สังฆทาน...คนได้บุญ-พระได้ใช้
สังฆทาน...คนได้บุญ-พระได้ใช้ : คำวัด - พระธรรมกิตติวงศ์
การถวายสังฆทาน เป็นการทำบุญที่คนไทยเชื่อกันว่า เป็นการทำทานที่ได้บุญมาก เพราะสังฆทาน เป็นการถวายทานที่ไม่ระบุเฉพาะว่าเป็นพระสงฆ์รูปใด ผู้ที่ประสงค์จะทำทานจะเตรียมสิ่งของที่จะถวายทาน เมื่อพร้อมแล้วนำไปยังวัด บอกท่านเจ้าอาวาสว่า ต้องการถวายสังฆทาน ท่านจะนิมนต์พระสงฆ์รูปใดมารับสังฆทานก็ได้ หรือจะเตรียมของแล้วนำของไปยังวัด ไปพบพระสงฆ์รูปใดก็แจ้งความจำนงขอถวายสังฆทาน ท่านก็จะทำพิธีรับสังฆทาน หากกำหนดว่าจะถวายแก่พระรูปใดรูปหนึ่ง การทานนั้นก็ไม่เป็น สังฆทาน
อย่างไรก็ตาม มีการสำรวจรายการของในถังสังฆทานสำเร็จรูป (ถังเหลือง) ที่เห็นวางขายกันอยู่ทั่วไป พบว่า กว่า ๕๐% เป็นของที่ไม่มีคุณภาพ ใช้งานจริงไม่ได้ เช่น ผ้าจีวรสั้นและบางจนแทบจะเป็นผ้าซีทรู ใบชาเหม็นผงซักฟอกที่วางมาข้างๆ กระดาษชำระหยาบและมีกลิ่นเหม็น เครื่องชงดื่มมักหมดอายุ ถ่านไฟฉายหมดอายุ แบตเยิ้ม ฯลฯ
สังฆทานที่ดี ไม่จำเป็นต้องมีของมากมาย ขอเพียงเป็นของจำเป็น และมีคุณภาพก็พอการเลือกซื้อของ มาประกอบเป็นสังฆทานเอง จะได้ของดีมีคุณภาพกว่าการไปซื้อ "ถังเหลือง" ตามร้านสังฆภัณฑ์ การจัดสังฆทานให้ได้ประโยชน์ ควรเป็นข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับพระสงฆ์จริงๆ สำหรับของที่ควรลดละเลิกในชุดสังฆทาน ได้แก่ บุหรี่ ยาเสพติด เครื่องดื่มชูกำลังทุกประเภท
บางคนอาจคิดว่า บางแห่งวัดก็ใช้เป็นสังฆทานเวียนแล้วนำเงินที่ได้จากการขายไปซื้อของเครื่องใช้ที่จำเป็น นั่นก็ไม่ได้ผิดอะไร ไม่มีปัญหามันก็เป็นวิธีการ เป็นสัญลักษณ์ การทำทานที่เป็นประโยชน์แก่คนหมู่มาก ไม่ได้หมายถึงถังสังฆทาน มันไม่จำเป็นต้องเป็นถังสังฆทาน แต่การที่เราซื้ออะไรที่จะเป็นประโยชน์ใช้ได้จริงไปถวายวัดเช่น อาจซื้อน้ำยาล้างจานแบบขวดใหญ่ๆ ไปถวาย ถุงดำถุงขยะ ผงซักฟอกกล่องใหญ่ หรือซื้อข้าวสักถุง ไม้กวาดสักด้าม ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นประโยชน์แก่คนหมู่มาก ล้วนเป็นสังฆทานทั้งสิ้น อาจใช้วิธีถามที่วัดว่า ขาดเหลืออะไรยังไง เราก็จะได้ถวายสิ่งที่จะเกิดประโยชน์และถูกนำไปใช้จริง เท่านี้ก็ได้บุญแล้ว
ทั้งนี้ พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต) เจ้าอาวาสวัดราชโอสาราม ได้อธิบายความหมายของคำว่า “สังฆทาน” เจ้าคุณทองดีได้ยกคำพูดที่ว่า “วันนี้ฉันไปถวายสังฆทานที่วัดมา ขอแบ่งบุญให้เธอด้วย”
สังฆทาน ที่ยกมาพูดนั้น หมายถึง ทานที่ตั้งใจถวายแก่พระสงฆ์ หรือผู้แทนของสงฆ์ ไม่เฉพาะเจาะจงรูปใดรูปหนึ่ง หากถวายโดยเจาะจง เรียกว่า บุคลิกทาน
สังฆทาน ที่ว่ามีอานิสงส์มากกว่าบุคลิกทาน เพราะผู้ถวายมีจิตใจกว้างขวาง ไม่คับแคบ ไม่เจาะจงว่าเป็นภิกษุรูปใด เป็นการแสดงถึงความตั้งใจจะถวายด้วยศรัทธาอันเป็นสาธารณะ
การทำบุญในเลี้ยงพระในงานต่างๆ การไปทำบุญตักบาตรที่วัด การใส่บาตรพระที่เดินบิณฑบาตหากไม่เจาะจงพระ นับว่าเป็นสังฆทานทั้งสิ้น