พระเครื่อง

ยันต์-คาถา-อาคม : คำวัด

ยันต์-คาถา-อาคม : คำวัด

02 มี.ค. 2555

ยันต์-คาถา-อาคม : คำวัด - พระธรรมกิตติวงศ์

             การสักที่เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อ วัตถุประสงค์ของการสัก ผู้ชายบางคนจะสักยันต์ด้วยเหตุผลทางเวทมนต์คาถา เพื่อความแข็งแกร่งของจิตใจและต้องการอยู่ยงคงกระพัน ซึ่งเป็นความเชื่ออย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นประเพณีนิยมในชนบางกลุ่ม การสักลักษณะนี้จะสักให้เฉพาะชายฉกรรจ์เท่านั้น
 
             ในการสักนั้นอาจารย์สักแต่ละคนจะมีรูปแบบของลวดลายเป็นของตนเองส่วนมากจะเป็นสัตว์ในเทพนิยาย และเป็นอักขระขอมและเลขยันต์ ซึ่งเขียนเป็นตัวย่อของพระคาถาแต่ละบท เพราะหากเขียนพระคาถาลงไปในยันต์ทั้งหมดเนื้อที่คงไม่พอ จึงใช้อักขระย่อ ส่วนตัวเลขที่อยู่ในยันต์ก็ย่อมาจากอักขระของพระคาถา
 
             ความเชื่อของปรมาจารย์ เส้นที่ขีดลากไปมานอกยันต์นั้น หมายถึง "สายรกของพระพุทธเจ้า" ส่วนเส้นที่อยู่ภายในยันต์ เรียกว่า "กระดูกยันต์" ยันต์มีหลายแบบต่างๆ กันไป เช่น ยันต์แบบกลม ยันต์สามเหลี่ยม ยันต์สี่เหลี่ยม ยันต์รูปภาพ ส่วนความหมายของยันต์แต่ละแบบมีดังนี้
 
             ยันต์กลม มีความหมายว่าเป็นพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า ทางศาสนาพราหมณ์ หมายถึงพระพักตร์ของพระพรหม
 
             ยันต์สามเหลี่ยม มีความหมายว่าเป็นพระรัตนตรัย หรือภพทั้งสาม ส่วนทางศาสนาพราหมณ์ให้ความหมายว่าเป็นพระเป็นเจ้าทั้ง ๓ ของพราหมณ์ คือ พระอิศวร พระพรหม พระนารายณ์
  
             ยันต์สี่เหลี่ยม มีความหมายว่าเป็นทวีปทั้งสี่ หรือธาตุทั้งสี่ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ
 
             ยันต์รูปภาพ มีทั้งรูปภาพ เทวดา มนุษย์ และสัตว์ต่างๆ ส่วนความหมายก็อยู่ในตัวของรูปภาพนั้นๆ 
 
             พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ.๙  ราชบัณฑิต และเจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม ให้ความหมายของคำให้ฟังว่า คาถา แปลว่า ถ้อยคำที่ร้อยกรอง ถ้อยคำที่ผูกไว้ ถ้อยคำที่ขับร้อง ท่อง สวด
 
             คาถา ในภาษาไทยหมายถึง คำเสกเป่าที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ คาถาอาคม ก็เรียก
 
             คาถา ในคำวัดหมายถึง คำประพันธ์ภาษาบาลีประเภทฉันทลักษณ์ที่แต่งครบ ๔ บาท หรือ ๔ วรรค ๑ คาถามี ๔ บาท แต่ละบาทมีจำนวนคำต่างกันไปตามชื่อฉันท์ เช่น อินทรวิเชียรฉันท์ แต่ละบาทมี ๑๑ คำ ๔ บาทก็มี ๔๔ คำ ๑ คาถาของอินทรวิเชียรจึงมี ๔๔ คำ ในเวสสันดรชาดกมี ๑,๐๐๐ คาถา จึงเรียกว่า คาถาพัน
 
             ส่วนคำว่า อาคม แปลว่า การมา การเข้าใกล้ ปริยัติ เป็นที่มา นิกายเป็นที่มา ตำรา คัมภีร์ พระบาลี ที่อ้างอิงเวทมนต์ ฯลฯ
 
             อาคม ในวงวัดนิยมใช้ในความหมายว่า ปริยัติ เป็นที่มาซึ่งหมายถึง พระบาลี พระปาติโมกข์ การศึกษาพระธรรมวินัย นิกายอันเป็นที่มาแห่งมรรคและผล การลงอักษรเพิ่มในคำศัพท์ที่เรียกว่าลงอาคม
 
             อาคม ในคำไทยนิยมใช้ในความหมายว่า การมา การเข้าใกล้ เช่นใช้ว่า มีนาคม (การมาถึงของราศีมีน) สิงหาคม (การมาถึงของราศีสิงห์) และใช้ในความหมายว่า เวทมนต์ ความคงกระพัน เช่นใช้ว่า
 
             “คาถาอาคมเป็นเรื่องเร้นลับ เป็นไสยศาสตร์ ถ้าไปเรียนเข้าอาจจะทำให้ร้อนวิชา”
 
             “เขาไปลงอาคมบนกระหม่อมมา จึงทำให้จิตใจฮึกเหิม ไม่กลัวตาย”