
เจ้าคุณ-เจ้าคณะ
เจ้าคุณ-เจ้าคณะ : คำวัด-พระธรรมกิตติวงศ์
การพิจารณาแต่งตั้งและเลื่อนสมณศักดิ์แก่พระสงฆ์ในอดีตเป็นพระราชอำนาจและเป็นพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ เมื่อทรงเห็นหรือทรงทราบด้วยพระเนตรพระกรรณว่า พระภิกษุรูปใดมีความรู้ความเชี่ยวชาญในพระไตรปิฎก มีศิลาจารวัตรน่าเลื่อมใส มีความสามารถในการปกครองหมู่คณะให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทั้งยังเป็นศูนย์รวมแห่งศรัทธาของประชาชนแล้วก็จะพระราชทานสมณศักดิ์เพื่อเป็นเกียรติและกำลังใจ ในการจะได้ช่วยกันจรรโลงพระพุทธศาสนาสืบไป
ปัจจุบัน เป็นหน้าที่ทางคณะสงฆ์จะช่วยกันพิจารณาให้ความเห็นชอบตามลำดับขั้น คือ จากเจ้าอาวาส เจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะภาค และเจ้าคณะใหญ่ เมื่อได้รับความเห็นชอบจากเจ้าคณะผู้ปกครองตามลำดับแล้ว สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จึงได้เสนอเรื่องเพื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานสมณศักดิ์ ตามระเบียบของทางราชการต่อไป
เช่น เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๑๘.๐๙ น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก อ่านพระบัญชาแต่งตั้ง พระสุธีพรหมคุณ หรือ เจ้าคุณตึ๋ง รองเจ้าคณะจังหวัดนครนายก และเจ้าอาวาสวัดพราหมณี เป็นเจ้าคณะจังหวัดนครนายก เป็นต้น
แต่ในการพระราชทานสมณศักดิ์ชั้นสูง เช่น สมเด็จพระสังฆราชหรือสมเด็จพระราชาคณะ ทางคณะสงฆ์ชอบที่จะถวายพระเกียรติแด่พระมหากษัตริย์ด้วยการเสนอนามพระเถระที่เห็นสมควรขึ้นไปหลายรูปเพื่อให้ทรงพิจารณาตามพระราชอัธยาศัย เป็นธรรมเนียมปฏิบัติเสมอมา เพราะพระราชอำนาจส่วนนี้เป็นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพียงพระองค์เดียว
คำว่า "เจ้าคุณ" พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙) ราชบัณฑิต และเจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม ได้ให้ความหมายไว้ว่า ในคำวัดหมายถึง ภิกษุผู้มีสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะตั้งแต่ ชั้นสามัญขึ้นไปจนถึงชั้นหิรัญบัฏ (ชั้นรองสมเด็จ)
เจ้าคุณ ใช้ในภาษาพูดมกกว่าภาษาเขียน หากเรียกตามความเคารพนิยมใช้ว่า ท่านเจ้าคุณ และต่อด้วยราชทินนาม เช่น “ท่านเจ้าคุณพระธรรมุเทศาจารย์มรณภาพไปนานแล้ว”
สำหรับพระสมณศักดิ์ชั้นสมเด็จพระราชาคณะนิยมใช้ว่า “เจ้าประคุณ” และสมเด็จพระสังฆราชนิยมใช้ว่า “เจ้าพระคุณ”
ส่วนพระสมณศักดิ์ชั้นชั้นพระครูสัญญาบัตรนิยมใช้ว่า พระครู หรือท่านพระครู
ในขณะที่คำว่า “เจ้าคณะ” เจ้าคุณทองดีได้ให้ความหมายไว้ว่า เป็นชื่อตำแหน่งการปกครองของคณะสงฆ์ เป็นคำเรียกภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งนั้นๆ โดยในปัจจุบันเจ้าคณะจังหวัดมี ๕ ระดับ คือ
ระดับตำบล เรียกว่า เจ้าคณะตำบล
ระดับอำเภอ เรียกว่า เจ้าคณะอำเภอ
ระดับจังหวัด เรียกว่า เจ้าคณะจังหวัด
ระดับภาค เรียกว่า เจ้าคณะภาค
ระดับหน เรียกว่า เจ้าคณะหน
ภิกษุผู้ทำหน้าที่ปกครองสงฆ์ หรือภิกษุสามเณรในวัดไม่จัดเป็นเจ้าคณะและไม่เรียกว่าเจ้าคณะ เหตุที่ไม่เรียกว่าเจ้าคณะเพราะไม่ได้ปกครองคณะสงฆ์เหมือนเจ้าคณะข้างต้น แต่เรียกว่า เจ้าอาวาส
ภิกษุผู้ดำรงดำแหน่งทั้งเจ้าคณะและเจ้าอาวาสทั้งหมดนี้จัดเป็นพระสังฆาธิการ คือ ผู้เป็นใหญ่ในสงฆ์ หรือ ผู้บริหารการคณะสงฆ์