต้องตัดไม้ไผ่มา ๑ ต้น ประมาณ ๓๐-๔๐ กระบอก ร้อยบ้านก็ร้อยรสชาติ เข้าบ้านไหนก็จะได้กิน แต่ทุกวันนี้มีให้เห็นอยู่ไม่กี่บ้าน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าใจหายว่า เมื่อวิถีชีวิตเปลี่ยนไป วันหนึ่งการเผาข้าวหลามและใส่บาตรด้วยข้าวหลามอาจจะหมดไปด้วย” พระครูน้อง กล่าว
พร้อมกันนี้ พระครูน้อง ยังบอกด้วยว่า การใส่บาตรข้าวหลามหรือนำข้าวหลามมาถวายวัดนั้น ชาวบ้านจะใส่เป็นกระบอกยาวๆ บ้านละ ๒-๓ กระบอก แต่มาระยะหลังนี้ เมื่อองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) รับเป็นเจ้าภาพ กระบอกข้าวหลามที่เคยยาว ๑ ปล่องไม้ไผ่ เดียวนี้มีการหันข้าวหลามเป็นท่อนๆ กระบอกหนึ่งๆ หันออกเป็น ๓-๔ ท่อน จนเสียเอกลักษณ์ความเป็นข้าวหลามไปแล้ว
นอกจากนี้แล้วการเพิ่มคำว่า “จี่” ต่อท้ายเข้าไปโดยไม่มีเหตุผลหรือคำอธิบายใดๆ ประกอบ ทั้งนี้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันคนหนองโนไม่ได้ทำข้าวจี่เหมือนถิ่นอื่นๆ มีแต่เผาข้าวหลามกินกันเท่านั้น กว่า ๒๐๐ ปี ของการตั้งวัด เมื่อ พ.ศ.๒๓๔๓ มีแค่คำว่า “บุญตักบาตรข้าวหลาม” เท่านั้น ไม่เคยมีงานบุญตักบาตรข้าวจี่ อย่างที่ อบต. ไปเพิ่มเป็น “บุญตักบาตรข้าวหลามจี่”