พระเครื่อง

หลวงพ่อโต'ยืนทรงบาตรใหญ่สุดในโลก'

หลวงพ่อโต'ยืนทรงบาตรใหญ่สุดในโลก'

24 ก.พ. 2555

วัดอินทรวิหารหลวงพ่อโต "ยืนทรงบาตรที่ใหญ่ที่สุดในโลก" : ท่องไปในแดนธรรม 0 เรื่อง / ภาพ ไตรเทพ ไกรงู 0

          วัดอินทรวิหาร เป็นวัดโบราณสร้างขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย พ.ศ.๒๒๙๕ เดิมชื่อ "วัดไร่พริก" เป็นชื่อที่ตั้งตามบริเวณสวนผักของชาวจีน นอกจากนี้แล้วยังมีชื่อเรียกอีกหลาย ชื่อ กล่าวคือ ชื่อวัดอินทาราม เปลี่ยนตามนามผู้ปฏิสังขรณ์วัด คือ เจ้าอินทวงศ์ กษัตริย์ของลาว ส่วนชื่อวัดอินทร์หลวงพ่อโต เพราะท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ได้มาสร้างพระยืนใหญ่ คือ หลวงพ่อโต และชื่อวัดอินทร์บางขุนพรหม เพราะอยู่ในแขวงบางขุนพรหม (ขุนพรหมเป็นชื่อของหมู่บ้านที่ "ขุนพรหม" อยู่)
 
             สำหรับชื่อที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้คณะสงฆ์เปลี่ยนนามวัดที่มีชื่อพ้องกัน ซึ่งวัดอินทารามไปพ้องกับวัดอินทาราม (วัดใต้) ที่บางยี่เรือ ตลาดพลู สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น) แห่งวัดบวรนิเวศวิหารเป็นผู้เปลี่ยนนาม เป็น "วัดอินทรวิหาร" เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๐ 
 
             พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของวัดนี้ คือ หลวงพ่อโต หรือพระศรีอริยเมตไตรย์ ลักษณะหลวงพ่อโต เป็นพระพุทธรูปปางยืนทรงบาตร หันพระพักตร์ไปด้านทิศบูรพา (ทิศตะวันออก) มีความสูงตั้งแต่พื้นถึงยอดเกตุ ๑๖ วา กว้าง ๕ วา ๒ ศอก นับเป็นพระพุทธรูปปางประทับยืนทรงบาตรที่ใหญ่ที่สุดในโลก สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๑๐ ในรัชกาลที่ ๔ โดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) แห่งวัดระฆังโฆสิตาราม ขณะมีอายุได้ ๘๐ ปี ได้มาดำเนินการก่อสร้างองค์หลวงพ่อโต ขึ้น ณ วัดอินทรวิหาร แต่สร้างได้ถึงพระนาภี (สะดือ) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ก็มามรณภาพลงด้วยโรคลมปัจจุบัน
 
             พ.ศ.๒๔๖๗ พระอินทรสมาจารย์ (เงิน อินฺทสโร) เมื่อครั้งยังเป็นพระครูสังฆรักษ์ ก่อสร้างพระศรีอริยเมตไตรย์ “หลวงพ่อโต” สืบต่อจากที่คั่งค้างอยู่ และมีงานสมโภชเมื่อวันที่ ๔-๖ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๑ ทางวัดได้จัดให้มีงานนมัสการและปิดทองพระโต ในเดือนมีนาคม และกำหนดเป็นเทศกาลประจำปีสืบมา
 
             พ.ศ.๒๕๒๑ ภายหลังอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุสถิต ณ ยอดพระเกศองค์ “หลวงพ่อโต” การจัดงานประจำปีจึงเปลี่ยนไปเป็น งานนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ และปิดทองหลวงพ่อโต ปัจจุบันงานนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ และปิดทององค์หลวงพ่อโตงานประจำปี จัดเปลี่ยนใหม่เป็นเริ่มงานวันศุกร์ต้นเดือนมีนาคมของทุกปี รวม ๑๐ วัน ๑๐ คืน
 
             พระราชรัตนาภรณ์ (ทองสืบ สจฺจสาโร พวงเงิน) เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน บอกว่า หลวงพ่อโตศักดิ์สิทธิ์มาก สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีการทิ้งระเบิดสะพานพระรามหก ระเบิดตกบริเวณองค์หลวงพ่อโตจำนวนหนึ่ง แต่ไม่ระเบิดสักลูกเดียว มีผู้ศรัทธามากราบไหว้เคารพบูชาตลอดทุกวัน ขอความสวัสดีได้สำเร็จทุกรายไป โดยเฉพาะหากบนด้วยหัวปลาทูและไข่ต้มพวงมาลัย
 
             ในขณะที่บ่อน้ำพระพุทธมนต์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) บ่อเดิมเป็นบ่อขุดธรรมดา ที่ท่านเจ้าประคุณได้ให้ช่างที่มาสร้างองค์หลวงพ่อโตขุดให้ เมื่อมาวัดอินทรวิหาร มาควบคุมการก่อสร้างองค์หลวงพ่อโต มีญาติโยมมาขอน้ำพระพุทธมนต์ ท่านก็ให้ไปตักเอาในบ่อที่ท่านทำไว้ ปรากฏว่านำไปใช้แล้วเกิดความศักดิ์สิทธิ์ จึงเป็นที่นิยมกันมาตั้งแต่สมัยที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จ ฯ ยังมีชีวิตอยู่
 
             อย่างไรก็ตาม จอมพลผิน ชุณหะวัณ ได้มาซ่อมบูรณะขึ้นใหม่ เมื่อ พ.ศ.๒๕๙๔ ทำเป็นหลังคาคลุม มีเสาอยู่ตรงกลางเหมือนเดิม ไม่สามารถรักษาความสะอาดได้ จึงได้เลิกใช้ และเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๐ จึงได้ปรับปรุงสร้างใหม่ ตรงกลางบ่อได้อัญเชิญแผ่นยันต์พระคาถา ๑๒๑ พระคาถาที่ขุดพบใต้บ่อมาประดิษฐานไว้ แผ่นยันต์นี้เป็นลายมือของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ที่ท่านเขียนขึ้นเอง
 
             นอกจากนี้วัดได้ด้นำอัฐิของบรรพชนมาบรรจุไว้ในโถเบญจรงค์ทอง มีลวดลายต่างๆ ถึง ๒๔๔ ลาย จำนวน ๗๓๒ ใบ เป็นการอนุรักษ์และโชว์เบญจรงค์ทองได้มากอีกแห่งหนึ่งของเมืองไทย วันหนึ่งๆ มีคนไทยและชาวต่างประเทศมาชมกันเป็นจำนวนมาก
    
             มณฑปรอยพระพุทธบาทจำลอง อยู่ด้านหลังองค์หลวงพ่อโต มีบันไดขึ้นทางด้านวิหารพระประจำวัน มีรอยพระพุทธบาทจำลองสร้างด้วยหินอ่อน สวยงามมาก เป็นของเก่าอยู่คู่มากับวัด หนังสือรอยพระพุทธบาทโลก ได้มาบันทึกเป็นหลักฐานสำคัญของประเทศ เปิดให้นมัสการเฉพาะมีงานประจำปี และมีพิธีสวดนพเคราะห์ด้วย
  
             สรงน้ำพระ-เทวดา-นักษัตร ประจำราศีปีเกิด สร้างด้วยหินอ่อนโดยช่างเล็ก ที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ญาติโยมที่มีโอกาสได้ไปสักการะควรจักสรงน้ำ เพื่อชำระกิเลสล้างสิ่งอันเป็นอัปมงคลให้พ้นไปจากวิถีชีวิตของเรา เปิดทุกวัน มีเทปและหนังสือไว้เพื่อการศึกษาด้วย


ศูนย์ปฏิบัติธรรมกลางกรุง 
 
             "วัดอินทรวิหาร" เป็นศูนย์วิปัสสนากรรมฐาน อาคารปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติ มีอาคารปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งเป็นอาคาร ๕ ชั้น จัดอบรมปฏิบัติธรรมใจกลางกรุงเทพฯ สำหรับบุคคลทั่วไป นักเรียน นิสิต นักศึกษา หน่วยงานองค์กรณ์ต่างๆ และจัดเป็นพิเศษสำหรับเด็กอายุ ๔-๑๘ ปี โดยมีหลักสูตรดังนนี้
 
             ๑.การพัฒนาจิตให้เกิดปัญญาและสันติสุข (๗ วัน) บุคคลทั่วไป ๒.การพัฒนาจิตให้เกิดปัญญาและสันติสุข (๗ วัน) อายุ ๔-๑๘ ปี ๓.พัฒนาจิตเจริญปัญญา เสริมสมรรถภาพครู พัฒนา เทคนิคการเรียนการสอน วิชาพระพุทธศาสนา (๑๐วัน) ครู-อาจารย์ ๔.ค่ายความรู้คู่คุณธรรม ฝึกสติภาวนา อำไพเทคนิค (๕ วัน) อายุ ๗-๑๒ ปี ๕.พื้นฐานการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน (ศุกร์-เสาร์-อาทิตย์) บุคคลทั่วไป ๖.ค่ายธรรมะสำหรับครอบครัว (๑๐วัน) พ่อ-แม่-ลูก ๗.ค่ายธรรมะ ฝึกสติพัฒนาจิต สร้างสำนึกกตัญญู ห่างไกลสิ่งเสพติด (๑ วัน) นักเรียน และ ๘.วิปัสสนาในชีวิตประจำวัน ฝึกสติ ดูจิต (๗ วัน) บุคคลทั่วไป
 
             อย่างไรก็ตาม ด้วยจำนวนผู้ที่มาปฏิบัติธรรมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทางวัดได้จัดสร้างกุฏิสงฆ์ทรงไทย ๕ ชั้น การก่อสร้างคืบหน้าตามลำดับ และเพื่อให้โครงการแล้วเสร็จสมบูรณ์ ทางวัดได้จัดทำนาฬิกา รุ่นฉลองสิริราชสมบัติจำนวน ๑๐๐ เรือน เป็นสมทบทุนโครงการดังกล่าว สำหรับผู้บริจาค สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเลขานุการวัดอินทรวิหาร โทร.๐-๒๒๘๑-๗๘๑๐ และ ๐-๒๒๘๒-๐๔๖๑ ส่วนผู้สนใจปฏิบัติธรรมขอรับใบสมัครที่ศูนย์วิปัสสนา หรือทาง www.watindaraviharn หรือ โทร.๐-๒๖๖๒๘-๕๕๕๐-๔