
บังสุกุลเป็น
บังสุกุลเป็น : คำวัด โดย พระธรรมกิตติวงศ์
การทำบุญต่ออายุ จะนิยมจัดงานใหญ่กว่าการทำบุญวันเกิด ส่วนใหญ่จะกระทำในวัยเบญจเพส คือ ๒๕ ปี เพราะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต หรือช่วงอายุกลางคน คือ ๕๐ ปี เพราะถือว่าอายุยืนยาวมาได้ครึ่งหนึ่งของชีวิตแล้ว จึงควรทำบุญและเลี้ยงฉลองความยินดี รวมทั้งทำพิธี "บังสุกุลเป็น"
คำว่า "บังสุกุล" นั้น มาจากคำภาษาบาลีว่า ปํสุ (อ่านว่า ปัง-สุ) แปลว่า ฝุ่น และคำว่า กุล (อ่านว่า กุ-ละ) แปลว่า เปื้อน, คลุก สมาสคำทั้งสองเข้าด้วยบทวิเคราะห์เป็น ปํสุกุล (อ่านว่า ปัง-สุ-กุ-ละ) แปลว่า ผ้าที่เปื้อนฝุ่น
เมื่อมาเป็นคำไทย เปลี่ยน "ปอ ปลา" เป็น "บอ ใบไม้" และปรับเสียงเป็นรูปแบบภาษาไทยที่มีตัวสะกด เป็น บังสุกุล อ่านว่า บัง-สุ-กุน
ดังนั้นคำว่า "บังสุกุล" จึงต้องเขียนว่า "บังสุกุล" เท่านั้น ไม่สามารถเขียนเป็นอย่างอื่นได้ หากเขียนเป็นบังสกุล ถือเป็นคำที่เขียนผิด อันเกิดจากการเทียบเคียงผิดกับคำว่า สกุล ที่หมายถึง ตระกูลวงศ์
บังสุกุล แปลว่า ฝั่งแห่งฝุ่น, กองฝุ่น, คลุกฝุ่น, เปื้อนฝุ่น เป็นคำใช้เรียกผ้าที่ภิกษุชักจากศพ หรือผ้าที่ทอดไว้หน้าศพ หรือผ้าที่ทอดไว้บนด้ายสายสิญจน์ หรือผ้าภูษาโยงที่ต่อมาจากศพด้วยการพิจารณากรรมฐานว่า ผ้าบังสุกุล โดยเรียกกริยาที่พระชักผ้าหรือพิจารณาผ้าเช่นนั้นว่า ชักผ้าบังสุกุล หรือพิจารณาผ้าบังสุกุล
พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต และเจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม อธิบายให้ฟังว่า บังสุกุลเป็น เป็นคำเรียกวิธีบังสุกุลคนที่ยังไม่ตาย ถ้าบังสกุลคนที่ตายแล้วอย่างที่ทำกันโดยทั่วไป เรียกว่า บังสุกุลตาย
บังสุกุลเป็น เป็นการบังสุกุลพิเศษในกรณีที่ทำแก่คนเป็น เช่น คนป่วยหนัก คนที่มีเคราะห์ เป็นการเอาเค็ด โดยมีวิธีทำ คือ ใฝห้คนทำพิธีนอนหงาย ประนมมือเหมือนคนตาย แล้วใช้ผ้าขาวคลุมร่างผู้นั้นให้มิดทั้งตัว พระสงฆ์ที่มาทำพิธีจับชายผ้าหรือด้ายสายสิญจน์ที่ผูกมาจากชายผ้าแล้ว กล่าวคำสำหรับบังสุกุลคนตายขึ้นขึ้นต้นว่า "อะนิจจา วะตะ สังขารา..."
จบแล้วให้ผู้นั้นนอนหันศีรษะไปทางทิศตรงกันข้ามกับครั้งแรก จากนั้นคลุมด้วยผ้าขาวเหมือนเดิม พระสงฆ์บังสุกุลอีกครั้ง โดยกล่าวคาถาพิจารณาสังขารว่า "อะจิรัง วะตะยัง กาโย ปะฐะวิง อะธิเสสสะติ ฉุฑโฑ อะเปตะวิญญาโณ นิรัตถัง วะ กะริงคะรัง" เป็นการถือเคล็ดว่า "กลับฟื้นขึ้นมาใหม่แล้ว"
บังสุกุลเป็นที่นิยมทำกันทั่วไปด้วยเชื่อกันว่าเป็นการต่ออายุ โดยเฉพาะคนที่ป่วยหนัก หรือกระทำกันในวันเกิดแม้ไม่เจ็บป่วยก็ตาม